‘ดีสุดขั้ว-ชั่วสุดขีด’ เบญจเพสของเด็ก Gen Beta 2050 ปีแห่งความ(หวัง)เป็นกลางทางคาร์บอน

6 ม.ค. 2568 - 08:42

  • เด็ก Gen Beta เป็นเด็กที่เกิดมาในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง และต้องพบกับความท้าทาย ทั้งเรื่องของ AI วิกฤตโลกรวน รวมถึงการปรับตัวต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

  • ประเทศไทยตั้งเป้าเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065

ecoeyes-best-worst-gen-beta-benjapes-year-of-carbon-neutrality-SPACEBAR-Hero.jpg

ขอต้อนรับเด็กๆ Generation Beta หรือ Beta Baby ที่ลืมตาดูโลกนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 พร้อมบอกลาเด็ก Generation Alpha ที่หมดยุคไปกลายเป็นรุ่นพี่ 

Mark McCrindle นักวิจัยทางสังคมและนักประชากรศาสตร์ คาดการณ์ว่า เด็ก Gen Beta จะมีจำนวนมากถึง 16% ของประชากรโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า และอาจมีชีวิตยืนยาวไปถึงศตวรรษที่ 22

ecoeyes-best-worst-gen-beta-benjapes-year-of-carbon-neutrality-SPACEBAR-Photo_SQ01.jpg
Photo: ทารกที่ลืมตาดูโลกนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 คือ Generation Beta

ทว่า เด็ก Gen Beta เป็นเด็กที่เกิดมาในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง เพราะเด็กรุ่นใหม่นี้จะต้องพบกับความท้าทาย ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี AI ที่ดิจิทัลเชื่อมโยงกับชีวิตจริงอย่างสมบูรณ์ แต่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอาจเปลี่ยนไปจากรุ่นเรา เพราะต้องเจอกับวิกฤตโลกรวน ภัยพิบัติ รวมถึงเป็นรุ่นที่ต้องปรับตัวต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ขณะเดียวกัน Gen Beta ก็จะเป็นรุ่นที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงเข้าใจในความเท่าเทียม 

ผลงานการใช้ชีวิตของรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย (Baby Boomers) ลุง ป้า (Gen X) และพ่อแม่ (Gen Y-Gen Z) กำลังจะปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ เหมือนส่งไม้ต่อให้ทารกน้อยที่จะเติบใหญ่ในอนาคต 

หากดูเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งเป็นผลจากการประชุมระดับโลก ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อปี 2021 ผู้แทนกว่า 200 ประเทศทั่วโลกได้ร่วมกันประกาศเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งภัยอันตรายของมวลมนุษยชาติ 

สำหรับประเทศไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ได้แสดงเจตนารมย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 (อีก 25 ปีข้างหน้า) ซึ่งเป็นปีที่เด็ก Gen Beta จะเบญจเพสพอดิบพอดี ในขณะที่ได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 (อีก 40 ปีข้างหน้า) 

แล้วความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) คืออะไร แตกต่างกันตรงไหน ทำไมถึงต้องใช้เวลานานกว่าจะบรรลุเป้าหมาย มาทำความเข้าใจไปพร้อมกัน

ecoeyes-best-worst-gen-beta-benjapes-year-of-carbon-neutrality-SPACEBAR-Photo_SQ01 copy.jpg
Photo: ประเทศไทยประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 25 ปีข้างหน้า

Carbon Neutrality = ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ “เทียบเท่า” ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับกลับคืน โดยผ่าน 3 กลไก ได้แก่  

1.“ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel)

2.“ดูดกลับ” ก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ การใช้เทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนำกลับมากักเก็บใต้พื้นดิน หรือใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ 

3.“ชดเชย” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offset) เช่น หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจก 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 70 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เราก็ต้องชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออีก 30 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต 

การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น เป็นเป้าหมายตั้งแต่ในระดับบุคคล องค์กร ไปจนถึงประเทศ

ecoeyes-best-worst-gen-beta-benjapes-year-of-carbon-neutrality-SPACEBAR-Photo_SQ01 copy 2.jpg

Net Zero Emissions = การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความสมดุล “เท่ากับ” ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ 

หมายความว่าหากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจก 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ก็ต้องมีกิจกรรมที่ลดหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเช่นกัน 

การบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นเป้าหมายระดับประเทศ และจะเกิดขึ้นภายหลังจากความพยายาม “ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก “ดูดกลับ” ก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ “ชดเชย” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก นี่จึงเป็นเหตุผลให้ Net Zero Emissions มีไทม์ไลน์ยาวนานกว่า Carbon Neutrality นั่นเอง

ecoeyes-best-worst-gen-beta-benjapes-year-of-carbon-neutrality-SPACEBAR-Photo_SQ01 copy 3.jpg
Photo: Transfigurations : เด็กทารกรุ่นต่อไป ผลผลิตจากพ่อแม่และสิ่งแวดล้อมยุคโลกเดือด ผลงานโดย Agi Haines อาร์ทติสนักวิจัยและอาจารย์จากลอนดอน ที่แสดงให้เห็นเรือนร่างของทารกเพื่อจินตนาการว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาในอนาคต และกระตุ้นเตือนให้เราทำอะไรสักอย่างตอนนี้เพื่อคนรุ่นต่อไป

ดีสุดขั้ว ชั่วสุดขีด

ตอนนี้ เราไม่มีทางรู้เลยว่าโลกที่เด็ก Gen Beta อยู่ ทั้งตอนเบญจเพสในช่วงอายุ 25 ปี หรือในช่วงต้นศตวรรษที่ 22 (Gen Beta บางคนที่อายุยืนอาจอยู่ถึงปี 2101 ซึ่งจะมีอายุราว 76 ปี) จะหน้าตาเป็นอย่างไร?

ตอนนั้น แม้เราจะเป็นผุยผง ไม่รู้ร้อนรู้หนาวแล้ว แต่คน Gen Beta อาจหนาวๆ ร้อนๆ เพราะโลกที่แปรปรวน ทว่า อาจกลับกันเป็นยุคทองที่โชติช่วง เป็นโลกยุคใหม่ที่ผลพวงของ ความยั่งยืน ที่เราทำ ณ ตอนนี้ส่งไปถึง

เพื่อส่งต่อโลกที่ดีให้คนรุ่นถัดไป โจทย์ใหญ่ของคนวัยเราคือการสร้างโลกที่ยั่งยืน แม้จะสายไป (บ้าง) แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ตามไปดู ฮาวทูกู้โลกรวน คอนเทนต์ซีรีส์ที่จะกระตุ้นต่อมรักษ์โลกในตัวเรา แล้วมาทำความเข้าใจว่าทำไมโลกร้อน แล้วเราจะช่วยโลกได้ยังไง ไปกับ SPACEBAR

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์