นายกฯ ได้ทีขี่แพะไล่ กดดัน ธปท.ลดดอกเบี้ยอีกแล้ว

20 ก.พ. 2567 - 07:35

  • เป็นไปตามยุทธศาสตร์กดดันแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ย กระตุ้นเศรษฐกิจ

  • ส่ง ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ เข้าไปเป็นประธานคนใหม่ของสภาพัฒน์ฯ

  • สิ่งที่ตามมาทันที คือ การประเมินเศรษฐกิจโดยรวมติดลบ เข้าสู่วิกฤตสมใจอยาก

economy-money-interest-npl-gdp-SPACEBAR-Hero.jpg

ในที่สุด ‘ข่าวร้ายที่กลับกลายเป็นข่าวดี’ สำหรับรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ถุงเท้าหลากสี เมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ แถลงตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ที่ตัวเลขอัตราการขยายตัว 1.7% เร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัว1.4% แต่เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ปรากฎว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 กลับออกมาติดลบ 0.6%

เมื่อรวมทั้งปีเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตเพียง 1.9% ชะลอตัวลงจากปี  2565ที่ยังโตราว 2.5% ในขณะที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 2.7% ในปี 2567 ปรับลดจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.2%  

พลันที่ตัวเลขดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมา ก็ถูกนายกฯ เศรษฐานำไปขยายความเพื่อกดดันคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในทันที

นายกฯ เศรษฐา ถึงขั้นทวิตข้อความใน X กดดันให้ **กนง.**เรียกประชุมนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทันที โดยระบุว่า 

‘ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติวันนี้ บ่งบอกถึงสถานะของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะ Critical Stage’

น่าสังเกตว่า คราวนี้นายกฯ เศรษฐาไม่ได้ใช้คำว่า ‘Crisis’ แต่ใช้คำว่า ‘Critical Stage’ ที่ในทางการแพทย์ มันมีระดับถึงขั้น ‘ตรีทูต’ คือขั้นร้ายแรงถึงตายเลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องตลกร้ายสุด ๆ และสร้างความประหลาดใจให้กับต่างชาติอย่างมาก เพราะคงไม่ใช่เรื่องปกติที่คนเป็นถึงระดับนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่รับผิดชอบโดยตรงในด้านเศรษฐกิจ กลับออกมายอมรับว่ากำลังบริหารประเทศจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติขั้นร้ายแรง  

นายกฯ ยังสำทับด้วยว่า แม้แต่เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ เองก็เห็นด้วยกับการที่ต้องมีการลดดอกเบี้ย จึงอยากขอวิงวอนให้ กนง. รีบเรียกประชุมคณะกรรมการเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาการลดดอกเบี้ยโดยไม่ต้องคอยประชุมตาม Scheduled ที่วางไว้

กดดันกันหนักขนาดนี้ โดยก่อนหน้าจะทวิต นายกฯ เศรษฐาให้สัมภาษณ์นักข่าวโดยตอกย้ำว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยโตต่ำกว่า 2% มาตลอด และต้องไม่ลืมว่าตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามายังไม่สามารถใช้งบประมาณได้เลย เร็วสุดที่น่าจะใช้ได้ก็คือราว เมษายน ทำให้ทุกวันนี้ไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้าไปในระบบ 

นายกฯ เศรษฐา ยอมรับว่ารัฐบาล ‘สิ้นหนทาง’ และได้ดำเนินการทุกมาตรการที่มีอยู่ และใช้เครื่องมือด้านนโยบายการคลังไปจนหมดแล้ว จึงอยากให้ใช้นโยบายไม่ต้องใช้งบประมาณ คือนโยบายด้านการเงิน ซึ่งหากแบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียงสลึงเดียวจาก 2.5% เหลือ 2.25% ก็จะช่วยประชาชนได้ แถมยังบอกอีกว่าเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้คุยกับผู้ว่าฯแบงก์ชาติแล้ว ว่าถึงเวลาจะต้องลด เพื่อรองบประมาณที่จะคลอดออกมา 

“ผมไม่ได้จมปลักอยู่กับการลดดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่การลดดอกเบี้ยก็เป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งเห็นอยู่แล้ว ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็พยายามจะเร่งให้ออกมาเร็วที่สุด’

ส่วน เลขาธิการสภาพัฒน์ “**ดนุชา พิชยนันท์’ ** ก็ดูจะเริ่มมีน้ำเสียงเปลี่ยนไปในทิศทางสอดคล้องกับนายกฯ เศรษฐา โดยยอมรับว่าสิ่งที่ควรพิจารณาในช่วงถัดไปอย่างจริงจัง คือ มาตรการด้านการเงิน ที่น่าจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ โดยเฉพาะการลดภาระหนี้ครัวเรือน และ SME อย่างมาตรการอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ ต้องพิจารณาจริงจัง 

มาถึงนาทีนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการที่จะบอกว่า นายกฯ เศรษฐาได้ ‘ยัด’ ระเบิดเวลาใส่มือของ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ‘**ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ** เรียบร้อยแล้ว ขึ้นอยู่ว่าจะมีปฎิกิริยาตอบรับแรงกดดันที่ถาโถมเข้ามาคราวนี้อย่างไร?

ตามปกติคณะกรรมการนโยบายการเงินของแบงก์ชาติจะมีกำหนดประชุมปีละ 6 ครั้ง โดยเพิ่งมีการประชุมไปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีมติ 5:2 ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ระดับ 2.5% ต่อไป และมีกำหนดจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งอาจจะสายเกินไปในมุมมองของรัฐบาล

แต่การที่จะมีการเรียกประชุม คณะกรรมการ กนง.นัดพิเศษ ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก ล่าสุดที่คือตอนเกิดวิกฤตโควิดระบาดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างร้ายแรง  

ที่สำคัญคือ หากมีการเรียกประชุม กนง.นัดพิเศษขึ้นมา และยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาตามแรงกดดันของรัฐบาล จะเกิดคำถามตามมาทันทีในเรื่อง ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ที่ยอมตามแรงกดดันจากฝั่งการเมือง 

นาทีนี้จึงเป็นนาที วัดใจ ผู้ว่าแบงก์ชาติครั้งสำคัญว่าจะก้าวย่างอย่างไร

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์