สิ้นสงสัยกันไปยกหนึ่ง เมื่อ ‘ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์’ ประกาศความชัดเจน ขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 หลังเกิดอาการลังเล ชักเข้าชักออกอยู่พักใหญ่และมาตัดสินใจเอาในนาทีเกือบสุดท้าย
แม้ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างที่คอการเมืองอยากเห็น เป็นเพียงการอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ก็ตาม แต่จากประเด็นที่ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ ผู้นำฝ่ายค้านฯ นำมาฉายเป็นหนังตัวอย่างให้ดู ก็น่าจะน้อง ๆ อภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่
‘หลังจากรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินมากว่า 6 เดือน แต่ไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ซ้ำยังเพิกเฉยต่อการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ปล่อยปละละเลยให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้งคนไทยและต่างประเทศ เอารัดเอาเปรียบประชาชน ปล่อยให้ข้าราชการเรียกรับผลประโยชน์ รีดนาทาเล้นประชาชน หลักนิติธรรมถูกทำลายโดยการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม บริหารประเทศอย่างไร้จริยธรรม ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถ ไร้วุฒิภาวะ’
นี่คือประเด็นเบื้องต้น ที่ชัยธวัชบอกว่า มีการนำเสนอในที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก่อนมีมติร่วมกัน
ขณะที่ ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันความพร้อมของ 25 สส.ประชาธิปัตย์ ที่จะร่วมกับพรรคก้าวไกล ตรวจสอบการทำงานในรอบ 6 เดือนของรัฐบาลเช่นกัน โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม ที่มีการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม เลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน ไม่มีความเสมอภาค ต้องตรวจสอบทั้งหมด
‘วันนี้การเมืองต้องทำรูปแบบใหม่ อย่าเล่นการเมืองเพื่อสร้างวาทกรรม แต่ต้องนำข้อเท็จจริงมาพูดให้เห็นภาพ และวิจารณ์ให้สังคมได้รับรู้ว่ากว่า 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลนี้ได้ทำอะไรไว้บ้าง’
ชัยชนะย้ำจุดยืนฝ่ายตรวจสอบ
ด้าน ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ หนึ่งในขุนพลของพรรคประชาธิปัตย์ ออกตัวแรงตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายรัฐบาลแบบไหน
‘อยู่ที่มติพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าจะอภิปราย มาตรา 151 หรือมาตรา 152 พรรคประชาธิปัตย์ก็มีหน้าที่ปฏิบัติตาม ผมก็ยินดีปฏิบัติ แต่ไม่ทิ้งที่จะตรวจสอบรัฐบาล ไม่่ต้องห่วง และมีข้อมูลพอ’
สองพรรคฝ่ายค้าน ‘ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์’ แม้จะคนละเคมีกัน เมื่อมาสมาทานเป็นฝ่ายตรวจสอบร่วมกัน ต่างจึงประกาศจุดยืนของตัวเอง โดยพรรคหนึ่งอาสาเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ส่วนอีกพรรคขอเป็นฝ่ายค้านเข้มแข็ง
แต่ทั้งสองพรรค ต่างมีมลทินติดตัวมาเหมือน ๆ กัน คือเป็นฝ่ายค้านที่ถูกมองมีจิตปฏิพัทธ์อยู่กับรัฐบาล โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ ที่นาทีนี้ความรู้สึกเรื่องการเป็น ‘พรรคอะไหล่’ ยังไม่ได้เจือจางลง ส่วนพรรคก้าวไกล คำประกาศของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หนึ่งในผู้นำจิตวิญญาณของพรรคสีส้ม ที่พูดไว้หลังไปพบ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ฮ่องกง เมื่อปีที่แล้วว่า
‘พรรคเพื่อไทยคือมิตร และทางออกที่จะทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าต้องมีสองพรรคนี้ ฝากถึงเพื่อนในพรรคก้าวไกลและแกนนำพรรคเพื่อไทยด้วย อนาคตของประเทศไทยอยู่ในมือคุณทั้งสอง’
คำประกาศดังกล่าว มันได้ทำให้การเป็นฝ่ายค้านของทั้งสองพรรค ต้องรอการพิสูจน์ซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้ง ผ่านการอภิปรายในสภา ผ่านการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในแต่ละประเด็น จนมาถึงการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ส่งท้ายสมัยประชุมสภา ที่จะมีขึ้นในต้นเดือนหน้า
หลังรัฐบาลถูกวุฒิสภา ออกแรงนวดในวันที่ 25 มีนาคมนี้แล้ว จากนั้น ก็เตรียมตัวไปรับศึกจากฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรต่อ เมื่อมีคู่เทียบให้เห็นแบบนี้แล้ว คอการเมืองล้างหูรอฟังกันได้เลย รับรองไม่ผิดหวัง เพราะเดิมพันสูงด้วยกันทุกฝ่าย
โดยเฉพาะฝ่ายค้าน คงเป็นอีกครั้งที่จะได้พิสูจน์ความเป็น ‘ของแท้หรือของเทียม’ ยิ่งหากมีใครพรรคไหนเผลอไปกินยา เคลิบเคลิ้มกับสัญญิงสัญญาจะให้เข้าร่วมรัฐบาลด้วย แล้วชกไม่เต็มหมัด ก็จะได้เห็นกันคราวนี้แหละ