สรรหา ‘จุฬาราชมนตรี’ คนที่ 19 (EP.1) 421 ปี 18 จุฬาราชมนตรี จากชีอะฮ์สู่ซุนหนี่

15 พ.ย. 2566 - 02:33

  • ย้อนมองความหลังจุฬาราชมนตรีตลอด 421 ปีกับ 18 จุฬาราชมนตรีในไทย

จุฬาราชมนตรี, อรุณ บุญชม, วิสุทธิ์ บินลาเต๊ะ, กอจ., อาศิส พิทักษ์คุมพล, คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด, ประวัติศาสตร์, กรุงรัตนโกสินทร์, กรุงศรีอยุธยา

22 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นวันประวัติศาสตร์ของพี่น้องชาวมุสลิมในประเทศไทยอีกครั้ง เพราะจะเป็นวันประชุมใหญ่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 40 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อลงมติสรรหาจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 ของประเทศไทย

“จุฬาราชมนตรี” ถือเป็นตำแหน่งผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย และเป็นตำแหน่งฝ่ายมุสลิมที่คอยให้ข้อปรึกษาด้านศาสนาอิสลามแก่รัฐบาลไทย โดยเฉพาะแก่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวัฒนธรรม

จึงไม่แปลกที่กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้ออกกฏกระทรวงเกี่ยวกับการสรรหาจุฬาราชมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะมานั่งเป็นประธานในการประชุมใหญ่เพื่อสรรหา “จุฬาราชมนตรี”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งปีนี้คือ อนุทิน ชาญวีรกูล ยังเป็นคนเสนอชื่อผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีด้วย

จุฬาราชมนตรี, เจ้าพระยาบวรราชนายก, เฉก อะหมัด
Photo: เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉก อะหมัด) ลำดับแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาจากที่มีบันทึกไว้

ต่างจากตำแหน่ง “สมเด็จพระสังฆราช” เพราะเป็นตำแหน่งประมุขของคณะสงฆ์ ที่ปัจจุบันสถาปนาโดยพระมหากษัตริย์ มิได้มาจากความเห็นชอบของที่ประชุมมหาเถรสมาคมเหมือนเมื่อก่อน

ตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ในอดีตก็เช่นกัน

เพราะเป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และมีประวัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2145 โดยปรากฏในทำเนียบศักดินาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ระบุในทำเนียบตำแหน่งขุนนาง เรียกว่า “กรมท่าขวา” มี “พระจุฬาราชมนตรี” เป็นหัวหน้าฝ่ายแขก รวมทั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่ไม่ปรากฏการบันทึกนามของจุฬาราชมนตรีในยุคนั้น

รายนามของจุฬาราชมนตรีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ถูกบันทึกไว้เพียง 4 ท่าน เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2145 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

จุฬาราชมนตรีที่ปรากฏนาม 4 ท่าน ตามลำดับ ดังนี้

  • เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉก อะหมัด)
  • พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว)
  • พระยาจุฬาราชมนตรี (สน)
  • พระยาจุฬาราชมนตรี (เซน)  เป็นจุฬาราชมนตรีท่านสุดท้ายในสมัยกรุงศรีอยุธยา

โดยทั้ง 4 ท่านเป็นมุสลิมนิกายชีอะฮ์

สมัยกรุงธนบุรี รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 15 ปี ไม่มีการบันทึกว่า มีการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยนี้

การแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี โดยพระมหากษัตริย์ ปรากฏอีกครั้งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีท่านแรก พร้อมๆ กับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ.2325 และดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาถึง 13 คน โดยทั้งหมดเป็นจุฬาราชมนตรี นิกายชีอะฮ์ และส่วนใหญ่เป็นคนในสายตระกูลเฉกอาหมัด

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และเป็นคนในสายสกุลเฉกอะหมัดที่นับถือนิกายชีอะฮ์มาตลอด มาเป็นแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น

จุฬาราชมนตรีท่านแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ แช่ม พรหมยงค์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฏร และเป็นคนใกล้ชิดของ ปรีดี พนมยงค์ โดยได้รับการแต่งตั้งในปี พ.ศ.2488 และเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 14 แต่เป็นจุฬาราชมนตรีนิกายสุหนี่ คนแรกของประเทศไทย

จุฬาราชมนตรี, แช่ม พรหมยงค์, ซัมซุดดีน มุสตาฟา
Photo: แช่ม พรหมยงค์ (ซัมซุดดีน มุสตาฟา)

สถานะของจุฬาราชมนตรี ในเวลานั้น ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาราชการขององค์พระมหากษัตริย์ ในด้านกิจการศาสนาอิสลาม 

นายแช่ม ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2488-2490 และพ้นจากตำแหน่งด้วยการลาออก เนื่องจากหลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ.2490 นายแช่มต้องลี้ภัยการเมืองไปพร้อมกับปรีดี พนมยงค์

