กะเทาะเปลือกความหลากหลาย รับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ

22 พ.ค. 2568 - 06:13

  • 22 พฤษภาคม: วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ชวนหยุดคิดและฟังเสียงของธรรมชาติอีกครั้ง

“ความหลากหลายทางชีวภาพ” อาจเหมือนคำวิชาการไกลตัว แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้อยู่รอบตัวเรา เพราะมันอยู่ในอาหารจานโปรดที่เรากิน อยู่ในอากาศที่เราหายใจ หรือแม้แต่ในต้นไม้หน้าบ้านที่เราเดินผ่านทุกวัน 

องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ” หรือ International Day for Biological Diversity เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ในปี 2535 และเพื่อรณรงค์ให้ประชาคมโลกเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน 

วันนี้ SPACEBAR ชวนมองให้ลึกลงไปมากกว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดที่เราคุ้นเคย ร่วมค้นหาความหลากหลายทางชีวภาพที่ซ่อนอยู่ พร้อมเชื่อมโยงทุกชีวิตบนโลกที่ประกอบด้วยรูปแบบต่างๆ ทั้งพันธุกรรม ชนิดพันธุ์ และระบบนิเวศ

sustainability-international-day-for-biological-diversity-SPACEBAR-Photo01.jpg
22 พฤษภาคม “วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ” หรือ International Day for Biological

แค่ไหนถึงเรียกว่า “หลากหลาย”?

คำตอบไม่ได้อยู่แค่ใน “จำนวน” แต่ซ่อนอยู่ใน “รูปแบบ ความแตกต่าง และความสัมพันธ์” โดยนักชีววิทยาได้แบ่งความหลากหลายทางชีวภาพออกเป็น 3 ระดับ ชนิดที่ต้องมองให้ลึกลงไปกว่าที่ตาเห็น ประกอบด้วย

1. ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ (Species Diversity)

นี่คือความหลากหลายที่เราคุ้นเคยที่สุด มีสัตว์กี่ชนิด? มีพืชกี่แบบ? ในป่าแห่งหนึ่งมีผีเสื้อ 100 ชนิด ดอกไม้ 80 ชนิด และนกอีก 50 ชนิด นี่คือความหลากหลายของชนิดพันธุ์ ยิ่งมีมาก ยิ่งมีสมดุล ยิ่งสะท้อนถึงระบบนิเวศที่แข็งแรง

ปัจจุบันมีสิ่งมีชีวิตประมาณ 8.7 ล้านชนิดบนโลก แต่มีเพียงประมาณ 1.2 ล้านชนิด เท่านั้นที่ได้รับการบันทึกและจำแนกอย่างเป็นทางการ

2. ความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic Diversity)

แม้จะเป็นพืชหรือสัตว์ชนิดเดียวกัน แต่ต่างสายพันธุ์ก็หมายถึงความหลากหลาย เช่น ข้าวหอมมะลิกับข้าวเหนียวก็คือ “ข้าว” เหมือนกัน แต่มีรหัสพันธุกรรมต่างกัน ความหลากหลายนี้ช่วยให้สิ่งมีชีวิตปรับตัวได้ดีต่อโรคภัยหรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป

รายงานปี 2019 ของ FAO ระบุว่ามากกว่า 25% ของพันธุ์สัตว์เลี้ยงพื้นเมืองมีความเสี่ยงสูญพันธุ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงและระบบเศรษฐกิจ

3. ความหลากหลายของระบบนิเวศ (Ecosystem Diversity)

โลกของเรามีหลายแบบแผนทางธรรมชาติ ป่าฝน ป่าชายเลน ทุ่งหญ้า ภูเขา หรือทะเลทราย ระบบนิเวศที่หลากหลายคือฐานรากของสิ่งมีชีวิตนับไม่ถ้วน และแต่ละแห่งก็มีบทบาทเฉพาะของตน เช่น ป่าชายเลนกรองน้ำเสีย ทุ่งหญ้าเป็นแหล่งหากินของสัตว์กินพืช ฯลฯ

รายงาน Global Forest Watch ปี 2024 เผยว่า โลกสูญเสียป่าฝนเขตร้อนถึง 6.7 ล้านเฮกตาร์ในปีเดียว ซึ่งเทียบเท่าพื้นที่ของประเทศปานามา

 

แล้วหลากหลายไปทำไม?

