อ่าน 'คดีป้าบัวผัน' ถอดบทเรียนใหญ่ 'การศึกษาไทย'

18 มกราคม 2567 - 04:14

Thai-Education-and-Youth-Crimes-SPACEBAR-Hero.jpg
  • วิพากษ์การก่อเหตุของกลุ่มวัยรุ่น กรณีฆาตกรรม 'ป้าบัวขวัญ' พร้อมถอดบทเรียนวงการศึกษาไทย กับ ‘ปารมี ไวจงเจริญ’ และ 'ธนวรรธน์ สุวรรณปาล'

 จะชำแหละประเด็นร้อน กรณีการเสียชีวิตของ ‘ป้าบัวผัน’ เป็นอะไรที่ต้องละเอียดละอ่อน เพราะสายธารความขุ่นเคืองของสังคม ที่มีต่อผู้ก่อเหตุ กลุ่มเยาวชนทั้ง 5 คน ยังอยู่ในอุณหภูมิสูง มิหนำซ้ำ หนึ่งในนั้นยังเป็น ‘ลูกคนมีสี’ มีบิดาดำรงตำแหน่งผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ทำให้จุดโฟกัสมุ่งไปยังปมจับแพะ ‘ลุงเปี๊ยก’ ขยายวงไปถึงการข้อเสนอข้อเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายเอาผิดเยาวชน (ความเป็นไปได้แก้โทษอาญาเยาวชน โยงคดีฆาตกรรม ‘ป้าบัวผัน’

หนทางยับยั้งปัญหา และป้องกันเหตุในอนาคต จึงจำต้องสังเคราะห์เรื่องราวในทุกๆ มิติ อย่าง เรื่องมุมมองของผู้ก่อเหตุ และคนบางกลุ่มที่มีต่อคนเร่ร่อน ('คนไร้บ้าน' คือมนุษย์ ไม่ใช่ 'วัตถุไร้หัวใจ') เชื่ออย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้า 

และเมื่อผู้ก่อเหตุเป็น ‘เด็ก’ ที่มีอายุยังอยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับ (มัธยมศึกษาตอนต้น) เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ใน - นอกห้องเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงชวนบุคลากรด้านการศึกษา ช่วยวิพากษ์เหตุการณ์ และสังเคราะห์ระบอบของโรงเรียน ที่จะนำไปสู่การยับยั้งการก่ออาชญกรรมของเยาวชน 

“กรณีป้าบัวผัน เกี่ยวข้องกับปัญหาหลายมิติในสังคมไทย หนึ่งในนั้นคือเรื่องการศึกษา เพราะเยาวชนกลุ่มนี้อายุยังน้อย ควรอยู่ในระบบที่เหมาะสม ดังนั้นเราจำเป็นต้องตั้งคำถามต่อ ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดการหล่อหลอมพฤติกรรมแบบนี้ขึ้นมาได้ หรือจริงๆ แล้วหน่วยงานด้านการศึกษาและสังคม จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในบ้างมิติ เพื่อยับยั้งเหตุในอนาคตหรือไม่” 

เป็นคำตอบแบบพ่วงคำถามของ ‘ปารมี ไวจงเจริญ’ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้มีปูมหลังเป็นคุณครูวิชาชีพ จบตรงสายด้านการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษา ปารมียอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหมาดๆ ในจังหวัดสระแก้ว ทำให้ต้องนึกถึงกรณีการกราดยิงที่ห้างพารากอน ดังนั้นจึงอยากให้สังคมไทยมองเรื่องนี้ให้กว้าง ทั้งระดับปัจเจกและภาพรวมของเรื่องราว เพราะทุกอย่างล้วนเกี่ยวพันกันหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะ โครงสร้างการเมือง การศึกษา สถาบันครอบครัว เพื่อน สื่อต่างๆ และสังคมรอบข้าง 

อย่างประเด็นด้านการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับภูมิภาค และส่วนกลาง จำเป็นต้องถอดบทเรียนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ว่าอะไรเป็นเหตุให้เยาวชนกลุ่มนี้ สะสมความรุนแรงได้ระดับนี้ และเมื่อถอดความแบบลงลึกจะพบ 2 ประเด็นที่เกิดขึ้นทั้งในระบอบการเรียนรู้และสังคมภาพกว้าง คือ การใช้ความรุนแรง และการคุกคามทางเพศ  

หนทางการแก้ไขเบื้องต้น คือต้องเปลี่ยนพฤติกรรมแบบอำนาจนิยม - ก้าวร้าวที่มาจากครูบาอาจารย์ อาทิ การใช้คำหยาบคายกับนักเรียน การใช้กำลังลงโทษเด็ก หรือแม้กระทั่งระบบอุปถัมภ์ในโรงเรียนด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเชื่อมั่นในระบบเส้นสาย อย่างการก่อเหตุครั้งนี้ มีเยาวชนที่เป็นลูกตำรวจอยู่ในขบวนการ อาจมาจากความคึกคะนอง ภายใต้กรอบคิดว่าอย่างไรเสียจะไม่ถูกดำเนินคดี 

ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ ต้องมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย สิ่งที่ต้องสังคายนา อย่างแรกคือ การสอดแทรกเนื้อหาที่ทำให้เด็กตระหนักถึงเรื่อง มนุษยชน - การมองคนแบบเท่ากัน