ถัดจากแช่ม พรหมยงค์ คือ ต่วน สุวรรณศาสน์ หรือ อิสมาแอล ยะยาห์วี ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คนที่ 15 และเป็นจุฬาราชมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ตั้งแต่ปี 2490 จนถึงปี 2524

นายต่วนเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งของประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เชิญประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมาประชุมเพื่อเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่

ที่ประชุมลงมติเลือก ต่วน สุวรรณศาสน์ อาจารย์โรงเรียนอันยูมันอิสลามและประธานกรรมการอิสลามจังหวัดพระนครในขณะนั้น เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง

จุฬาราชมนตรี, ต่วน สุวรรณศาสน์
Photo: ต่วน สุวรรณศาสน์

ในสมัยของนายต่วน สถานะของจุฬาราชมนตรีเปลี่ยนจากการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาราชการขององค์พระมหากษัตริย์ในด้านกิจการอิสลาม มาเป็นที่ปรึกษาของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ.2491 ในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ผลงานที่สำคัญของนายต่วน คือ การสนับสนุนการแปลคัมภีร์อัลกุรอ่านเป็นภาษาไทย ผลงานแปลของท่านได้รับพระราชทานสนับสนุนจากในหลวง และต่อมาได้มีผู้แปลอัลกุรอ่านเป็นภาษาไทยอีกหลายสำนวน เช่น สำนวนของครูอิสมาอีล อะหมัด ปากพะยูน และสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ

นายต่วนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อรวมอายุได้ 93 ปี ศพของท่านฝังอยู่ที่มัสยิดฮารูน เขตบางรัก โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มาร่วมพิธีฝังศพของท่านด้วย

ถัดจากนายต่วน  คือ ประเสริฐ มะหะหมัด ซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 16 และเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 12 ของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 3 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

นายประเสริฐขึ้นดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี จากการคัดเลือกของที่ประชุมประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2524

จุฬาราชมนตรี, ประเสริฐ มะหะหมัด
Photo: ประเสริฐ มะหะหมัด (ซ้ายสุด)

นายประเสริฐถือเป็นจุฬาราชมนตรีที่มีบทบาทค่อนข้างสูงต่อความเปลี่ยนแปลง ในยุคของท่านมีการปรับปรุงการบริหารองค์กรอิสลามหลายอย่าง และผลักดันให้มีการออกพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 สำเร็จ

รวมถึงได้สร้างศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยสำนักงานจุฬาราชมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการศาสนาอิสลามอย่างเป็นการถาวร

นายประเสริฐ แม้จะเป็นกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และได้รับการคัดเลือกจากการประชุมประธานกรรมการอิสลามทุกจังหวัด ในฐานะตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร แต่นายประเสริฐได้รับการยอมรับว่า เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านปัตตานี

เนื่องจากครอบครัวของนายประเสริฐ เป็นหนึ่งในครอบครัวที่มีรกรากในเมืองปัตตานีก่อนจะเข้ามาตั้งชุมชนชาวมุสลิมในกรุงเทพฯ เมื่อครั้งสงครามระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองปัตตานี คนไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงให้ความเคารพนับถือนายประเสริฐเสมือนหนึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีที่เป็นตัวแทนของคนไทยมุสลิมในภาคใต้ โดยเฉพาะชาวเมืองปัตตานี

นายประเสริฐ ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรียาวนานถึง 15 ปี 10 เดือนกับ 23 วัน รองจาก ต่วน สุวรรณศาสน์ ที่ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีนานที่สุด คือ 34 ปี

หลังนายประเสริฐ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2540 เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะเป็นปีที่พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ฉบับ พ.ศ.2540 ที่บุกเบิกในสมัยนายประเสริฐ มีผลบังคับใช้

จุฬาราชมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย และเป็นจุฬาราชมนตรีท่านแรกที่ได้รับคัดเลือกตาม พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศสนาอิสลามฉบับนี้ คือ สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ หรือชื่อทางศาสนาว่า อะหมัด มะมูด ซัรกอรี

นายสวาสดิ์ เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่สอง ที่มีบทบาททางการเมืองมาก่อน ต่อจาก แช่ม พรหมยงค์ จุฬาราชมนตรีคนแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะราษฏรมาก่อน

จุฬาราชมนตรี, สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์
Photo: สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์

นายสวาสดิ์ เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดพระนคร (กทม.) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 2 สมัย ก่อนจะรับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีที่มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2540

อย่างไรก็ตาม นายสวาสดิ์เป็นจุฬาราชมนตรีท่านแรก ที่มีสถานะตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เปลี่ยนจากที่ปรึกษากรมการศาสนาในกิจการอิสลาม มาเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย และให้มีหน้าที่ที่ชัดเจนขึ้น คือ

