เรื่องของ Sustainability หรือความยั่งยืน ครอบคลุมในหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือ “People” มิติสังคมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และวันนี้เราจะพามารู้จักกับคำว่า “Well-topia” พื้นที่สำหรับทุกคน เมืองยั่งยืนในอุดมคติ
ต้องบอกก่อนว่าเราเจอคำนี้จาก eBook “Trend 2025” เจาะเทรนด์โลก 2025 ที่จัดทำโดย ‘คิด’ Creative Thailand ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์กรมหาชน) หรือ CEA ที่ทำขึ้นเพื่อให้ทุกคนมองเห็นโอกาสและเตรียมพร้อมรับมือได้ก่อนใคร ในคอนเซ็ปต์ BEYOND IMAGINATION อัดแน่นไปกด้วยเรื่องราวน่าสนใจและพร้อมชวนให้เราตั้งคำถามท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนบนโลกใบนี้ ว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า…” ผ่านการนำจินตนาการมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างโลกในรูปแบบที่ไม่เคยคาดถึง

แล้ว Well-topia คืออะไร?
เราลองตั้งคำถามนี้กับ AI และคำตอบที่ได้คือ
...คำว่า “Well-topia” ดูเหมือนจะเป็นการรวมคำระหว่าง “Wellness” สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ “Utopia” โลกในอุดมคติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เสนอพื้นที่หรือสังคมที่เน้นไปที่การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ หรือสังคม
ต้องบอกว่าคำตอบที่ได้ตรงกับความตั้งใจของเราที่อยากสื่อสารถึงเรื่อง “ความยั่งยืน”
เพราะหากเรานำมาวิเคราะห์ แนวความคิด Well-topia จะหมายถึงชุมชน สถานที่ หรือเมืองสุขภาวะดีที่ส่งเสริมให้ทุกคน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี : Good health and Well-being เช่น มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น มีสถานที่ออกกำลังกาย หรือเอื้อให้มีสุขภาพดี การเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ หรือการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน ซึ่งเป็นหนึ่งใน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่วางกรอบไว้โดยองค์การสหประชาชาติ (UN)
หากเรามองในเชิงเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ “Well-topia” อาจถูกใช้ในด้านเทคโนโลยี เช่น แอปพลิเคชันสุขภาพ เครื่องมือด้านสุขภาพดิจิทัล เทรนเนอร์ส่วนตัว (Personal Trainer) หรือแม้แต่การใช้ AI ในการดูแลสุขภาพ รวมถึงทำนายการเกิดโรคได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ
ในแง่ของวิถีชีวิตที่ยั่งยืน “Well-topia” คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้ผู้คนมีการใช้ชีวิตที่สมดุลและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเน้นความยั่งยืนในด้านพลังงานสะอาดและอาหารปลอดภัย
ส่วนในเชิงการท่องเที่ยว หากพูดถึงคอนเซ็ปต์ “Well-topia” อาจเป็นการออกแบบสถานที่ท่องเที่ยว หรือทริปที่เข้าถึงธรรมชาติ ชุมชน เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ลดความเครียด และส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

...หนึ่งในแนวทางการพัฒนาเมืองแห่งอนาคตที่เน้นออกแบบให้ตอบโจทย์ความ “อยู่ดีมีสุข” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มในสังคมผ่านการเข้าถึงสุขภาพที่ดีที่สุด แนวคิดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโซนสีน้ำเงิน (Blue Zones) ซึ่งหมายถึงพื้นที่ต่างๆ ในโลกที่มีประชากรอายุยืนมากที่สุด ทั้งยังมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงบนพื้นฐานของสภาพแวดล้อมที่ดี โดยเราสามารถถอดบทเรียนได้จากลักษณะร่วมสำคัญของโซนสีน้ำเงิน และนำมาพัฒนาเมืองอื่นๆ ให้ผู้คน “สูงวัยอย่างมีสุขภาวะที่ดี” ได้ เช่น การสร้างสวนขนาดเล็กเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว การตั้งตำแหน่งร้านค้าให้เป็นมิตรต่อการเดินเพื่อสนับสนุนให้ผู้คนเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ ฯลฯ
ความหมายของ Well-topia (แดนสุขภาวะดี) จากเจาะเทรนด์โลก 2025 (TREND 2025)

