เทรนด์การช้อปและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เหมือนฤดูกาลที่หมุนไวและไม่แน่นอน สะท้อนถึงความตระหนักในเรื่องของอนาคต ทั้งสถานะทางการเงินที่คนยุคใหม่สนใจเรื่อง “ความมั่งคั่ง” ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ความยั่งยืน” เพราะโลกที่ร้อนขึ้นจน(เกือบ)เกินลิมิต
ก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา การซื้อของปลอมหรือของทำเหมือน ที่มีคำเรียกในภาษาจีนว่า “ปิงตี้” มียอดการค้นหาตามสื่อโซเชียลจีนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
กระทั่งในปี 2024 “ปิงตี้” พฤติกรรมการช้อปแบบไม่อวยยศให้แบรนด์หรู กลายเป็นเทรนด์ฮิตของผู้บริโภค Gen Z ในจีน จากการหันไปซื้อสินค้าทำเหมือนที่ใกล้เคียงกับสินค้าแบรนด์หรู ทั้งกระเป๋าแบรนด์เนม น้ำหอม ไปจนถึงกางเกงใส่เล่นโยคะ เพราะสาเหตุหลักคือต้องการสินค้าที่ยังดูดีแต่ราคาถูกลง
ขณะที่ Gen Z ในสหรัฐฯ และยุโรป ก็หันไปซื้อของสินค้าทำเหมือน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแฟชั่น และเรียกขานกันในนาม “Dupe” ที่มาจากคำว่า Duplicate ซึ่งหมายถึงของปลอมแบบย่อๆ โดยมีรายงานว่า 40% ของกลุ่มตัวอย่าง Gen Z ในสหรัฐฯ กล้าพูดอย่างเต็มปากเลยว่า ตัวเราเคยซื้อของปลอม!
จะว่าไปเรื่องนี้ก็ไม่ค่อยแปลก เพราะผู้บริโภคชาวไทยที่มีรายได้ปานกลางส่วนใหญ่ก็ถูกอกถูกใจกับสินค้า(เกือบ)แท้ เพราะมันแค่ราคาถูกกว่า (แต่ใช้ได้ ถือถ่ายรูปสวยเหมือนกัน)
ซึ่งในแง่ของ “ความประหยัด” ในยุคที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ มีใช้ก็บุญแล้ว แต่หากนำไปคำนวณเรื่องการซื้อมาใช้ไป การสร้าง การขนส่ง การทิ้ง ความจริงก็เปิดเผยออกมาว่า เรากำลังซื้อของถูก แต่โลกต้องจ่ายค่าเสียหายนับไม่ถ้วน และไม่มีทางย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้
ไม่ซื้อคือชนะ! No Buy 2025 เทรนด์ฮิตคนรุ่นใหม่
เมื่อหลายคนคิดได้ บวกกับเห็นผลกระทบเรื่องโลกร้อน > รวน > เดือด มากขึ้น จึงเริ่มเปลี่ยนความคิดและเกิดเป็นกระแสนิยมหรือเทรนด์ใหม่มาแรงในปี 2025 อย่าง “No Buy 2025” ที่ไม่ซื้อและเน้นการใช้จ่ายแบบประหยัดอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น บริโภคอย่างมีสติ และสนับสนุนไลฟ์สไตล์ที่ยั่งยืนมากขึ้น
เพราะช้อปกันจนหนำใจไปแล้วก่อนหน้านี้ และครั้นที่โลกเกิดความผันผวน อย่างช่วงการเกิดขึ้นของโควิด โรคระบาด สงคราม หลายคนตกฮวบ หลายคนไปต่อไม่ไหว แถมของที่ช้อปไว้ก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น และการเก็บ “เงิน” ไว้ให้ประโยชน์มากกว่า
“เงิน” คือนายของโลก...ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ นั่นคือความจริง

ทำไม 2025 ปีแห่งการไม่ซื้อ?