  • ให้คำปรึกษา และความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
  • แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติศาสนาอิสลาม
  • ประกาศผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
  • ออกประกาศเกี่ยวกับวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
  • เป็นประธานอำนวยการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

กฎหมายฉบับนี้ ยังให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้เป็นกิจลักษณะ โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นประธานและกรรมการอื่นจากผู้แทนของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและกรรมการที่จุฬาราชมนตรีเสนอชื่อ โดยมีบทบาทในด้านการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม โดยมีสำนักจุฬาราชมนตรีทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของจุฬาราชมนตรี

สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 มีนาคม 2553 สิริอายุ 94 ปี และอยู่ในตำแหน่งจุฬาราชมนตรี 12 ปี 140 วัน

หลังจากนายสวัสดิ์ถึงแก่อนิจกรรม อาศิส พิทักษ์คุมพล ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา  ก็ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 และเป็นคนที่สองที่ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.นี้ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2553

จุฬาราชมนตรี, อาศิส พิทักษ์คุมพล
Photo: อาศิส พิทักษ์คุมพล

นายอาศิสยังเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกในรอบ 408 ปี นับจากปี พ.ศ.2145 ที่เป็นจุฬาราชมนตรีที่มาจากพื้นที่ภาคใต้ หากไม่นับรวม ประเสริฐ มะหะหมัด ที่มีเพียงเชื้อสายสุลต่านปัตตานีเท่านั้น

นายอาศิสยังเป็นจุฬาราชมนตรีที่ได้รับการคัดเลือกในห้วงเวลาที่สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางความคิด และความเชื่อทางศาสนา ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อต้นปี 2547

ปี 2553 สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีสถานการณ์ความรุนแรงต่อเนื่อง นายอาศิสจึงเป็นจุฬาราชมนตรีที่ได้รับการคาดหมายว่า จะมีบทบาทในการสร้างสันติสุข สร้างความสงบ และสร้างความเข้าใจระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมในพื้นที่ 

เพราะก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี นาอาศิสมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคณะกรรมการหลายคณะ เช่น

  • คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ
  • คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ตากใบ
  • คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา
  • สมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • ประธานคณะกรรมการการยุติธรรม ความเสมอภาค และความมั่นคง ในสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  • คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • ประธานคณะทำงานศึกษา รวบรวม จัดทำสภาพปัญหาการใช้กฎหมายอิสลาม สำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • คณะอนุกรรมการนโยบายและประสานงานกระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ประสานราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่นายอาศิสดำรงตำแหน่งได้เพียง 11 เดือน ก็ล้มป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2554 และเข้ารับการรักษาจนมีอาการที่ดีขึ้น ก่อนจะล้มอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2555 ทำให้กระดูกสะโพกเชิงกรานแตก และต้องเข้ารับการรักษาตัวอีกครั้ง

ทำให้ในช่วงต้นของการดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี นายอาศิสไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่จุฬาราชมนตรีได้อย่างเต็มที่ และไม่ได้เข้ามามีส่วนแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดังที่ตั้งใจไว้เช่นกัน

นายอาศิสได้หลั่งน้ำตาหลายครั้งในระหว่างทำหน้าที่จุฬาราชมนตรี เพราะไม่อาจแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวมุสลิมได้สมอย่างที่ตั้งใจไว้จากปัญหาสุขภาพ

กระนั้น แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์ 100% แต่ท่านก็ออกปฏิบัติหน้าที่ไม่เคยขาด โดยเฉพาะศาสนกิจที่สำคัญของพี่น้องชาวมุสลิม

วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2557 หลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นายอาศิสได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่หลังจากนั้นเพียง 5 วัน วันที่ 4 สิงหาคม 2557 ท่านก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่า ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำศาสนาอิสลามในไทยไม่สมควรรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง

นายอาศิส ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 หลังดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีได้ 13 ปี 139 วัน

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ผ่านไป 421 ปี กับ 18 จุฬาราชมนตรีของไทย ต้องติดตามว่า จุฬาราชมนตรีคนที่ 19 จะเป็นใคร บนเงื่อนไขการคัดเลือกของคณะกรรมการอิสสามประจำจังหวัด 40 จังหวัดทั่วประเทศ

จุฬาราชมนตรีคนที่ 19 ยังเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่จะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นคนแรกในรัชสมัยของรัชกาลปัจจุบันอีกด้วย

จุฬาราชมนตรี, อรุณ บุญชม, วิสุทธิ์ บินลาเต๊ะ, กอจ., อาศิส พิทักษ์คุมพล, คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
Photo: อรุณ บุญชม และดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ สองตัวเต็งจุฬาราชมนตรี คนที่ 19

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์