Well-topia เมืองยั่งยืนในฝันสำหรับทุกคนตอบโจทย์ใครมากที่สุด?
จะว่าไปแล้ว Well-topia ตอบโจทย์ทุกคนและทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในสังคมที่กำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างประเทศไทย แนวคิดนี้จะช่วยให้ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ยั่งยืนและมีสุขภาพดี โดยการออกแบบเมืองที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียวให้คนเดินออกกำลังกายง่ายขึ้น การออกแบบสถานที่ทำงานให้สามารถดูแลสุขภาพไปด้วย การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยในการติดตามสุขภาพ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้ชีวิตที่สมดุลและยั่งยืน เช่น การลดการใช้พลังงาน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
เมืองแบบไหนเรียก Well-topia
“อยู่ดีมีสุข” การมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายและใจ Good health and Well-being น่าจะสะท้อนแนวคิดเมืองแบบเรียกว่า Well-topia ได้ดีที่สุด
จะเป็นอย่างไร ถ้าเรามี “เมือง” ที่เอื้อให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายล้อมด้วยสภาพแวดล้อมที่ดี มีพื้นที่สีเขียว มีสวนสาธารณะ พื้นที่สำหรับเดินเล่น หรือพื้นที่ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้ง่าย มีอากาศที่สะอาด มีความปลอดภัย เข้าถึงการดูแลสุขภาพได้ง่าย ทั้งจากระบบการแพทย์ที่ทันสมัย และตอบสนองความต้องการพื้นฐาน ส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาวะที่ดีแบบรอบด้าน และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมและเข้าถึงได้ มีความมั่นคงทางอาหาร มีอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ เมืองที่เลือกใช้พลังงานสะอาด และระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ การใช้แอปพลิเคชันหรือเทคโนโลยีที่ช่วยตรวจสอบและจัดการสุขภาพให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
...นี่แหละหน้าตาของ “Well-topia: แดนสุขภาวะดี” พื้นที่สำหรับทุกคน เมืองยั่งยืนในอุดมคติ

“อยู่ดี มีสุข” ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแบบไหน?
แนวคิด “อยู่ดี มีสุข” แบบยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จะมุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงชีวิตที่ดีและมีความสุข โดยมีกลยุทธ์หลักในการพัฒนาเมืองและสังคมที่ยั่งยืน ดังนี้
- สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3) การส่งเสริมสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของผู้คนในสังคม ผ่านการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ดีและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
- การศึกษา (SDG 4) การสร้างโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในทุกวัย เพื่อให้บุคคลสามารถเติบโตและมีชีวิตที่มีคุณค่า
- ลดความยากจน (SDG 1) การลดความยากจนเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG 11) การออกแบบเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้พลังงานสะอาด การสร้างพื้นที่สาธารณะที่เป็นมิตรต่อผู้คน และส่งเสริมการมีชีวิตที่ยั่งยืน
- การลดความไม่เท่าเทียม (SDG 10) การสร้างความเท่าเทียมให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงสุขภาพที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ และสภาพแวดล้อมที่ดีในการดำเนินชีวิต
จะเห็นได้ว่า Well-topia ไม่ใช่แค่เมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในปัจจุบัน แต่ยังเป็นการสร้างสังคมที่ให้ความสำคัญกับการมีชีวิตที่ยั่งยืนและสุขภาวะที่ดีในระยะยาว พร้อมทั้งคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในอนาคต จะว่าไป “กรุงเทพมหานคร” ของเราทำได้ดีและมาถูกทางแล้ว