มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคาร 13 กุมภาพันธ์ 2567 มีการแต่งตั้งประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ คนใหม่ พร้อมทั้งกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 ตำแหน่ง เป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างมากต่อการกำหนดอนาคตทิศทางและนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทย เมื่อมีชื่อของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ มานั่งเป็นประธานสภาพัฒน์ฯ คนใหม่ แทน ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานคนเดิมที่แทบจะไม่ค่อยมีชื่อปรากฏเป็นข่าวบนหน้าสื่อ
กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 10 คน ประกอบด้วย กงกฤช หิรัญกิจ , กฤษณะ วจีไกรลาศ ,คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา , ปิยะมิตร ศรีธรา , วิษณุ อรรถวานิช, รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ , สมประวิณ มันประเสริฐ ,สุพจน์ เตชวรสินสกุล ,อารีย์ ชวลิตซีวินกุล และ เอ็นนู ซื่อสุวรรณ
ที่ต้องจับตามองการเปลี่ยนแปลงคราวนี้เป็นพิเศษ เพราะดูเหมือนเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ผู้มีอำนาจ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาลตัวจริงที่กำลังจะกลับไปพักโทษที่บ้าน ตัดสินใจดันมือเศรษฐกิจตัวจริงให้เข้ามาช่วยผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยให้เกิดผลรูปธรรมชัดเจนขึ้นเสียที หลังจากทีมเศรษฐกิจชุดปัจจุบันยังไม่สามารถเดินหน้าแผนงานต่างๆให้เป็นไปตามเป้าหมาย
ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ฯ นอกจากจะเปรียบเสมือน ‘คลังสมอง’ ด้านเศรษฐกิจที่ทำหน้าที่กำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งของประเทศและของโลก รวมทั้งจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นอกจากนั้นยังมีบทบาท ในการเสนอแนะให้คำปรึกษาและให้ความเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่าง ๆ ต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี
ที่สำคัญคือ ทำหน้าที่ในการเสนอแนะให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนงานและโครงการพัฒนา เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และพิจารณาข้อเสนองบประมาณประจำปีของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมิใช่บริษัทมหาชนจำกัด
การทำงานของสภาพัฒน์ฯ จึงควรสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันกับรัฐบาล ไม่เกิดอาการ ‘ขัดขา’หรือมีความเห็นแย้งจนทำให้กลายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล
การเข้ามาในของ ‘**ดร.เปี๋ยม ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ ** จึงเป็นเรื่องที่ถูกคาดหมายว่าจะเห็นบทบาทของประธานสภาพัฒน์ฯ ยุคใหม่มากขึ้นกว่าในยุคก่อน ๆ ที่เคยอยู่ในมือของ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ซึ่งปัจจุบันคือ ดร.ดนุชา พิชยนันท์ ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะมีกรอบการทำงานและแนวคิดที่ไม่ค่อยตรงกับพรรคเพื่อไทยในหลายๆเรื่อง แม้แต่นโยบายแจกเงินดิจิตอลหมื่นบาท ที่เป็น ‘เรือธง’ ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ จัดว่ามีดีกรีระดับ ‘กูรู’ ตัวพ่อ ในวงการตลาดเงิน- ตลาดทุนไทยคนหนึ่ง เป็นบุตรชาย อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ‘**เชาวน์ สายเชื้อ’ ** จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์(เกียรตินิยม) ม.วิกตอเรีย ประเทศนิวซีแลนด์ ระดับปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ ม.ฟิลิปปินส์ และระดับปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์ ม.ฮาวาย สหรัฐอเมริกา
ก่อนหน้านี้ เคยนั่งตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั้ง กรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการจัดการลงทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ (หัวหน้าสายงานวิจัย) บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน), กรรมการ คณะกรรมการนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการจัดการลงทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และ กรรมการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ
นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยในช่วงของการสู้ศึกเลือกตั้งด้วย ซึ่งเคยมีกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทยวางตัวไว้ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะเห็นว่า มีคุณสมบัติที่เหมาะสม
การเข้ามาของ ดร.ศุภวุฒิ ในช่วงนี้ถูกมองว่าอาจจะเป็นจังหวะที่ถูกที่ถูกเวลา เพราะกำลังจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าอย่างไรกับนโยบายเรือธง แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ที่จะเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานในวันที่15 กุมภาพันธ์นี้
ประจวบเหมาะกับกำลังจะมีตัวเลข GDP ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วออกมา ซึ่งเชื่อว่าอาจจะติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 ซึ่งหมายความว่า GDP ของไทยติดลบ 2 ไตรมาสติดกัน สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณของการถดถอยทางเทคนิค คือเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจน และจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักในการใช้นโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา
ยิ่งไปกว่านั้นการมาของ ดร.ศุภวุฒิ ยังอาจจะเป็นการกดดันทางอ้อมไปยัง ผู้กำหนดนโยบายด้านการเงิน โดยเฉพาะ ดร.นกเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีมุมมองในการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว ไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามเสียงเรียกร้องของรัฐบาล
จากนี้ไปจึงต้องจับตามองว่า นโยบายด้านการเงินและการคลังของรัฐบาลอาจจะปรับทิศทางไปจากเดิมมากขนาดไหน เมื่อตัวจริงเริ่มเดินลงสนาม...