ในความทรงจำของคนรุ่นก่อน “น้ำฝน” เป็นแหล่งน้ำดื่มที่สะอาด สดชื่น เมื่อฝนต้นฤดูโปรยลงมา ภาชนะดินเผา โอ่งมังกร กระทั่งกะละมังและถังพลาสติก ถูกวางเรียงรายเพื่อรองรับ “ของขวัญจากท้องฟ้า” มาใช้ดื่ม ใช้ทำอาหาร และล้างหน้าได้อย่างวางใจ
“น้ำฝน” จึงถือเป็นสิ่งมีค่า โดยเฉพาะในชนบทที่ไม่มีระบบประปาเข้าถึง แต่ในวันนี้น้ำฝนที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์กลับต้องเผชิญกับคำถามว่า “เรายังสามารถดื่มน้ำฝนได้อย่างปลอดภัยหรือไม่?”
แม้น้ำฝนจะยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรน้ำที่มีความสำคัญ แต่การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งจากอุตสาหกรรม สารเคมี และมลพิษทางอากาศ ได้เปลี่ยนน้ำฝนจาก “ของขวัญจากธรรมชาติ” ให้ไปสู่ “พาหะของมลพิษยุคใหม่” กลายเป็นตัวกลางกระจายมลพิษระดับนาโนที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่ว่าจะเป็นไมโครพลาสติก สารเคมีประเภท PFAS (สารเคมีอมตะ) หรือแม้แต่ PM2.5 ที่เคยถูกมองว่าเป็นปัญหาของอากาศ แต่บัดนี้อาจกลายเป็นปัญหาของน้ำด้วยเช่นกัน
ไมโครพลาสติก: มลพิษขนาดเล็กที่ไหลมากับฝน
การศึกษาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มชี้ให้เห็นว่า “น้ำฝน” ไม่ใช่แค่ส่วนประกอบที่มีแค่ “น้ำ” อีกต่อไป แต่มันเต็มไปด้วยเศษพลาสติกขนาดจิ๋วที่สามารถเดินทางได้ไกลและตกลงมากับหยาดฝน งานวิจัยของมหาวิทยาลัย IIT Patna ประเทศอินเดีย พบว่าในช่วงฤดูมรสุม ไมโครพลาสติกตกลงมากับน้ำฝนมากถึง 1,959 ชิ้นต่อตารางเมตรต่อวันในเขตเมือง มากกว่าพื้นที่ชนบทที่ตรวจพบ 1,320 ชิ้นต่อตารางเมตรต่อวัน
ไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่ปนเปื้อน และงานวิจัยจากหลายสถาบัน เช่น Harvard และ WHO เริ่มตั้งคำถามถึงผลกระทบในระยะยาว เช่น การอักเสบเรื้อรัง ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือแม้แต่ผลต่อระบบสืบพันธุ์

เชื่อหรือไม่
- แทบทุกที่บนโลกมี “ไมโครพลาสติก” ไม่เว้นแม้แต่บนยอดเขาเอเวอเรสต์ ณ ความสูง 8,440 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
- กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง พบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในตะกอนดินบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง นั่นแปลว่า “มันอยู่บนดินที่เราเหยียบ”
- โดยเฉลี่ยแล้วเรากินไมโครพลาสติก 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือ 240 กรัมต่อปี เทียบเท่ากับเขมือบบัตรเครดิต 1 ใบเต็มๆ ทุกปีและอาจเพิ่มขึ้นทุกขณะ
อ่านต่อใน >> ฮาวทูกู้โลกรวน - วิธีที่ 6: Think ก่อนทิ้ง (หยุดส่งมรดก “ไมโครพลาสติก” ให้คนรุ่นหลัง)
PFAS: สารเคมีที่ไม่มีวันสลาย
อีกหนึ่งภัยคุกคามที่ถูกขนานนามว่า “สารเคมีอมตะ” หรือ PFAS (Per- and Polyfluoroalkyl Substances) มีความสามารถในการทนทานต่อการย่อยสลายทางเคมีและชีวภาพสูง จึงสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน และเริ่มพบในแหล่งน้ำฝนในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงในประเทศพัฒนาแล้ว และงานวิจัยล่าสุดพบสารเคมีอมตะในไวน์ยุโรปผลิตหลังปี 2010 สูงกว่าน้ำดื่มถึง 100 เท่า
มีการศึกษาโดยทีมวิจัยจาก University of Stockholm พบว่า แม้แต่น้ำฝนในพื้นที่ห่างไกลอย่างแอนตาร์กติกา ก็ยังตรวจพบ PFAS ในระดับที่เกินเกณฑ์ความปลอดภัยของ EPA (Environmental Protection Agency) ของสหรัฐฯ (Cousins et al., 2022, Environmental Science & Technology) ผลกระทบของ PFAS ต่อสุขภาพมีมากมาย ตั้งแต่การทำงานของตับผิดปกติ ไปจนถึงความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด การสะสมของ PFAS ในน้ำฝนจึงเป็นประเด็นที่ต้องได้รับความสนใจอย่างเร่งด่วน
