จากแม่น้ำแซน ถึงแม่น้ำกก โอกาสที่สองของสายน้ำ

9 ก.ค. 2568 - 02:42

  • โอกาสที่สองของ ‘แม่น้ำแซน’ คุณภาพชีวิตดีเพราะสิ่งแวดล้อมดีมีอยู่จริง!

  • จากแม่น้ำแซน ถึงแม่น้ำกก : น้ำใสในปารีส สารหนูในเชียงราย และแหล่งน้ำทั่วโลกที่กำลังจะตายเพราะขาดออกซิเจน

จากแม่น้ำแซน ถึงแม่น้ำกก โอกาสที่สองของสายน้ำ

สัปดาห์นี้ข่าวดีด้านสิ่งแวดล้อมที่สื่อดังต่างประเทศยกเครดิตให้ คือกรณีที่แม่น้ำแซนในกรุงปารีสของฝรั่งเศส ได้รับโอกาสที่สอง หลังชาวเมืองน้ำหอมรอเรื่องนี้มานานกว่าร้อยปี

ปารีส : โอกาสที่สองของแม่น้ำแซน

ฤดูร้อนปีนี้ในกรุงปารีสร้อนแรงกว่าที่เคย ไม่ใช่แค่จากอุณหภูมิ แต่เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 102 ปี ที่ผู้คนสามารถลงเล่นน้ำในแม่น้ำแซนได้อย่างถูกกฎหมาย ณ จุดเล่นน้ำ 3 แห่งกลางเมืองที่เปิดให้บริการฟรี (ตั้งแต่ 5 ก.ค.–31 ส.ค. 2025) พร้อมมีเจ้าหน้าที่ดูแล จุดเปลี่ยนชุด ห้องอาบน้ำ และระบบเตือนคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ที่เตือนสถานะน้ำด้วยธงเขียว–แดง

ทว่า เบื้องหลังความใสของแม่น้ำแซน คือการลงทุนมูลค่ากว่า 1,400 ล้านยูโร ในโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำ หนึ่งในผลพลอยได้จากโอลิมปิก ที่เปลี่ยนเมืองทั้งเมืองไปในทิศทางของ “เมืองยั่งยืน” ด้วยพิมพ์เขียวที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้จริง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็คุ้มค่ากับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว ที่ข้ามผ่านทั้งวิศวกรรม การเมือง และสำนึกของสังคม

ย้อนกลับไปในปี 1923 ทางการฝรั่งเศส ห้ามว่ายน้ำในแม่น้ำแซน เหตุจากระดับมลพิษที่สูงเกินรับได้ แหล่งน้ำเน่าเสียจากบ้านเรือน อุตสาหกรรม และระบบระบายน้ำที่ไม่ทันสมัย ทำให้แม่น้ำสายนี้ “หายใจไม่ออก”

กว่าร้อยปีผ่านไป ปารีสลงทุนสร้างระบบเก็บน้ำฝนใต้ดินขนาดมหึมา เปลี่ยนท่อระบายน้ำทั้งเมือง ปรับปรุงโรงบำบัด และติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพน้ำ เพื่อทำให้แม่น้ำแซนกลับมาใสสะอาด จนล่าสุดผ่านเกณฑ์ของยุโรป

sustainability-from-the-seine-to-kok-rivers-reclaimed-SPACEBAR-Photo01.jpg

ภาพการกระโดดน้ำที่มีฉากหลังเป็นหอไอเฟลแบบในปก จึงไม่ได้ชูแค่เรื่องการท่องเที่ยวหรือกีฬา แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่กล้าคิดและกล้าลงมือทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน แม้จะใช้เวลานานนับศตวรรษก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แม่น้ำแซนที่ว่ายน้ำได้ กลับตอกย้ำความเหลื่อมล้ำด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะขณะที่เมืองหนึ่งกำลังฉลองชัยจากความพยายามนานนับศตวรรษ แม่น้ำอีกสายในประเทศไทยอย่าง “แม่น้ำกก” “แม่น้ำโขง” กลับกำลังเผชิญปัญหาสารพิษที่รอวันแก้ไข ซึ่งขณะนี้ยังปราศจากการจัดการร่วมกันจากหลายประเทศ

