จากรายงานดัชนีประสิทธิภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Performance Index 2025: CCPI) ปี 2025 ที่เผยแพร่ในการประชุม COP29 เผยผลการติดตามความพยายามในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ 63 ประเทศ และสหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกมากกว่า 90% มีประเด็นสำคัญและบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ ดังนี้
เมื่อความสามารถในการรับมือกับโลกร้อน คือภาพสะท้อนความล้มเหลวของโลก
ปี 2025 ไม่มีประเทศใดผ่านเกณฑ์ “ดีมาก”

จากการจัดอันดับโลกล่าสุดปรากฏว่าอันดับ 1-3 ของโลกยังคงว่างเปล่า แสดงให้เห็นว่าไม่มีประเทศใดดำเนินการอย่างรอบด้านเพียงพอต่อเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5°C ตามข้อตกลงปารีส แม้จะมีบางประเทศที่มีความคืบหน้า เช่น เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร แต่ก็ยังมีจุดอ่อนในบางด้าน เช่น พลังงานหมุนเวียนหรือการที่ยังคงต้องพึ่งพาพลังงานซอสซิล

สำหรับ Climate Change Performance Index 2025 ใช้เกณฑ์มาตรฐานโดยพิจารณาองค์ประกอบใน 4 หมวดหมู่ 14 ตัวบ่งชี้ เพื่อประเมินความคืบหน้าของประเทศต่างๆ ในการนำนโยบายไปปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ประกอบด้วย
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40%
- พลังงานหมุนเวียน 20%
- การใช้พลังงาน 20%
- นโยบายด้านสภาพอากาศ 20%
เจ้าแห่งน้ำมันรั้งท้ายตาราง
สำหรับประเทศที่ล้มเหลวที่สุดในโลกด้านความสามารถรับมือโลกร้อน โดยมีการดำเนินการน้อยที่สุด และยังเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของโลกจากการจัดอันดับ CCPI 2025 ได้แก่
- อิหร่าน อันดับที่ 67
- ซาอุดีอาระเบีย อันดับที่ 66
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อันดับที่ 65
- รัสเซีย อันดับที่ 64
ทั้งนี้ ประเทศเหล่านี้ยังคงพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่างหนัก ขาดนโยบายสภาพภูมิอากาศที่จริงจัง และไม่มีการลงทุนอย่างเพียงพอในพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและการขาดเจตจำนงทางการเมืองในการปรับเปลี่ยนระบบพลังงานเพื่อความยั่งยืน

ประเทศใหญ่กลับมีความคืบหน้าน้อย
จากการจัดอันดับ CCPI 2025 ล่าสุด พบหลายประเทศยังคงมีความก้าวหน้าเล็กน้อยในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ แม้จะเป็นประเทศมหาอำนาจโลก อาทิ
- เกาหลีใต้ อันดับที่ 63
- แคนาดา อันดับที่ 62
- คาซัคสถาน อันดับที่ 61
- จีน, ไทเป อันดับที่ 60
- อาร์เจนตินา อันดับที่ 59
- ญี่ปุ่น อันดับที่ 58
- สหรัฐฯ อันดับที่ 57

ประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับโลกร้อนมากที่สุดในโลก
แม้ว่า 3 อันดับแรกของโลกยังคงว่างเปล่า เนื่องจากไม่มีประเทศใดที่ทำผลงานตามเกณฑ์ แต่ยังมีหลายประเทศที่ความพยายามเป็นผล อาทิ
- เดนมาร์ก อันดับที่ 4
- เนเธอร์แลนด์ อันดับที่ 5
- สหราชอาณาจักร อันดับที่ 6
- ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 7
- โมรอกโก อันดับที่ 8
- นอร์เวย์ อันดับที่ 9
- อินเดีย อันดับที่ 10
ด้วยนโยบายสภาพภูมิอากาศที่แข็งแกร่งและผลงานที่ดีในการลดการปล่อยก๊าซส่งผลให้ “เดนมาร์ก” เป็นผู้นำในการจัดอันดับ ขณะที่ “สหราชอาณาจักร” ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 6 จากนโยบายการเลิกใช้ถ่านหินและการยืนยันไม่ออกใบอนุญาตการขุดเจาะฟอสซิลใหม่ ส่วน “อินเดีย” ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 3 ของโลก ยังคงเกาะกลุ่ม 10 อันดับหัวตารางซึ่งนับว่าเป็นผลงานที่น่าประทับใจ

