ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก
วิธีที่ 4 นอน...ครอกฟี้ (ซ่อมร่าง ซ่อมโลก)
ทุกวินาทีที่เราตื่น คือความขมขื่นเพราะเผาผลาญทรัพยากร
แนะนำ : หลับใหลแบบผู้ตื่นรู้ “พักร่าง = พักโลก”

WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)
ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในปี 2024-2025 ทำคนป่วยง่าย ตายเร็ว ยิ่งเจอกับวิกฤตโลกเดือด ทำร่างป่วย! จิตป่วย! ปัญหารุมเร้าและการเข้าถึงโลกออนไลน์ได้แบบไร้ขีดจำกัด 24/7 ทำให้คนเรานอนน้อยลง ในขณะที่หลายคนยึดคติ “นอนน้อย แต่นอนนะ!” ที่พักเอาแรงนิดหน่อยแค่พอให้ร่างกายและหัวใจไม่ล้มเหลว แต่ความจริงกลับผิดมหันต์!!
ทั้งสายสตรีมเกมส์ สาวกซีรีส์ หรือก๊วนนัดตี้แฮงค์เอาท์ พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เราอายุสั้งลง (จนต้องเขียนพินัยกรรมรอ) เพราะชีวิตนี้ตกอยู่ในสถานะคนที่กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) พร้อมจะยื่นใบสั่งให้ทุกเวลา
จริงๆ แล้วการนอนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และกินเวลา 1 ใน 3 ของชีวิต เพื่อให้ร่างกายและสมองได้พัก ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ (อยากอัพโปรตีนเลย) พร้อมรีเฟรชระบบในเช้าวันใหม่
ในทางกลับกันการที่เรานอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคภัย เสี่ยงอ้วนง่าย เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เร่งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ส่งผลต่อสุขภาพจิต เครียดง่าย วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนในยุคนี้

WHY (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)
การที่คนเราไม่นอน แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบแบบต่อสายตรงเรื่องสุขภาพ ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบอ้อมๆ กับโลก (แบบที่หลายคนไม่ทันคิด) เพราะเมื่อมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็เพิ่มของเสียทางการแพทย์ เพิ่มขยะกำจัดยาก อีกทั้งการผลิตยา การขนส่งยาและเวชภัณฑ์ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ก็เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ไม่ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ
มากไปกว่านั้น การที่คนเรา “ตื่น” ทุกวินาทีคือการใช้ทรัพยากร ทั้งน้ำ ไฟ พลังงาน เชื้อเพลิง อาหาร การปล่อยของเสีย สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์แบบปฏิเสธไม่ได้เลย (เว้นแต่จะตื่นมานั่งเงียบๆ กลางป่า และไม่เล่นมือถือด้วยนะ) ซึ่งหมายความว่า ยิ่งเรานอนหลับน้อยลงเท่าใด ก็ยิ่งเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น (ตื่นมาก็ใช้ๆๆ แบบไม่เผื่อไว้ให้คนข้างหลัง)
...วันใดที่ดูซีรีส์จนโต้รุ่ง จงจำไว้ว่า “เราก็กำลังทำลายสุขภาพตัวเอง และกำลังทำร้ายโลกไปพร้อมๆ กัน”
เรื่องตลกที่อาจไม่ขำก็คือ การที่เรานอนน้อย ทำให้ “โลกร้อน” แล้วโลกร้อนก็ย้อนกลับมาทำให้เรา “นอนไม่หลับ!!”
มีงานวิจัยที่นำโดย Kelton Minor จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ในเดนมาร์ก ระบุว่า อุณหภูมิตอนกลางคืนที่อุ่นขึ้นเป็นอันตรายต่อการนอนหลับ งานวิจัยนี้เก็บรวบรวมข้อมูลการนอนของคนกว่า 47,000 คน ใน 68 ประเทศ ระหว่างปี 2015-2017 ซึ่งพบว่าอุณหภูมิตอนกลางคืนที่อุ่นขึ้นทำให้คนนอนหลับได้น้อยลงเฉลี่ย 14 นาทีต่อวัน แม้จะดูน้อย แต่รวมๆ เเล้วเราเสียเวลานอนไป 44 ชั่วโมงต่อปี!!
และหากเรายังปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบปัจจุบัน ภายในปี 2100 แต่ละคนอาจเผชิญกับการนอนหลับที่สั้นลงเฉลี่ย 2 สัปดาห์ หรือสูญเสียการนอนหลับไปราว 50-58 ชั่วโมงต่อปี แบบนี้เยอะแล้วใช่ไหม?

HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้)
ทางออกของเรื่องนี้พูดง่าย แต่ทำยาก (มาก) คือ “นอน นอน และนอน”
Save world, Save sleep, Save you เพื่อ Good Health and Well-being ส่งเสริมการมีสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี ตามคำแนะนำของ National Sleep Foundation (NSF) ระบุว่าระยะเวลาการนอนหลับที่เพียงพอมีความแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ ดังนี้
- เด็กอายุ 6-13 ปี ควรนอน 9-11 ชั่วโมงต่อคืน
- วัยรุ่นอายุ 14-17 ปี ควรนอน 8-10 ชั่วโมงต่อคืน
- ผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปี ควรนอน 7-9 ชั่วโมงต่อคืน
- ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรนอน 7-8 ชั่วโมงต่อคืน
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจถอนหายใจ ร้องเฮ้อ! …ไม่ได้มีเวลานอนขนาดนั้น!! เพราะต้องทำงาน หาเงิน แต่…แต่...แต่ ถ้ายังไม่นอนแบบนี้ เงินที่หามาได้ สุดท้ายก็ต้องเอาไปรักษาตัว จบแบบสูญ (เสีย) และศูนย์ (ยอดเงินในบัญชี)

ฝากไว้ให้คิด!
หลายคนซื้อนาฬิกาสะสมไว้หลายเรือน แต่นาฬิกาที่มีค่ามากที่สุดและความจริงแล้วเราไม่ต้องซื้อ นั่นคือ นาฬิกาชีวิต Biological Clock หรือ Body Clock แค่กินให้เป็นเวลา ออกกำลังกาย และนอนในช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการการพักผ่อนก็เพียงพอแล้ว
หากแค่ Body Clock ยังทำไม่ได้ แล้วนับประสาอะไรกับ Climate Clock ที่เคาท์ดาวน์หายนะของโลกจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจนเกินต้าน
...โลกมาถึง Point of No Return หรือยัง? การกระทำของเราคือคำตอบ
บางทีโลกนี้อาจไม่ต้องการฮีโร่สวมชุดแปลกๆ แต่อาจอยากได้คนที่หลับใหลในราตรี (ให้เพียงพอ) ก็พอแล้ว