ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก
วิธีที่ 11: ‘รีแพร์’ ไม่ได้มีแค่ ‘กี’ นะรู้ยัง!
ซื้อใหม่คุ้มกว่า! มายาคติทำขยะอันตรายและ E-Waste ท่วมโลก
แนะนำ: Repair แก้โลกรวน ชวนกู้ชีพของใช้ ไขประตูสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)
ย้อนกลับไปสมัยเรายังเด็ก ทีวีที่บ้านจอซ่า พัดลมกระตุก พ่อก็ปลุกชีพขึ้นมาใหม่โดยการยกไปร้านซ่อม เปิดเครื่องแก้แวบเดียวก็ใช้ได้ รองเท้านักเรียนพื้นหลุด แม่ก็เอาไปร้านซ่อมรองเท้า แล้วเราก็ได้ใช้มันต่อ ตัดภาพมาตอนนี้ ทีวีเสียนิดเสียหน่อย เราก็หมดใจไม่ทนใช้ต่อ ขอกดดูรุ่นใหม่ จ่ายเงินแล้วรอของมาส่ง ลืมขั้นตอนการ “ซ่อม” ไปอย่างปลิดทิ้ง
หลายคนโทษว่า “ร้านซ่อมสมัยนี้หายาก” ก็ใช่ เพราะเมื่อก่อนมีให้เห็นดาษดื่นตามป้ายรถประจำทางfreepik

ยุคเปลี่ยน อะไรก็เปลี่ยน
ที่เป็นแบบนี้เพราะเรากำลังอยู่ในยุคซื้อง่าย ขายคล่อง แคมเปญผุดเป็นดอกเห็ด แถมของที่ทำมาขายยังออกแบบให้หมดอายุขัย (Planned Obsolescence) หรือตั้งใจให้ “เจ๊งง่าย” แบบใช้ไปสักพักก็พัง (ไม่ยั่งยืนเอาซะเลย) ทั้งที่บริษัทมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่สามารถทำให้สินค้าเหล่านั้นใช้งานได้นาน แต่กลับไม่นำมาผลิตเชิงพาณิชย์ เพราะถ้าทนทาน คนก็ไม่ซื้อของใหม่!!
มูลเหตุชักจูงใจเหล่านี้ ทำให้สายพานการผลิตสินค้าใหม่ในโลกทุนนิยมไม่เคยหยุดพัก มองเห็นกำไรที่เป็นตัวเงินสุดคณานับ แต่ในทางกลับกัน โลกกำลังขาดทุนย่อยยับจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยัง พร้อมทั้งฝังหัวผู้บริโภคด้วยการออกโฆษณาเชิงรีบขาย (โปรโมชั่น) ถ้าพังก็แค่ซื้อใหม่ ไม่ต้องซ่อม!
ซื้อใหม่คุ้มกว่า จริงหรือ?
หลายคนอาจคิดว่า “ซื้อใหม่คุ้มกว่า” จริงๆ แล้วการซื้อใหม่อาจดูเหมือนง่ายกว่า เพราะใหม่กว่าก็ดีกว่า ทั้งในด้านวัสดุ เทคโนโลยี หรือทันเทรนด์กว่า แล้วของเก่าล่ะ? สุดท้ายก็กลายเป็นภาระทางสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นขยะที่ไม่ย่อยสลาย ขยะอันตราย และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทิ้งไว้เตือนใจให้คนรุ่นหลังดูต่างหน้า
WHY (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)
รู้หรือไม่? ขยะที่ซ่อมไม่ได้กำลังท่วมโลก

ด้วยเทคโนโลยีที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ส่งผลให้แนวโน้มปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ทั่วโลกในแต่ละปีเพิ่มสูงขึ้น จากรายงาน A New Circular Vision for Electronics: Time for a Global Reboot ที่จัดทำโดย World Economic Forum พบว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกในปี 2018 อยู่ที่ประมาณ 50 ล้านตัน (ลองนึกถึงน้ำหนักของหอไอเฟล 4,500 ชิ้น ซึ่งหากนำมาวางเรียงกันทั้งหมดจะครอบคลุมพื้นที่เท่ากับเกาะแมนฮัตตัน) และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านตัน ในปี 2050

ปัญหานี้เกิดขึ้นเนื่องจากการเติบโตของตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต ทีวี คอมพิวเตอร์ เครื่องทำความร้อน เครื่องทำความเย็น เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน
การกำจัดผิดวิธี ส่งผลร้ายแรงต่อโลก
การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ หากใช้วิธีการฝังกลบ ในองค์ประกอบของขยะเหล่านี้สามารถแยกออกเป็น
- “พลาสติก” ที่ใช้เวลาในการย่อยสลาย 450 ปี
- “โลหะและอะลูมิเนียม” ใช้เวลา 80-100 ปี
- “แก้ว-กระจก” ไม่สามารถย่อยสลายได้
ทั้งนี้ ขยะเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดขยะพิษ
เนื่องจากในขยะอิเล็กทรอนิกส์จะมีปรอท ตะกั่ว ซึ่งเป็นโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ เมื่อนำไปฝังกลบ สารเคมีที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์จะปนเปื้อนลงในดิน แหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เพราะตะกั่วการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดวิธี สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมีพิษทำลายระบบประสาท ระบบโลหิต การทำงานของไต ระบบสืบพันธุ์ และอื่นๆ

