‘อุ๊งอิ๊ง’ ถล่มแบงก์ชาติ DNA ของแท้ที่พ่อให้มา

7 พ.ค. 2567 - 09:48

  • ความเห็นต่างของแบงก์ชาติกับนโยบายรัฐถูกมองว่าสวนทางกัน

  • การทำงานของแบงก์ชาติคือการคุมภาพรวมของประเทศ

  • ที่ผ่านมาเมื่อตระกูลชินวัตรขึ้นมาบริหารประเทศ ผู้ว่าแบงก์ชาติถูกกดดันตลอด

2023 SPB DEEP SPACE Single v02-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นความผิดพลาดในทางการเมืองครั้งใหญ่ ที่ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในงาน ‘10  เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม10’ ของพรรคเพื่อไทย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา

อุ๊งอิ๊ง ไม่ได้พูดจากความคิดของตัวเองแน่ๆ เธออ่านตามโพยที่ทีมงานเขียนให้ทุกตัวอักษร เขียนมาอย่างไรก็พูดไปตามนั้น โดยคิดไม่ได้เองว่า ที่อยู่ในโพยนั้น มันใช่หรือไม่ 

อย่างไรก็ตามเธอไม่อาจปฏิเสธคำพูดที่หลุดออกไปวันนั้นได้ ซึ่งสร้างกระแสตีกลับมายังตัวเอง และพรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรง เดือดร้อนถึงบรรดาผู้ใหญ่ไปจนถึงผู้น้อยในพรรค ต้องออกมาแก้ต่างให้เป็นพัลวัน ในขณะที่ อุ๊งอิ๊ง ‘รูดซิปปาก’ คงเกรงว่า ยิ่งพูดมากเท่าไรก็จะยิ่งเข้ารกเข้าพงมากเท่านั้น เหมือนหลายครั้งที่เธอออกมาตอบโต้เสียงวิพากษ์ วิจารณ์ในสื่อโซเชียลด้วยตัวเอง แบบไม่อ่านโพย ที่มีแต่เสียกับเสีย

ธปท. หรือแบงก์ชาติตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายการเมือง ที่เข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งอยู่บ่อยครั้ง เพราะบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ คือรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ดูแลไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงหรือถดถอยมากเกินไป โดยใช้นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือ 

เป็นกรรมการ ที่ไม่ว่าจะตัดสินอย่างไร ก็ต้องไม่ถูกใจทุกคน

ในขณะที่นักการเมืองที่ชอบอ้างเสียงประชาชน คิดชั้นเดียวมองแต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ไม่มองภาพรวมในระยะยาว  เพราะนักการเมืองมาแล้วก็ไปคือ อยากให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อง่ายๆ ปล่อยเยอะๆ คิดดอกเบี้ยถูกๆ ด้วยความพาซื่อว่า การมีเงินในระบบมากๆ เป็นเงินต้นทุนถูก จะทำให้เศรษฐกิจดี 

การทำหน้าที่ของแบงก์ชาติจึงมักจะขัดอก ขัดใจ ขวางหู ขวางจากนักการเมือง ที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบประชานิยม ที่เห็นผลเลยวันนี้ แต่สร้างผลข้างเคียงที่หนักกว่าในระยะยาว

ในอดีตรัฐบาลปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้เลยโดยไม่ต้องมีเหตุผล ถ้าไม่สนองนโยบายหรือกดดันจนผู้ว่าแบงก์ชาติลาออกเอง ผู้ว่าแบงก์ชาติคนสุดท้ายที่ถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปลด คือ ‘หม่อมเต่า ม.ร.ว จตุมงคง โสณกุล’ เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ ในรัฐบาลชวน 2  ต่อเนื่องมาถึง รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี  สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 

หม่อมเต่าโดนปลดเพราะไม่สนองนโยบายทักษิณที่ต้องการให้แบงก์ชาติ สั่งแบงก์พาณิชย์ให้ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอี 

