การลงพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ จังหวัดระนอง ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก่อนวันประชุม ครม.สัญจร กลายเป็นเวทีเปิดตัวกลุ่มคัดค้าน ไม่เอาโครงการแลนด์บริดจ์ ของเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ คนไทยพลัดถิ่น จังหวัดระนอง สวนทางกับที่นายกฯ เศรษฐา อ้างว่า คนระนองสนับสนุนโครงการแลนด์ ชุมพร -ระนอง
(คนไทยพลัดถิ่น หรือ ‘คนสองน้ำ’ คือ คนไทยในมะริด ทะวาย และตะนาวศรี ก่อนไทยเสียดินแดนให้อังกฤษในปี 2411 เมื่ออังกฤษได้ดินแดนไปรวมกับพม่าแล้ว ไม่ได้ให้สัญชาติพม่ากับคนกลุ่มนี้ และทางการไทยก็ถือว่า พวกเขาไม่ใช่คนไทยแล้ว สถานะผู้ไร้สัญชาติ สืบต่อมาจนถึงรุ่นลูกหลาน แม้ต่อมารัฐบาลไทยจะมีนโยบายให้สัญชาติไทย แต่ก็ยังมีผู้ไร้สัญชาติตกค้างอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะ ‘ชาวเล’ ที่อาศัยท้องทะเลทำประมงเลี้ยงชีพ)
ที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา พูดข้างเดียวว่า ต่างชาติให้ความสนใจลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการแลนด์บริดจ์ จะทำให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง
ก่อนหน้านี้ เครือข่ายประชาชนในพื้นที่ชุมพร ระนอง เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการนี้มาแล้ว แต่เป็นไปอย่างเงียบ ๆ ในพื้นที่ โดยการยื่นหนังสือผ่านนายอำเภอ ทักท้วงว่า การรับฟังความเห็นประชาชน ยังไม่เสร็จ ทำไมนายกฯ เศรษฐา จึงไปโรดโชว์ขายนักลงทุนต่างชาติแล้ว
เมื่อนายกฯ ไปลงพื้นที่ จึงเป็นโอกาสดี ที่จะใช้วาระนี้เป็นเวทีให้คนไทยและต่างชาติรับรู้ว่า คนไทยเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับ ‘แลนด์บริดจ์’ ที่นายกฯ เศรษฐาเอาไปเร่ขายทั่วโลก
ข้อเรียกร้อง คัดค้านแลนด์บริดจ์ ของคนพะโต๊ะ และระนอง ทำให้เราได้รู้ว่า นายกฯ เศรษฐา ‘ลักไก่’ ไปทำโรดโชว์แลนด์บริดจ์ ทั้ง ๆ ที่ กระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบยังไม่จบ
นายกฯ เศรษฐา ตอบเรื่องนี้แบบขอไปทีว่า การศึกษาก็ต้องทำควบคู่ไปกับการดำเนินการ และ โครงการเมกะโปรเจกต์ ย่อมมีทั้งคนคัดค้านและสนับสนุนเป็นธรรมดา
โครงการแลนด์บริดจ์ ก็เหมือนกับ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต คือ คิดใหญ่ แต่ทำไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงโดยไม่มีการศึกษาว่า ทำได้หรือไม่ได้ จะทำอย่างไร ทำแล้วมีผลกระทบอะไรบ้าง
เมื่อถูกตั้งคำถาม นายกฯ เศรษฐา จึงตอบไม่ได้ และสุดท้ายก็จบลงแบบเดียวกัน คือ ไม่ได้ทำ เพราะทำไม่ได้ อยู่ที่ว่า จะหาทางถอยอย่างไรเท่านั้น