วิเคราะห์สถานการณ์ของประเทศไทย ในอันดับที่ 24
สำหรับประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่ม “ระดับปานกลาง” ซึ่งหมายความว่าแม้จะมีแนวนโยบายที่ชัดเจน แต่การปฏิบัติจริงและระดับการดำเนินการยังไม่เพียงพอ และต้องเร่งรัดมากขึ้นและมีบทบาทมากขึ้นในเวทีสากล
โดยจุดแข็งของไทย คือเริ่มมีนโยบายระยะยาว เช่น ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนพลังงานแห่งชาติ ส่งเสริมการใช้ EV และทดลองระบบซื้อขายไฟฟ้าหมุนเวียน พร้อมมีเป้าหมาย Net Zero ปี 2065 และ Carbon Neutrality ปี 2050 ส่วนจุดอ่อน อาทิ สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนยังต่ำ นโยบายด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศยังไม่เข้มข้น และภาคพลังงานยังปล่อยคาร์บอนสูงมาก
ความท้าทายระดับโลกและแนวโน้ม
จีน – การขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนในระดับมหาศาล ส่งสัญญาณถึงทั่วโลก
จีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก อยู่ในอันดับที่ 55 ของดัชนี CCPI ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่มีคะแนน “ต่ำมาก” แม้ว่าจะมีแผนและมาตรการหลายอย่าง แต่จีนยังคงพึ่งพาถ่านหินอย่างหนัก และยังขาดเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจนเพียงพอ อย่างไรก็ตาม เรากำลังเห็นการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการปล่อยก๊าซของจีนดูเหมือนจะเริ่มถึงจุดสูงสุดแล้ว
สหรัฐฯ – อันดับ 57 ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่ทำได้ “แย่”
สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อันดับสองของโลก ยังคงอยู่ในอันดับที่ 57 ของ CCPI และอยู่ในกลุ่ม “ต่ำมาก” และผลจากการตัดสินใจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังมีบทบาทชี้ขาดต่อแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ในอีกหลายปีข้างหน้า
กลุ่ม G20 – ส่วนใหญ่ยังคงทำได้ “ไม่ดี”
จากกลุ่มประเทศ G20 มีเพียง สหราชอาณาจักรและอินเดีย (อันดับ 10) เท่านั้นที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ทำได้ดี ในขณะที่ประเทศสมาชิก G20 ถึง 14 ประเทศ ได้รับคะแนน “ต่ำ” หรือ “ต่ำมาก” โดยกลุ่ม G20 มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการลดการปล่อยก๊าซอย่างรวดเร็ว เพราะกลุ่มนี้คิดเป็นมากกว่า 75% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ขณะที่รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และเกาหลีใต้ (อันดับ 63) ยังคงเป็นประเทศที่ทำได้แย่ที่สุดในกลุ่ม G20
สหภาพยุโรป – นโยบาย Green Deal เริ่มเห็นผล
ด้วยการที่ เดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์ อยู่ในกลุ่มบนของดัชนี ทำให้ สหภาพยุโรปโดยรวม (อันดับ 17) อยู่ในกลุ่ม “กลางค่อนไปทางสูง” ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 16 ประเทศ อยู่ในกลุ่มที่ทำได้ “ดี” หรือ“ปานกลาง” และ ไม่ปรากฏว่ามีประเทศใดได้รับคะแนน “ต่ำมาก” ซึ่งถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับรายงานฉบับก่อนหน้า
ทั้งนี้ แม้ 61 จากทั้งหมด 63 ประเทศและสหภาพยุโรป จะเพิ่มพลังงานหมุนเวียน แต่ต้องยอมรับว่าในทางปฏิบัติแล้วหลายประเทศยังไม่สามารถลดการพึ่งพาฟอสซิลได้จริงตามที่ตั้งเป้าไว้ และยังคงเผชิญกับความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สรุปแล้วดัชนี CCPI ปี 2025 เป็นสัญญาณเตือนว่าโลกยังคงล้มเหลวในการรับมือวิกฤตโลกร้อนอย่างจริงจัง แม้ไทยจะมีความพยายามชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในขั้น “พอใช้” เท่านั้น ทั้งนี้ การปรับทิศทางเชิงนโยบายและการปฏิบัติให้เด็ดขาดและรวดเร็วเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
>> เปิดรายชื่อประเทศเตรียมรับความเสี่ยงที่สุดในระยะยาวจากผลพวงของภาวะโลกเดือด Climate Risk Index 2025 จากการจัดอันดับผลกระทบโลกร้อน ไทยสัญญาณดี หนีจากอันดับ 9 ขึ้นมาที่ 30