ความหลากหลายไม่ได้มีไว้แค่ให้โลกสวย แต่เป็นเครือข่ายชีวิตที่หล่อเลี้ยงมนุษย์ทุกคน ตั้งแต่อาหารที่กิน อากาศที่หายใจ ยาที่เราใช้รักษาโรค ไปจนถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น ผึ้งผสมเกสรให้พืชผล นกช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืช หรือป่าไม้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ

จากรายงาน Dasgupta Review ปี 2021 ระบุว่า บริการทางระบบนิเวศ (Ecosystem Services) ของธรรมชาติมีมูลค่ารวมเทียบเท่ามากกว่า 125 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่กลับไม่ได้สะท้อนอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกอย่างเหมาะสม

sustainability-international-day-for-biological-diversity-SPACEBAR-Photo02.jpg
องค์การสหประชาชาติเตือนว่า ในอีกไม่เกิน 30 ปี หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น สิ่งมีชีวิตกว่าร้อยละ 20 ทั่วโลกอาจสูญพันธุ์ถาวรไปตลอดกาล

แต่…ตอนนี้เรากำลังเสียอะไรไป?

องค์การสหประชาชาติเตือนว่า ในอีกไม่เกิน 30 ปี หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น สิ่งมีชีวิตกว่าร้อยละ 20 ทั่วโลกอาจสูญพันธุ์ถาวรไปตลอดกาล

รายงาน Living Planet Report 2022 โดย WWF ระบุว่า ประชากรสัตว์มีกระดูกสันหลังลดลงเฉลี่ย 69% ตั้งแต่ปี 1970 โดยเฉพาะสัตว์น้ำจืดที่ลดลงถึง 85% เป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด

ในเยอรมนีมีการศึกษาระยะยาวตั้งแต่ปี 1989-2016 พบว่าปริมาณแมลงบินในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติลดลงถึง 76% ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ต่อการผสมเกสรและห่วงโซ่อาหาร

ทั้งนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพอาจเป็นคำที่ดูยิ่งใหญ่ แต่การรักษามันไว้เริ่มต้นได้จากการกระทำเล็กๆ ย้อนไปดูและทำตามกันได้ใน ฮาวทูกู้โลกรวน  เช่น การเลือกบริโภคอาหารท้องถิ่น สนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ ใช้พื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างใส่ใจ หรือแม้แต่การตั้งคำถามว่า...เรากำลังใช้ทรัพยากรมากเกินไปหรือไม่?

หรือหากใครถ้าอยากเริ่มต้นง่ายๆ ลองไปดูสารคดีและภาพยนตร์ที่เล่าถึงความหลากหลายทางธรรมชาติอย่าง Breaking Boundaries: The Science of Our Planet (2021) ที่อธิบายขีดจำกัดของระบบนิเวศโลกผ่านสายตาของนักวิทยาศาสตร์ หรือดูกันแบบเพลินๆ กับ Koati (2021) ภาพยนตร์แอนิเมชันที่สื่อสารความงดงามของป่าฝนอเมริกากลาง ผ่านเรื่องราวของสัตว์ป่าหลากหลายชนิดในดินแดนสมมติ ที่บอกเลยว่าดูสนุกและเข้าใจง่ายทั้งครอบครัว

เราเชื่อเสมอว่า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การทำให้ครบ แต่คือ “การเริ่มลงมือทำ” เพราะธรรมชาติไม่ต้องการให้เราช่วยทั้งหมด แค่ไม่ทำร้ายเพิ่มก็เพียงพอแล้ว


เรื่องเด่นประจำสัปดาห์