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พบ “สารหนู” ในระดับเกินมาตรฐานในแม่น้ำกก และแม่น้ำโขงตอนบน โดยเฉพาะในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ–เชียงของ / Photo: Mekong River Commission
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พบ “สารหนู” ในระดับเกินมาตรฐานในแม่น้ำกก และแม่น้ำโขงตอนบน โดยเฉพาะในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ–เชียงของ / Photo: Mekong River Commission

ไทย : โอกาสที่สองของแม่น้ำกก

กลับมาที่ประเทศไทย วานนี้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) รายงานว่าพบ “สารหนู” ในระดับเกินมาตรฐานในแม่น้ำกก และแม่น้ำโขงตอนบน โดยเฉพาะในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ–เชียงของ

ล่าสุด ผลตรวจคุณภาพน้ำครั้งที่ 6 พบสารหนูทุกจุดตรวจในแม่น้ำกก-สาย-รวก-โขง พบว่าสารหนูกระจายตัวไปทั่วความยาว 151 กิโลเมตร กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคลากยาวไปถึงทะเลจีนใต้ โดยรายงานของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำกก และลำน้ำสาขา  แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขง ซึ่งเก็บตัวอย่างน้ำระหว่างวันที่ 23-27 มิถุนายน 2568 ดังนี้

“แม่น้ำกก” พบค่าเกินมาตรฐานฯ ทุกจุดตรวจวัด ตั้งแต่ชายแดนไทย-พม่า ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ จนถึงปลายน้ำกกที่บริเวณ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงรายอยู่ โดยอยู่ในช่วง 0.012- 0.038 มก./ล. (ค่ามาตรฐาน 0.01 มก./ล.)

“แม่น้ำสาย” พบค่าเกินมาตรฐานฯ ทุกจุดตรวจวัด โดยอยู่ในช่วง 0.017- 0.049 มก./ล.

“แม่น้ำรวก” พบค่าเกินมาตรฐานฯ ทุกจุดตรวจวัด โดยอยู่ในช่วง 0.014- 0.017 มก./ล.

“แม่น้ำโขง” พบค่าเกินมาตรฐานฯ ทุกจุดตรวจวัด โดยอยู่ในช่วง 0.020-0.025 มก./ล.

sustainability-from-the-seine-to-kok-rivers-reclaimed-SPACEBAR-Photo02.jpg

ประเด็นสำคัญคือ “ต้นตอมลพิษข้ามพรมแดน” จากเหมืองแร่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งความท้าทายคือหาก upstream ยังปล่อยออกมา แม้ไทยจะบำบัดฝั่งเราให้สะอาด มลพิษก็วนกลับมาที่เราอีกเช่นเดิม

สารหนูสะสมในระบบนิเวศและร่างกายมนุษย์เป็นเวลานาน การปนเปื้อนชั่วลูกชั่วหลาน จึงต้องใช้มาตรการระดับภูมิภาค ไม่ใช่แค่ระดับชาติ แม่น้ำกก ไม่ได้แย่เพราะมันเกิดมาแย่ แต่มันถูกทอดทิ้งให้เผชิญมลพิษจากต้นน้ำโดยไม่มีใครปกป้อง และการที่เป็นของร่วมกันของหลายประเทศจึงยากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะลงมือ

ดังนั้น โอกาสที่สองของแม่น้ำกกวันนี้...จึงยังคงริบหรี่

โอกาสที่สองโลก : ระดับออกซิเจนของแหล่งน้ำกำลังลดฮวบ

ในขณะที่บางเมืองสามารถคืนชีวิตให้แม่น้ำได้ งานวิจัยใหม่กลับเตือนเราว่าแหล่งน้ำทั่วโลกกำลังเข้าสู่ “ภาวะไร้ออกซิเจน” อย่างรวดเร็ว

