ผ่า 4 แนวคิดเปลี่ยนกรุงเทพฯ สู่เมืองยั่งยืน พร้อมรับภัยพิบัติในทุกมิติ

7 ก.ค. 2568 - 11:54

  • ผ่าหลักคิด “Smart Enough City” เมืองอัจฉริยะอย่างพอดี เมืองที่ใช้เทคโนโลยีอย่างพอเหมาะ

  • Traffy Fondue กระดูกสันหลังของกรุงเทพมหานคร รับแจ้งปัญหากว่า 1 ล้านเรื่อง แก้ไขในระดับที่พึงพอใจมากถึง 81%

  • ทำความเข้าใจว่าทำไม “พื้นที่สีเขียว” จึงเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุด พร้อมกางแผนที่ความเสี่ยงของกรุงเทพฯ ผ่าน BMA Risk Map ตัวช่วยจัดการภัยพิบัติอย่างแม่นยำ

ผ่า 4 แนวคิดเปลี่ยนกรุงเทพฯ สู่เมืองยั่งยืน พร้อมรับภัยพิบัติในทุกมิติ

กรุงเทพมหานครในวันนี้ไม่ได้มุ่งหน้าเพียงแค่สู่การเป็น Smart City แบบล้ำยุค แต่กำลังวางรากฐานให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืนและเข้าใจมนุษย์ ตามแนวคิดของ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ได้ถ่ายทอดแนวทางเหล่านี้อย่างชัดเจนในเวที SITE2025 หรือ STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2025 กับการบรรยายในหัวข้อ “Designing Sustainable Cities for Disaster” เจาะลึกแนวคิดการพัฒนา กรุงเทพฯ สู่เมืองอัจฉริยะ จากบทเรียนสำคัญของวิกฤตธรรมชาติและภัยคุกคามในเมืองใหญ่

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บเวที SITE2025
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บเวที SITE2025

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครย้ำชัดว่า กรุงเทพมหานครไม่ได้มุ่งเป้าเป็นเพียง “Smart City”  แต่จะเป็น “Smart Enough City” คือเป็นเมืองที่ “พอดี” ซึ่งให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนในเมือง ไม่ใช่การถล่มทลายด้วยเทคโนโลยีจนผู้คนอยู่อาศัยได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนบางกลุ่มที่อาจมีปัญหาในการเข้าถึง

และนี่คือ 4 ประเด็นหลักที่ชี้ให้เห็นว่า เมืองหลวงของไทยกำลังเปลี่ยนแปลงแบบมีเป้าหมายที่ยั่งยืนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

1. เทคโนโลยีที่ใช่ ต้องเข้าใจคน และใช้งานได้จริง

ในวันที่เมืองใหญ่พึ่งพาข้อมูลและเครื่องมือดิจิทัล เทคโนโลยีไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงนวัตกรรม แต่ควรเป็น “เครื่องมือเพื่อชีวิต”

ตัวอย่างเช่น ระบบ Seis Monitor (ระบบตรวจจับการสั่นไหว) ที่ติดตั้งในอาคารสำคัญ เช่น ศาลาว่าการกรุงเทพฯ เพื่อจับแรงสั่นไหวแบบเรียลไทม์ เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ไม่เพียงแค่ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย แต่ยังสะท้อนถึงความเข้าใจในสภาพแวดล้อมของเมืองที่มีโครงสร้างซับซ้อนและประชากรหนาแน่น

ภาพ1.jpg

Traffy Fondue กระดูกสันหลังของกรุงเทพมหานคร กับการใช้แพลตฟอร์มแจ้งปัญหาเป็นอีกตัวอย่างของการนำ “เทคโนโลยีที่เข้าใจประชาชน” มาใช้อย่างได้ผล ปัจจุบันมีกว่า 1 ล้านปัญหาถูกแจ้งเข้าแพลตฟอร์ม และได้รับการแก้ไขในระดับที่พึงพอใจมากถึง 81% สะท้อนถึงการจัดการแบบบูรณาการที่ไม่รอให้ปัญหาเดินมาหา แต่เริ่มแก้ตั้งแต่รับรู้

“ไม่มีใครเป็นซูเปอร์แมนเวลาวิกฤตเกิดขึ้น การบริหารจัดการวิกฤตไม่ควรขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยทุนเดิมที่วางระบบไว้ก่อนแล้วอย่างรัดกุม Traffy Fondue ทำให้กรุงเทพมหานครไม่ต้องรอให้ปัญหาเดินมาถึง แต่สามารถเชื่อมโยงกับภาคประชาชนเพื่อรับรู้และลงมือแก้ไขได้ทันท่วงทีแบบเรียลไทม์”

