ถังขยะรีไซเคิล คือสิ่งที่เราเห็นบ่อยๆ แต่ที่ไม่ค่อยรู้ก็คือ ขยะเหล่านี้เอาไปทำอะไรได้บ้าง หรือสามารถนำไปผ่านกระบวนการอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ที่ลึกไปกว่านั้นคือนอกจากการ Recycle แล้ว ยังมี Upcycle และ Downcycle ในวงจรการจัดการวัสดุใช้แล้วและขยะ
Recycle-Upcycle-Downcycle ความเหมือนที่แตกต่างในการสร้างมูลค่าขยะ

Recycle คืออะไร?
รีไซเคิล คือการนำวัสดุที่เป็นขยะมาเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ได้อีก รวมถึงการตัดแต่งหรือปรับเปลี่ยนรูปทรงเพื่อให้กลับมาใช้งานในรูปแบบอื่น โดยคุณภาพของวัสดุนั้นยังเหมือนเดิม
ตัวอย่างการรีไซเคิล
- กระป๋องอะลูมิเนียม กระป๋องเครื่องดื่ม สามารถรีไซเคิลได้ 100% และคุณภาพดีเท่าเดิม โดยการหลอมกระป๋องให้เป็นอะลูมิเนียมแท่งและรีดจนแบนเพื่อวนกลับมาเกิดเป็นกระป๋องใบใหม่
- ขวดแก้ว โถแก้ว ขวดเครื่องดื่ม ขวดซอสปรุงรส สามารถรีไซเคิลได้ 100% โดยไม่มีการสูญเสียความบริสุทธิ์หรือคุณภาพในแก้ว ผ่านการหลอมแก้วแต่ละสีและขึ้นรูปเป็นขวดแก้วใหม่
...รู้หรือไม่? อะลูมิเนียมที่ผลิตได้ทั้งหมดประมาณ 75% ถูกวนกลับมาใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่พลาสติกที่ผลิตได้ทั่วโลก มีเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล

Upcycle คืออะไร?
อัปไซเคิล คือการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ หรือ Upgrade ขยะโดยใช้ไอเดียให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าหรือคุณภาพที่สูงขึ้น ซึ่งมาจากแนวคิดเรื่องการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Design หรือ Eco-Design) ผ่านการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ตัวอย่างการอัปไซเคิล
- ชุดเดรสของ “ลิซ่า” ที่ใส่ในงาน After Party ซึ่งทำจากฝาขวดน้ำเเละกล่องข้าวใสกว่า 1,800 ชิ้น โดยทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา และ เพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา จากแบรนด์ PIPATCHARA
- Freitag แบรนด์ที่ยืนหยัดในหลักการอัปไซเคิลมากว่า 31 ปี ซึ่งใช้ไอเดียเปลี่ยนผ้าใบเก่าคลุมรถบรรทุกเป็นกระเป๋าแนวสตรีทแฟชั่นหลายล้านใบ
- การสร้างประติมากรรมจากขยะของ เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินไทยสายรักษ์โลก ที่ท้าทายกรอบความคิดด้วยการเปลี่ยนเศษวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่า

Downcycle คืออะไร?
ดาวน์ไซเคิล คำนี้อาจไม่คุ้นหูนัก แต่มีอยู่จริงในวงจรการรีไซเคิล เป็นการแปลงวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็มีคุณภาพที่ลดลง แม้จะไม่ใช่การเพิ่มมูลค่า แต่ก็เป็นการนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำมาใช้ซ้ำ ที่ยืดอายุของสิ่งนั้นไม่ให้กลายเป็นขยะเร็วขึ้น ลดขยะไปยังหลุมฝังกลบ และลดการใช้ทรัพยากรใหม่
ตัวอย่างการดาวน์ไซเคิล
- พลาสติกส่วนใหญ่คือวัสดุที่จัดอยู่ในกลุ่ม Downcycle เนื่องจากพลาสติกมีหลายประเภทที่นำกลับมาใช้ได้ แต่เมื่อผ่านกระบวนการจะได้พลาสติกคุณภาพด้อยลง เช่น No.1 PET / PETE ,No.2 HDPE, No.4 LDPE, No.5 PP, No.6 PS
- กระดาษจัดเป็นการดาวน์ไซเคิล เพราะทุกครั้งที่ผ่านการนำกลับมาใช้ใหม่จะผ่านกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เส้นใยสั้นลง คุณภาพกระดาษลดลง
- การนำยางรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งานไปบดและผสมเคมีภัณฑ์ ทำเป็นพื้นสนามเด็กเล่น รวมถึงการนำไปผสมกับยางมะตอยเพื่อราดถนน

บทสรุปความต่าง Recycle-Upcycle-Downcycle
ทั้ง Recycle-Upcycle-Downcycle ต่างมีจุดประสงค์เดียวกันคือ เพื่อวนทรัพยากรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ใหม่ แต่ทั้ง 3 คำนี้แตกต่างกันที่กระบวนการคิด การแปรสภาพ และผลที่ได้
- Recycle (รีไซเคิล) เป็นการนำวัสดุไปแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่เรื่อยๆ คุณภาพเหมือนเดิม
- Upcycle (อัปไซเคิล) เป็นการใส่ไอเดียในวัสดุที่ไม่ใช้แล้วให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณค่า
- Downcycle (ดาวน์ไซเคิล) เป็นการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่เหมือนกัน แต่คุณภาพจะลดลงเรื่อยๆ
รู้แบบนี้แล้ว จะทิ้งขยะครั้งต่อไปก็ตั้งใจแยกขยะให้ถูกประเภท เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านั้นถูกวนกลับมาใช้ใหม่ เกิดการใช้ซ้ำ ลดการผลิตวัตถุดิบใหม่ ลดขยะไปยังหลุมฝังกลบ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และอยากชวนให้ทุกคนได้พิจารณาขยะทุกชิ้นก่อนทิ้งว่า...เราใช้มันอย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง?