รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ ในวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ กลายเป็นวาระสำคัญเป็นพิเศษที่คนในแวดวงเศรษฐกิจและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาทีมงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยกำลังรอลุ้นตัวเลขที่จะออกมาด้วยใจระทึก เพราะมันคือจะกุญแจสำคัญในการถอดสลักให้โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5แสนล้านบาทของรัฐบาลยังมีความหวังจะเดินไปต่อได้
ที่สำคัญเพราะ ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจที่จะแถลงออกมาจะเปรียบเสมือนการแจ้งผลการตรวจสุขภาพของเศรษฐกิจไทยว่ามีสุขภาพเป็นอย่างไร และมีอาการผิดปกติตรงจุดไหน หนักหนาสาหัสเพียงใด เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคให้ถูกทาง แทนที่จะวินิจฉัยกันไปคนละทิศละทางอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้
ฟังดูมันอาจจะเป็นตลกร้าย แต่ต้องยอมรับความจริงว่ารัฐบาลคงอยากได้ยิน ‘ข่าวร้าย’ ว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา เพราะมันจะกลายเป็นผลเชิงบวกกับรัฐบาลที่พยายามจะตอกย้ำความคิดว่าเศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะวิกฤติ หรือเข้าขั้น ‘โคม่า’ ที่จำเป็นต้องกระตุ้นหัวใจ เพื่อปลุกสัญญาณชีพให้ฟื้น โดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นครั้งใหญ่ หรือทีมงานเศรษฐกิจบางคนก็ถึงขนาดเปรียบเทียบว่า เศรษฐกิจของเรากำลังเป็น ‘มะเร็ง’ ร้าย ที่จำเป็นต้องใช้เคมีบำบัด หรือ ทำ ‘คีโม’ อย่างเร่งด่วน
ในขณะที่ความเห็นของอีกฟากหนึ่ง ถึงแม้จะยอมรับว่าที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยนั้นมีอาการ Long Covid คือ มีการฟื้นตัวค่อนข้างช้า และยังโดนผลกระทบจากอุบัติเหตุระหว่างทาง อย่างกรณีสงคราม รัสเซีย-ยูเครน มาจนถึง อิสราเอล-ฮามาส
รวมทั้งปัญหาการเมืองภายใน ที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในอาการเป็นโรค ‘ซึมเศร้า’ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการทุ่มเม็ดเงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปแจกให้ประชาชนวัยตั้งแต่16 ปีขึ้นไป โดยมองว่ามีวิธีอื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินสูงขนาดนี้ และควรมุ่งเน้นในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีศักยภาพดีขึ้นมากกว่า
ตัวเลขที่สภาพัฒน์ฯ จะแถลงในวันจันทร์นี้ จึงกลายเป็น ‘ผลตรวจโรค’ ชิ้นสำคัญว่าจะมีน้ำหนักมากพอหรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลจะใช้เป็นคำอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นในการที่จะผลักดัน โครงการแจกเงินหมื่นบาทผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลให้ไปต่อได้
กุญแจสำคัญ คือ ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจที่จะแถลงออกมา ต้องบ่งชี้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเดินเข้าสู่ภาวะวิกฤติ จึงมีความจำเป็น เร่งด่วน ในการที่จะผลักดันให้มีการออกเป็น พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถจัดให้อยู่ภายใต้ พรบ.งบประมาณตามปกติได้ทัน
ก่อนหน้าตัวเลขของสภาพัฒน์ ฯจะออกมา BLOOMBERG CONSENSUS คาดการณ์ตัวเลข GDP ไทย ในปีที่แล้ว 2566 ไม่อัตราการเติบโตต่ำมากเพียง 2.1%เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยหากเทียบรายไตรมาส ตั้งแต่ ไตรมาสที่ 1-3 เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโต 2.6% 1.8% และ 1.5% ตามลำดับ และที่สำคัญในไตรมาสสุดท้ายอาจจะก็ดูเหมือนจะมีตัวเลขออกมาไม่สู้ดี ถึงขึ้นติดลบเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะ TECHNICAL RECESSION (ถ้าติดลบ 2 ไตรมาส ติดต่อกัน)
การซื้อเวลาออกไปอีก 30 วันของคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ชุดใหญ่ที่มีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานเมื่อวานนี้ จริงๆแล้วก็คือ การดึงเวลาเพื่อรอผลตรวจโรคของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งจะต้องนำตัวเลขดังกล่าวไปเข้าสู่การวินิจฉัยของคณะแพทย์ชุดใหญ่ที่จะมีทุกหน่วยงานมาทำการวินิจฉัยในขั้นสุดท้ายอีกครั้งมากกว่า
ในเวลาเดียวกัน 30 วันก็น่าจะเป็นเวลาที่มากพอ เพื่อให้ประธานสภาพัฒน์ฯ คนใหม่ คือ ‘ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ ที่มีเงาร่างของพรรคเพื่อไทย ได้มีเวลาปรับความเข้าใจกับเป้าหมายและการทำงานร่วมกัน กับ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ‘ดนุชา พิชยนันท์’ ให้สอดรับนโยบายของรัฐบาลมากขึ้น