PM2.5 และสารมลพิษในอากาศ: ไม่ใช่แค่ปัญหาการหายใจ
ฝุ่นละออง PM2.5 ที่มักเป็นปัญหาในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ยังสามารถเกาะตัวและตกลงมากับเม็ดฝน กลายเป็นมลพิษทางน้ำได้เช่นกัน การศึกษาของ Royal Meteorological Society ระบุว่าการตกของฝนสามารถชะล้างอนุภาคในอากาศลงมาสู่พื้นผิว ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า Washout หรือ Wet deposition อย่างไรก็ตาม หากฝุ่นเหล่านั้นปนเปื้อนโลหะหนักหรือสารพิษอื่น ๆ น้ำฝนที่ตกลงมาอาจกลายเป็นตัวพาเข้าสู่ดินและแหล่งน้ำ

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร
ผลกระทบจากมลพิษในน้ำฝน ไม่ได้จำกัดอยู่ที่น้ำดื่มเท่านั้น การสะสมของไมโครพลาสติกและสารเคมีในดินที่ใช้เพาะปลูก รวมถึงในแหล่งน้ำธรรมชาติ อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์น้ำ สะเทือนต่อห่วงโซ่อาหารและความมั่นคงทางอาหารโดยรวม
รายงานของ FAO ในปี 2021 ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำทั่วโลกจากมลพิษอุตสาหกรรมและขยะพลาสติก ส่งผลต่อผลผลิตเกษตรกรรมในหลายประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พึ่งพาการใช้น้ำฝนหรือแหล่งน้ำผิวดินเป็นหลัก
ทำอย่างไรให้ “ของขวัญจากฟ้า” ยังน่าอภิรมย์
ในระดับบุคคล การเก็บน้ำฝนยังสามารถทำได้หากมีการจัดการที่ดี เช่น การกรองผ่านระบบที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กและสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบกรองแบบ Reverse Osmosis (RO) หรือ Activated Carbon ที่ผ่านมาตรฐาน
ทางด้านกรมอนามัย กระทรวงสาธารสุข แนะนำประชาชนในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในพื้นที่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งมลพิษ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำฝนเพื่อดื่ม หากจำเป็นต้องใช้ ควรทำความสะอาดรางน้ำ หลังคา และภาชนะเก็บน้ำให้สะอาด พร้อมปล่อยให้น้ำฝนล้างสิ่งสกปรกก่อนเริ่มเก็บ
จากข้อมูลปี ค.ศ. 2021 พบว่า มีเพียงร้อยละ 29.4 ของน้ำฝนที่เก็บในครัวเรือนผ่านเกณฑ์มาตรฐานบริโภค โดยส่วนใหญ่พบการปนเปื้อนแบคทีเรีย กรมอนามัยย้ำว่า ก่อนดื่มน้ำฝนควร “ต้มน้ำให้เดือดอย่างน้อย 1 นาที” เพื่อความปลอดภัย ลดความเสี่ยงโรคทางเดินอาหาร
ในระดับนโยบาย รัฐควรให้ความสำคัญกับการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยเฉพาะขยะพลาสติกและการใช้สารเคมีอุตสาหกรรมที่อาจแพร่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศและฝน ควบคู่กับการส่งเสริมงานวิจัยในเชิงลึกเกี่ยวกับการปนเปื้อนในน้ำฝนและสุขภาพระยะยาวของประชาชน นอกจากนี้ การมีฐานข้อมูลน้ำฝนที่ตรวจสอบคุณภาพเป็นประจำ และเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างโปร่งใส จะช่วยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนและทันสมัย
ปี 2025 “น้ำฝน” ที่เคยเป็นของขวัญจากธรรมชาติอาจไม่ปลอดภัยเหมือนเดิมในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยมลพิษขนาดจิ๋วที่เรามองไม่เห็น การดื่มน้ำฝนจึงกลายเป็นการตัดสินใจที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่เรื่องของความสะอาด แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างทางนิเวศน์ เศรษฐกิจ และสุขภาพของเราทุกคน