รศ.ดร.ทวิดา กล่าวย้ำ

ภาพ3.jpg

2. พื้นที่สีเขียว เกราะธรรมชาติที่ช่วยเมืองหายใจ

ความยั่งยืนไม่ได้เกิดจากเหล็กและคอนกรีต แต่อยู่ในใบไม้และรากไม้ที่ถูกเลือกปลูกอย่างมีแผน “กรุงเทพฯ ไม่ได้ปลูกต้นไม้เพียงเพื่อความสวยงาม” รศ.ดร.ทวิดา เน้นย้ำ แต่ปลูกเพื่อต่อสู้กับฝุ่น PM 2.5 และลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม

การคัดเลือกชนิดไม้ตามลักษณะใบเพื่อลดฝุ่น และใช้แอสฟัลต์รูพรุน (Porus Asphalt) ที่เอื้อต่อการดูดซับน้ำและไม่ทำลายรากต้นไม้ คือการออกแบบเชิงระบบที่ไม่เพียงแค่ปลูก แต่คิดลึกถึงผลกระทบระยะยาว และเปลี่ยนโครงสร้างเมืองให้มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติแบบยั่งยืน

4-key-ideas-to-transform-bangkok-into-a-resilient-and-sustainable-city-SPACEBAR-Photo02.jpg

3. ข้อมูล = พลังในการบริหารเมืองเชิงรุก

“ความพร้อมรับภัย ไม่ใช่แค่เรื่องของการคาดเดา แต่คือเรื่องของข้อมูล” นี่คือหลักคิดของระบบ BMA Risk Map หรือแผนที่ความเสี่ยงของกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้เป็นเพียงกราฟิกสวยงาม้อาไว้ดู แต่เป็นฐานข้อมูลที่ช่วยคาดการณ์และจัดการภัยพิบัติ 10 ประเภทอย่างมีเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟไหม้ ภัยแล้ว ฝุ่น PM2.5 โรคระบาด หรืออุบัติเหตุทางถนน

แผนที่นี้ยังแสดงตำแหน่งของถังดับเพลิงกว่า 74,000 จุด และจุดเสี่ยงทางโครงสร้าง เพื่อให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลแบบโปร่งใส เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่

4. ความร่วมมือคือหัวใจของเมืองที่ยั่งยืน

กรุงเทพฯ ไม่สามารถยืนหยัดได้ด้วยภาครัฐเพียงลำพัง รศ.ดร.ทวิดา กล่าวถึงแนวคิดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ยึดหลัก “4 เกลียว” ได้แก่ความร่วมมือจากภาครัฐ (Public) ภาคเอกชน (Private) ภาคประชาชน (People) และภาควิชาการ (Academia) ที่ต้องผสานความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์เข้าด้วยกัน

หนึ่งในตัวอย่างของ Social Innovation หรือนวัตกรรมทางสังคม คือความร่วมมือของ Airbnb.org ที่จัดหาที่พักสำหรับผู้ประสบภัยกว่า 8,451 คืน เครือข่ายวิศวกรอาสา ที่ช่วยกลั่นกรองภาพรอยร้าวจากแผ่นดินไหว หรือ สีเบเยอร์ ที่ใช้นวัตกรรมสีหน่วงไฟมาทาให้ศูนย์ดูแลเด็กก่อนเข้าเรียน จะเห็นได้ว่าทุกภาคส่วนล้วนมีบทบาท และเมื่อวิกฤตมาเยือน เมืองที่วางระบบไว้ดี มีข้อมูลชัด และประชาชนมั่นใจ ย่อมฟื้นตัวได้เร็วกว่า

ดังนั้น เมืองยั่งยืนจึงไม่ใช่เมืองที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำยุค แต่คือเมืองที่รู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างพอดี พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลกับความไว้ใจ และประสานพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อปกป้องทุกชีวิตในเมืองอย่างเท่าเทียม

วันนี้กรุงเทพฯ กำลังเดินหน้าสู่การเป็น “City of Life”  บนพื้นฐาน “Smart Enough City” ที่ไม่เพียงแค่รับมือภัยพิบัติได้ แต่ยังสร้างคุณภาพชีวิตที่มั่นคงและสมดุลอย่างยั่งยืนได้ในทุกวันก่อนที่วิกฤติหรือภัยจะมาถึง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์