งานวิจัยตีพิมพ์ใน Science Advances (2025) โดย Yibo Zhang นักภูมิศาสตร์และทีมงานจากสถาบัน Chinese Academy of Sciences (CAS) ของจีน ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมร่วมกับการศึกษาข้อมูลทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ เพื่อสร้างเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสูญเสียออกซิเจนเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ โดยพบว่า ทะเลสาบกว่า 80% จากทั้งหมด 15,535 แห่งที่ดำเนินการตรวจสอบนั้นมีระดับออกซิเจนที่ลดลง โดยมีแนวโน้มออกซิเจนละลายน้ำลดลงอย่างรวดเร็วระหว่างปี 1980–2017 ระดับออกซิเจนบนผิวน้ำลดลงเฉลี่ย 5.5% ใต้น้ำลึกลดลงถึง 18.6% ซึ่งแหล่งน้ำบางแห่งลดเร็วกว่ามหาสมุทรถึง 9 เท่า

นอกจากนี้ ในระหว่างปี 2003 ถึงปี 2023 ที่ผ่านมา ยังพบว่าทะเลสาบเหล่านี้ราว 85% มีจำนวนวันที่เกิดคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ความสามารถของออกซิเจนในการละลายน้ำลดลง

ต้นเหตุหลักคือ “ภาวะโลกร้อน” ที่ลดความสามารถของน้ำในการอมน้ำออกซิเจน (คิดเป็น ~55% ของการลดลง) คลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้น เพิ่มขึ้นระดับออกซิเจนลดลงทันทีถึง 7.7% เมื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิปกติ และ ภาวะ Eutrophication จากปุ๋ยที่ไหลลงแหล่งน้ำ ทำให้สาหร่ายบานสะพรั่ง และกักอากาศไว้ใต้น้ำต้นตอ “โซนมรณะ”

นี่ยังหมายถึงภัยคุกคามต่อพันธุ์สัตว์น้ำทั้งปลาและหอย ที่มีรายงานการตายหมู่ในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เยอรมนี ฯลฯ ซึ่งสะท้อนว่า “ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ของประเทศกำลังพัฒนา แต่เป็นภัยระดับโลก”

นักวิจัยจึงเตือนว่า หากไม่ลดมลพิษจากเกษตรและจำกัดผลกระทบจากโลกร้อน วันนี้ทะเลสาบทั่วโลกอาจสูญเสียออกซิเจนไปมากถึง 9% ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศ อุตสาหกรรมประมง และความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติ...ซึ่งหากแก้ไขไม่ทัน โอกาสที่สองมนุษย์โลกอาจรอแค่ปาฏิหาริย์

ความจริง โลกมีแม่น้ำหลายพันสาย แต่แม่น้ำที่ “ว่ายได้” และ “ดื่มได้” กำลังกลายเป็น “สิทธิพิเศษ” ในยุคโลกร้อน ซึ่งหากย้อนกลับไปตอนเด็กเรายังเล่นน้ำคลองได้อยู่เลย


วันนี้ “แม่น้ำแซน” กลายเป็นพื้นที่เล่นน้ำกลางเมืองวิวหอไอเฟล เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้คน พื้นที่แห่งความสุข สถานที่ออกกำลังกายและผ่อนคลาย ส่วน “แม่น้ำกก” หากไม่มีการฟื้นฟูและการเจรจาร่วมจากประเทศต้นน้ำ ชื่อนี้อาจกลายเป็นเพียงหัวข้อในรายงานวิชาการ ว่าด้วยการสะสมของสารพิษในระบบนิเวศ…อีกความเลวร้ายที่ไม่มีวันย้อนคืน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์