“มลพิษทางอากาศ” กับ “โลกร้อน” ก็เหมือนเพื่อนซี้ (ที่ไม่ค่อยมีเพื่อนคบ) แต่ทั้งสองกลับมั่นหน้าเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ก่อความรำคาญใจให้ทุกหย่อมหญ้า และดูเหมือนว่าจะเป็นอาชญากรข้ามชาติ เพราะนาทีนี้ PM2.5 คละคลุ้งไปทั่วโลก
หมอกจางๆ และควันทำให้เราหายใจไม่เต็มปอด
ล่าสุดวันนี้ (3 ธ.ค. 2567) ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร พบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ 35.8-67.2 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานอยู่ในระดับ “สีส้ม” เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 67 พื้นที่ มากสุดคือ เขตหนองแขม ขณะที่ปริมณฑลเกินมาตรฐานอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 10 พื้นที่ มากสุดใน ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อยู่ระดับ “สีแดง” 85.1 มคก./ลบ.ม.

แม้การเมืองจะมีเรื่องโกหก แต่ตัวเลขไม่เคยโกหก
ข้อมูลโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยสถิติ “มลพิษทางอากาศ” เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลกหลายล้านคนทุกปี ขณะที่โลกเดือดทำ PM2.5 มาตามนัด! เฉพาะปี 2567 ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมกลุ่มโรคจากมลพิษทางอากาศ รวมแล้วมากกว่า 10 ล้านคน และเรากำลังรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด อย่างมีความหวัง
WHO ยังระบุอีกว่า มากกว่า 99% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก โดยผู้คนราว 4.2 ล้านคนทั่วโลกสังเวยชีวิตให้มลพิษทางอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด และการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ทั้งนี้ การสูด PM2.5 ร้ายกว่าดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ และทำให้อายุขัยสั้นลงหลายปี

ต้นเหตุของมลพิษทางอากาศ ไม่ได้มีแค่ PM2.5
มลพิษทางอากาศมีสารพิษหลักๆ ที่คอยแฝงตัวทำร้ายสุขภาพของเราอยู่ทุกวัน และนี่คือ 5 สารพิษที่ควรระวัง
1.ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM)
ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นสารพิษที่พบได้ทั่วไปในอากาศ ซึ่งประกอบด้วย ซัลเฟต, ไนเตรต, แอมโมเนีย, โซเดียมคลอไรด์, คาร์บอนดำ, ฝุ่นแร่ และน้ำ แม้จะมองไม่เห็นด้วยตา แต่ PM2.5 และ PM10 ก็รับรู้ได้ด้วยจมูก (แสบจมูก หายใจไม่สะดวก) แสดงออกผ่านทางดวงตา (เคืองตา ตาแดง ตาอักเสบ) ซ้ำร้ายยังสามารถแทรกซึมลึกเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้ ซึ่งก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ การสัมผัสในระยะยาวสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
2.คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
คาร์บอนมอนอกไซด์ คือก๊าซพิษที่ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น แต่สามารถแพร่กระจายผ่านปอดเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เซลล์ต่างๆ จึงไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้เราหายใจลำบาก อ่อนเพลีย เวียนหัว และในกรณีร้ายแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งคาร์บอนมอนอกไซด์มาจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน เบนซิน ถ่านไม้ ควันดำจากรถยนต์
3.โอโซน (O3)
โอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศใกล้พื้นดิน เป็นส่วนประกอบหลักของหมอกควันเคมีที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างสารมลพิษต่างๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) โอโซนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในวันที่มีแดดจัด ทำให้เกิดปัญหาการหายใจ กระตุ้นโรคหอบหืด และลดการทำงานของปอดได้อย่างมีนัยสำคัญ
4.ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นก๊าซสีน้ำตาลแดงที่เกิดจากการเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูง เช่น การขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม และการผลิตพลังงาน ก๊าซนี้สามารถทำให้ทางเดินหายใจติดขัด ระคายเคือง และกระตุ้นโรคทางเดินหายใจ เช่น หอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อีกทั้งยังเป็นสารตั้งต้นสำคัญที่ทำให้เกิดโอโซนที่ระดับพื้นดิน
5.ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นก๊าซไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุน เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือการถลุงแร่ที่มีกำมะถัน ซึ่งการสัมผัสกับซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะทำให้ระบบทางเดินหายใจได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น กระตุ้นให้โรคหอบหืดแย่ลง และลดความสามารถในการทำงานของปอด
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของสารก่อมลพิษที่ไม่ได้แค่ทำลายอากาศบริสุทธิ์ แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของเราทุกคนแบบไม่รู้ตัวและไม่สามารถมองข้ามได้ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการก่อมลภาวะ เริ่มจากการใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบมากขึ้น การเลือกใช้พลังงานที่สะอาด ลดการใช้ยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนเพื่อช่วยดูดซับมลพิษ

เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกที่สะอาดและปลอดภัยยิ่งขึ้น ต่อจากนี้ไปการดูแลโลกให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน
เพราะลมหายใจที่สะอาด ไม่ใช่แค่สิทธิของเรา แต่เป็นของ “คนรุ่นต่อไป” ที่เราต้องส่งต่อและร่วมกันปกป้อง