หากนำไปกำจัดด้วยการเผา ก็จะก่อให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ สารไดออกซิน และฟิวแรน เป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม และสะสมในร่างกายจนเกิดอันตราย
ปัจจุบันทั่วโลกรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบถูกกฎหมาย ในสัดส่วนเพียง 20% เท่านั้น อีก 80% ยังถูกนำไปเผาหรือฝังกลบ หรือส่งไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อคัดแยกพลาสติกและโลหะมีค่า โดยไม่ได้ใส่ใจเรื่องของสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม
ชี้เป้าพิกัดจุดทิ้ง E-Waste
สำหรับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี (Zero E-Waste to Landfill) ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานได้ร่วมกันจัดเก็บและเข้ากระบวนการที่ถูกต้อง โดยเราสามารถทิ้ง E-Waste ได้ที่
- สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต
- ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้าและดินแดง)
- อาคารคณะสิ่งแวดล้อมและศูนย์การค้าสุพรีม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ที่ทำการไปรษณีย์ หรือฝากทิ้งกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ที่มานำจ่ายจดหมายตามบ้านได้เลย
- โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก ร่วมกับบริษัท Total Environmental Solutions จำกัด
- แคมเปญทิ้ง E-Waste โดย AIS
- แคมเปญ E-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ โดย True
HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้)
มีอะไรมันพังไป เชิญเอามาที่เรา หนักเบาเราซ่อมได้ ก็ซ่อมให้
วิดีโอและซีดี อารมณ์ดีที่ยังไม่ดี จะซ่อมให้

ใช่แล้ว!! เพลงซ่อมได้ ของพี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ (ใครฮัมเพลงนี้ได้อายุไม่น้อยแล้วนะ) บอกใบ้หนทางทำโลกให้เย็นลงด้วยการส่งน้องไปซ่อม หรือ Repair ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิด 7 Re วิธีลดขยะที่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น
ต้องยอมรับว่า Reduce, Reuse, Recycle เราได้ยินและทำบ่อย แต่พอเป็น Repair ทุกคนกลับพุ่งเป้าไปที่การศัลยกรรมตกแต่ง “กี” กระชับช่องคลอด ทว่า การรีแพร์ในวงการรักษ์โลกก็สรรค์สร้างสิ่งสวยงามเช่นกัน
ลองคิดถึงกระเป๋าใบโปรด หรือรองเท้าคู่ใจ ที่ใช้ทีไรก็เรียกความมั่นใจได้ทุกที อยู่ดีๆ ก็ถูกเก็บลืม เพราะเราซื้อของใหม่มาเพิ่ม
วันดีคืนดีนึกได้ว่ามีอยู่ แต่หยิบมาดู...อ้าวๆ กาวหลุด! ถ้าเป็นของชอบจริง เราจะทิ้งไปเลยหรือ?

ถ้าคุณลังเล ลองเทใจมาฝั่ง Repair หยิบน้องมาซ่อม ปัดฝุ่นให้ไฉไล เพราะ “คุณค่าทางใจ” ที่เคยมี ไม่ได้ลดดีกรีลง แต่เพราะเทรนด์ (ที่ใครไม่รู้เป็นผู้กำหนด) และสายตาของคนไม่รู้จัก (ที่เราคิดไปเองว่าเค้าจะมองเรา…เฉิ่ม!) ความจริงไม่มีใครคิดหรอก เราแหละที่กำลังหลอกตัวเอง!!
ถ้าคิดตามมาถึงตรงนี้ เราจะสามารถประยุกต์ใช้กับทุกเรื่องบนโลก ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า รองเท้า ลองซ่อมแซม หรือใส่ไอเดีย D.I.Y อัปไซเคิล เพื่อหยิบยื่นโอกาสให้ของใช้กลับมามีประโยชน์ในสายตาเรา (อีกครั้ง) ชำรุดนิดๆ หน่อยๆ ก็ค่อยๆ ซ่อมแซม และยืดอายุของใช้ให้ยาวนานที่สุด แค่นี้เราก็เป็นฮีโร่กู้โลกได้ด้วยการช่วยลดของเสีย ขยะอันตราย ขยะกำจัดยาก ขยะอิเล็กทรอนิกส์
ในขณะเดียวกัน เราก็กำลังลดการบริโภคที่ไม่จำเป็น แม้ยอดขายของหลายๆ ธุรกิจจะลดลง แต่ยอดเงินในบัญชีผู้บริโภคจะมากขึ้น นี่แหละ “ความรุ่มรวย” ที่แท้จริง บนพื้นฐานของความยั่งยืน (Sustainability)