หม่อมเต่านอกจากไม่ทำตาม ยังทำหนังสือถึงธนาคารพาณิชย์ กำชับให้ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ไม่ให้มีปัญหาหนี้เสีย จึงถูกสมคิด เสนอต่อ ครม. ปลดจากตำแหน่ง ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2544 โดยไม่ระบเหตุผลว่า ปลดเพราะอะไร

ยุครัฐบาลพรรคพลังประชาชน ‘อาเขย’ ของอุ๊งอิ๊งคือสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ‘นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี’ เป็นรัฐมนตรีคลัง ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติหญิงคนแรกคือ ‘ธาริษา วัฒนเกษ’ ถูกรัฐบาลกดดันให้ลดดอกเบี้ย เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็ง และยกเลิกนโยบายเงินสำรอง 30 % ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้น แต่แบงก์ชาติไม่ทำตามจนมีข่าวลือว่าจะปลดธาริษา อย่างไรก็ตาม ธาริษาก็อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ ไม่มีใครกล้าปลด 

ในยุคนี้เองที่มีการแก้ไข พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและให้ปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง จากเดิมที่ให้อำนาจ รมว. คลัง ปลดผู้ว่า ธปท. ได้เลย โดยไม่ต้องมีเหตุผล กฎหมายแบงก์ชาติ แก้ไขใหม่ให้อำนาจ รมว. คลัง เสนอต่อ ครม. ปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้ เฉพาะกรณีทุจริตต่อหน้าที่ หรือมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง

นอกจาก รมว. คลังแล้ว บอร์ดแบงก์ชาติ ก็มีอำนาจเสนอ ครม. ให้ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ หากปรากฎว่ามีความบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือ หย่อนความสามารถ 

กฎหมายแบงก์ชาติฉบับแก้ไขใหม่ จึงเป็นเกราะป้องกัน ไม่ให้แบงก์ชาติ ตกอยู่ใต้อำนาจ นักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองของตระกูลชินวัตร

ตระกูลชินวัตรนั้น ไม่รู้เป็นอะไรขึ้นมามีอำนาจเมื่อไร ต้องหาเรื่องกับแบงก์ชาติไปทุกครั้ง 

‘พ่ออุ๊งอิ๊ง’ ปลดผู้ว่าฯ หม่อมเต่าไปแล้ว เมื่อ ‘อาสาว’ ของอุ๊งอิ๊งคือยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี กิติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกดดันให้แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ยแต่ผู้ว่า ธปท.ยุคนั้นคือ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ยืนหยัดในหลักการ การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินไม่ยอมลด

โต้ง กิติรัตน์ ถึงกับลั่นวาจาว่าคิดจะปลดผู้ว่า ธปท. ทุกวันแต่ทำไม่ได้ และแม้ว่า ดร.โกร่ง วีรพงษ์ รามางกูร ประธานบอร์ดแบงก์ชาติตอนนั้นจะเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับรัฐบาล ก็ยังไม่กล้าเสนอปลด ผู้ว่าฯ ประสาร เพราะหาเหตุผลที่จะปลดไม่ได้

มาถึงยุคเศรษฐา รัฐบาลทำงานมา 8 เดือนแล้ว ไม่มีผลงานอะไรเลย พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถเข็นนโยบายเรือธงตอนหาเสียงออกมาได้แม้แต่นโยบายเดียวโดยเฉพาะ นโยบาย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะทั้งเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย และยังมีความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติอีกมาก โดยแบงก์ชาติเป็นหน่วยงานเดียวที่กล้าเสนอความเห็นแย้ง ชี้ให้เห็นความเสี่ยงต่างๆอย่างรอบด้าน ในฐานะผู้กำกับดูแลระบบการเงินของชาติ 

ดีเอ็นเอสายพันธุ์ ชินวัตรที่ อุ๊งอิ๊ง ได้มาจากพ่อจึงออกฤทธิ์ ฟาดงวงฟาดงาใส่แบงก์ชาติว่า เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์