สำหรับ “No Buy 2025” เป็นแนวคิดที่ชวนให้ผู้คนหยุดซื้อของที่ไม่จำเป็นหรือปรับพฤติกรรมการบริโภคให้มีสติมากขึ้น แทนที่จะซื้อของตามอารมณ์หรือซื้อของตามกระแส (ที่ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นเลย) ซึ่งเทรนด์นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่ม “No Buy Year” ที่มีมานานพอตัว แต่ถูกยั่วให้เป็นกระแสอีกครั้งใน TikTok โดยอินฟูลเอนเซอร์ด้านมินิมอลไลฟ์สไตล์และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม
เป็นการตะโกนให้โลกรู้ว่า “เราคิดได้แล้ว!” และเราจะไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของเทคนิคการตลาด ทุนนิยม บริโภคนิยม ที่ทำให้เราตัดสินใจซื้อของแค่เพราะเห็นโปร 50% OFF บนเว็บช็อปปิ้งออนไลน์
ยิ่งไปกว่าไม่ซื้อ เทรนด์ “No Buy 2025” นี้ยังช่วยโลกได้ ลองนึกถึงกระเป๋าใหม่ที่เราเห็นแล้วอยากได้ แต่พอได้มาใช้ครั้งสองครั้งก็วางไว้เฉยๆ เพราะยังไงเราก็ไปซื้อกระเป๋าใหม่ที่สวยกว่าอีกอยู่ดี แต่ถ้าเราเลิกซื้อ หรือแค่เปลี่ยนจาก “ซื้อของใหม่” ไปเป็นการใช้ของเก่าซ้ำๆ (reuse) ใช้ไอเดียเปลี่ยนสิ่งที่มีให้ใช้ได้ต่อ (upcycling) หรือหากจำเป็นต้องซื้อจริงๆ ก็หันไปที่ตลาดมือสองที่ลดการผลิตสิ่งใหม่และไม่สร้างขยะ ภาระของโลกก็ลดลง
เหตุผลที่ No Buy 2025 ฮิตติดลมบน
- เพราะคนรุ่นใหม่อยากรวยเร็ว ใช่แล้ว! ทุกคนอยากรวย แต่คน Gen Z ลงมาอยากมั่งคั่งเร็วกว่ารุ่นพ่อแม่ และแน่นอนว่าการไม่ซื้อของที่ไม่จำเป็น ทำให้ประหยัดเงินได้มาก
- เพราะสิ่งของสำคัญน้อยกว่าประสบการณ์ อย่างที่บอกไปว่าของที่ซื้อไว้ไม่ช่วยอะไรเมื่อโลกวิกฤต หลายคนจึงเลิกซื้อสิ่งของแล้วหันไปซื้อประสบการณ์แทน เช่น การท่องเที่ยว หรือทำอะไรสนุกๆ แทนที่จะไปซื้อกระเป๋าใบใหม่ทุกเดือน
- เพราะเห็นคุณค่าในสิ่งที่มี การลดการซื้อของใหม่ทำให้เราคิดว่า “อ้าว! เราก็มีของดีๆ ที่สามารถใช้ได้อยู่นี่นา” แถมยังรู้สึกดีขึ้นเมื่อซ่อมรองเท้าคู่เก่าที่รักแทนที่จะทิ้งมันไป
- เพราะช่วยโลก! การไม่ซื้อของใหม่คือการลดการใช้ทรัพยากร ลดการขุด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยลดขยะ

How To สู่วิถีใหม่...ไม่ซื้อคือชนะ! เริ่มต้นอย่างไรดี
- คิดก่อนซื้อ ไม่ใช่แค่เห็นว่า “ลดราคา 70%” แล้ววิ่งเข้าหา ลองถามตัวเองสักคำถาม “ต้องการมันจริงๆ ไหม?” ถ้าคำตอบคือ “ไม่” ก็ยิ้มให้กับเงินในบัญชีที่มีต่อได้เลย
- ใช้ของเก่าให้คุ้ม ถ้ามีรองเท้าคู่เก่าหรือกระเป๋าคู่โปรดอยู่แล้ว ลองใช้มันต่อไปจนกว่ามันจะพัง แล้วค่อยมองหาคู่ใหม่ หรือถ้าไม่อยากเสียไปก็แค่ซ่อมมันให้ดี
- ซื้อมือสอง อยากได้ของใหม่ก็เลือกซื้อสินค้ามือสอง ไม่เพียงแค่ราคาถูกกว่า แต่ยังช่วยลดขยะและสนับสนุนการรีไซเคิลไปในตัว
- รอ 7 วันก่อนซื้อ เวลารู้สึกอยากได้อะไรใหม่ๆ ลองรอไปก่อน 7 วัน ถ้าผ่านไปแล้วยังรู้สึกว่าจำเป็นต้องซื้อ ก็ค่อยตัดสินใจใหม่ แต่อย่าลืมคิดให้ดี!
- เอ๊ะบ้าง! เรียกสติก่อนบริโภคด้วยมายด์เซ็ต Eco-conscious ก่อนทำอะไรให้ทด “โลก” ไว้ในใจเสมอ
การปรับตัวเข้าให้กับเทรนด์ “No Buy 2025” ไม่ใช่แค่การหยุดซื้อหรือเลิกช้อปไปในทันที แต่เป็นวิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน ที่เริ่มจากการใช้จ่ายอย่างมีสติ คำนึงถึงสิ่งที่จำเป็น และเห็นคุณค่าของที่มี เช่น การซ่อมแซมของที่มีอยู่แล้วแทนที่จะซื้อใหม่ หรือใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นต่อไปจนกว่าจะถึงเวลาที่มันหมดอายุ การนำของเก่ามารีไซเคิล หรือ DIY อัพไซคลิ่งเป็นของใหม่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไป การเลือกซื้อสินค้ามือสองที่มีคุณภาพสูงแต่ราคาถูกกว่า เพื่อลดการผลิตของใหม่ๆ และช่วยลดปริมาณขยะ
เห็นแล้วใช่ไหมว่า การซื้อ...ยิ่งลด ยิ่งรวย นี่แหละชัยชนะที่งดงาม
มาแข่งกัน ลดซื้อ ลดโลกร้อน “ใครตายพร้อมของเยอะที่สุด คนนั้นแพ้!”