“ไมโครพลาสติก” กำลังกลายเป็นภัยคุกคามที่ขยายวงกว้างและส่งผลกระทบอย่างมากทั้งกับสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหาร ในปี 2020 นักวิจัยจากอิตาลี พบว่าไมโครพลาสติกสะสมอยู่ในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ผักกาดหอม บรอกโคลี แอปเปิล และแครอท ซึ่งเกิดจากน้ำฝนที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกและไหลลงสู่พื้นดิน จากนั้นพืชจึงดูดซับเข้าไปทางราก นอกจากนี้ยังพบว่าไม้ยืนต้น เช่น ลูกแพรและแอปเปิลมีการสะสมของไมโครพลาสติกสูงกว่าพืชชนิดอื่น
ต่อมาในปี 2022 การศึกษาจากสโลวะเกีย พบว่าไมโครพลาสติกสามารถติดอยู่ในน้ำที่ขังบนใบพืช เช่น ทีเซิล ซึ่งยืนยันว่าไมโครพลาสติกสามารถแทรกซึมเข้าสู่พืชได้ในหลายจุด รวมถึงที่ใบพืช การค้นพบนี้ยิ่งเพิ่มหลักฐานว่าไมโครพลาสติกกำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่บริโภคพืชเหล่านี้ ซึ่งอาจสะท้อนถึงการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ในอนาคต

และก็เป็นไปตามคาด เมื่อล่าสุดปี 2025 การศึกษาครั้งใหม่เผยว่า “ไมโครพลาสติกขัดขวางกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช” ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่หลวง เนื่องจากการสังเคราะห์แสงเป็นกระบวนการพื้นฐานในการเติบโตและการผลิตอาหารของพืช
โดยนักวิจัยระบุว่า ไมโครพลาสติกอาจลดผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพด ประมาณ 4-14% เนื่องจากพวกมันขัดขวางการใช้แสงอาทิตย์ในการเจริญเติบโตของพืช ผลกระทบนี้อาจทำให้ปริมาณอาหารที่ผลิตได้ลดลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อความอดอยากในอนาคต
ไมโครพลาสติกทำความมั่นคงทางอาหารสั่นคลอน
ตามที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ไมโครพลาสติกปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในปี 2022 มีคนประมาณ 700 ล้านคนได้รับผลกระทบจากความอดอยาก นักวิจัยประเมินว่าการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกอาจทำให้จำนวนคนที่เสี่ยงต่อการอดอยากเพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกสำหรับความมั่นคงทางอาหาร
“มนุษยชาติพยายามเพิ่มการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความพยายามเหล่านี้กำลังถูกคุกคามโดยมลพิษจากพลาสติก”
นักวิจัยที่นำโดย ศ.หวน จง จากมหาวิทยาลัยนานจิงในจีน กล่าว
ทั้งนี้ ร่างกายของผู้คนเองก็มีการปนเปื้อนจากไมโครพลาสติก ซึ่งได้รับมาจากอาหารและน้ำ โดยไมโครพลาสติกถูกพบในเลือด สมอง น้ำนมแม่ รก และไขกระดูก เชื่อมโยงกับโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวาย ซึ่งทั้งหมดคือภัยเงียบที่กระทบต่อสุขภาพของมนุษย์

การศึกษาในเดือนมีนาคม 2024 พบว่า ผู้ที่มีไมโครพลาสติกหรือนาโนพลาสติกในหลอดเลือดแดงที่คอมีโอกาสเป็นโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ ก็ตามในช่วง 3 ปีข้างหน้า มากกว่าผู้ที่ไม่มีเลยถึง 2 เท่า
ศ.เดนิส เมอร์ฟี จากมหาวิทยาลัยเซาท์เวลส์ กล่าวว่า การวิเคราะห์นี้มีคุณค่าและทันเวลาในการเตือนเราถึงอันตรายที่อาจเกิดจากมลพิษจากไมโครพลาสติก และความเร่งด่วนในการจัดการกับปัญหานี้ ทั้งนี้ ตัวเลขสำคัญบางประการยังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมก่อนที่จะสามารถยอมรับได้ว่าเป็นการคาดการณ์ที่แม่นยำ
การศึกษานี้เผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences โดยได้รวมการสังเกตการณ์มากกว่า 3,000 ครั้ง เกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อพืชจากการศึกษาทั้งหมด 157 เรื่อง
การวิจัยก่อนหน้านี้ได้ระบุว่า ไมโครพลาสติกสามารถทำลายพืชในหลายๆ วิธี อนุภาคมลพิษเหล่านี้สามารถปิดกั้นแสงที่เข้าถึงใบพืชและทำลายดินที่พืชต้องพึ่งพา เมื่อพืชดูดซึมไมโครพลาสติก พวกมันสามารถปิดกั้นช่องทางการดูดซึมสารอาหารและน้ำ กระตุ้นโมเลกุลที่ไม่เสถียรซึ่งทำร้ายเซลล์ และปล่อยสารเคมีที่สามารถลดระดับสารสีคลอโรฟิลล์ซึ่งใช้ในการสังเคราะห์แสง
นักวิจัยประเมินว่าไมโครพลาสติกสามารถลดการสังเคราะห์แสงของพืชบกได้ประมาณ 12% และในสาหร่ายทะเลประมาณ 7% ซึ่งเป็นฐานของห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทร ผลกระทบนี้อาจขัดขวางการผลิตปลาและอาหารทะเล ซึ่งคาดว่าจะสูญเสียประมาณ 1 ล้านถึง 24 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 7% ของผลผลิตทั้งหมด นับเป็นปริมาณเพียงพอที่จะให้โปรตีนแก่ผู้คนนับสิบล้านคน นอกจากนี้ การลดการสังเคราะห์แสงในมหาสมุทรอาจทำให้ปริมาณ CO2 ที่ดูดซับจากชั้นบรรยากาศลดลง ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศไม่สมดุลและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง
นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า แม้ผลการศึกษานี้จะต้องการการวิจัยเพิ่มเติม แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ ไมโครพลาสติกกำลังสร้างปัญหาที่เร่งด่วนสำหรับ “ความมั่นคงทางอาหารของโลก” โดยการปนเปื้อนจากไมโครพลาสติกไม่เพียงแต่ลดผลผลิตพืชและอาหารทะเล แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นักวิจัยเตือนว่าเราต้องหามาตรการในการลดปัญหานี้อย่างเร่งด่วน และในขณะเดียวกันต้องเร่งเจรจาเพื่อหาแนวทางในการลดมลพิษจากพลาสติกในระดับโลกผ่านการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

ขณะที่บางหน่วยงานได้สร้างหลักประกันของเรื่องนี้ด้วยการสร้าง “ห้องนิรภัยวันสิ้นโลก” ปราการความมั่นคงทางอาหาร ท่ามกลางวิกฤตโลกรวน-ชนวนสงคราม ในชื่อ ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด(Svalbard Global Seed Vault, SGSV) โดยประเทศไทยก็เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในห้องนิรภัยวันสิ้นโลกเช่นเดียวกัน