“ดิฉันเป็นครูสังคม และเห็นปัญหานี้มาตลอด โดยเฉพาะการใช้หลักสูตรแบบอนุรักษ์นิยมไม่ไปตามสากล มุ่งเน้นไปในหลักสูตรที่เหมือนพายเรือวนในอ่างน้ำ แต่เรื่องที่ต้องอัปเดตตามยุคกลับไม่มี เช่น การเคารพในความเสมอภาค ความเท่าเทียม และศักศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องนี้ไม่เคยถูกปลูกฝังแบบลึกซึ้งเลย มันเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการหล่อหลอม ให้ทั้งเด็กและครูไม่เกิดความตระหนัก จนส่งผลให้บานปลายเป็นการไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น ถึงที่สุดก็กลายเป็นความรุนแรงในสังคมขึ้นมา”

ปารมี ไวจงเจริญ กล่าว

ปารมี กล่าวเสริมว่า จริงๆ ยังมีอีกประเด็นที่แม้นไม่เกี่ยวข้องโดยตรง กับกรณีของป้าบัวผัน แต่เชื่อมโยงทางนัยยะ คือ การบ่มเพาะให้นักเรียน เข้าใจเรื่องเพศวิถีศึกษา เพราะการก่อเหตุของกลุ่มวัยรุ่นครั้งนี้ มีความสัมพันธ์กับเรื่องความตระหนักรู้ด้านเพศศึกษาด้วย  

ประการแรก แสดงให้เห็นถึงความไม่เคารพซึ่งกันและกันของบุคคลเพศตรงข้าม ขัดต่อหลักความเป็นจริงที่สังคมสมัยใหม่ ต่างอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ด้วยการเคารพต่อเพศต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งชาย หญิง และเพศทางเลือก  

ประการที่สอง การใช้ความรุนแรงของกลุ่มวัยรุ่นชาย มีความสอดคล้องกับการเป็น ‘สังคมชายแท้’ ที่ปลูกฝังให้ผู้ชาย ต้องมีความกล้าหาญ ต้องกล้าคะนอง ต้องกล้าใช้กำลัง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง หรือผลลัพธ์ที่จะส่งผลต่อผู้ถูกกระทำ  

ขณะที่ 'ธนวรรธน์ สุวรรณปาล' อาจารย์โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแฟนเพจ 'ครูขอสอน' ที่ใช้สื่อออนไลน์วิพากษ์ระบบการศึกษา มองปรากฏการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ สส.พรรคก้าวไกล ว่า กรณีการรุมทำร้ายป้าบัวผันจนถึงแก่ความตาย โดยกลุ่มวัยรุ่น มีหลายมิติที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นคือระบอบการศึกษา ที่เป็นส่วนหนึ่งของการหล่อหลอมเด็กและเยาวชน ให้กลายเป็นมนุษย์ที่ดี 

สำหรับธรรมชาติเยาวชนที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับ มีความสันพันธ์ที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ประการ คือ ครอบครัว  โรงเรียน และหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนในการดูแล หากโฟกัสที่สถาบันการศึกษา ส่วนตัวมองว่า ยังคงมีปัญหา แม้จะไม่ใช่สารตั้งต้นโดยตรง เพราะไม่มีสถาบันไหนตั้งเป้าหมายให้เด็กเป็นคนไม่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีเด็กคนไหนที่เกิดมาแล้วพร้อมเป็นอาชญากรตั้งแต่กำเนิด ซึ่งมีหลายกรณีที่สถาบันกลายเป็นผู้ทำลายเด็กโดยไม่รู้ตัว 

“ โรงเรียนอาจมีส่วนในการสร้างพฤติกรรมแบบไม่พึงประสงค์ ในรูปแบบที่บุคลากรทางการศึกษาไม่รู้ตัว ผ่านการด้อยค่าเด็กในลักษณะต่างๆ หรือการไม่เปิดพื้นที่ ในการแสดงตัวตนที่ถูกต้อง ในแบบที่เหมาะสมกับเยาวชนแต่ละบุคคลคนหนึ่ง พอเขาไม่มีพื้นที่เขาก็ต้องสร้างตัวตนขึ้นมาเอง ลองมองภาพจริงในสังคม ว่าเด็กบางคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ แต่ก็เติบโตอย่างมีคุณภาพได้เพราะโรงเรียน แต่หลายกรณีเด็กบางกลุ่มเพียบพร้อมทุกอย่าง แต่โรงเรียนไม่เข้าใจปัญหาของเด็ก และลดทอนคุณค่าของนักเรียนให้ต่ำลง เด็กก็เกเรเสียคนไป มันจึงต้องยอมรับว่า การศึกษามันเกี่ยวข้องทั้งในเชิงการพัฒนา และทำให้ตกต่ำลงได้ หากมีการบริหารการศึกษายังมีปัญหาอยู่”

ธนวรรธน์ มองว่า สถาบันการเรียนการสอน เปรียบเสมือน ‘ตะแกงร่อน’ ที่คอยคัดกรองส่วนที่ไม่ดีออกไป หากไร้ซึ่งส่วนนี้จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เด็กนอกลู่นอกทางได้มากกว่าผู้ที่อยู่ในระบบ ดังนั้นสิ่งที่บุคลากรในโรงเรียนพึงตระหนักคือการไม่ปิดประตูใส่เด็ก และมองในมุมความเป็นมนุษย์และจุดมุ่งหมายในเชิงปัจเจกมากขึ้น ไม่ควรตีกรอบตามค่านิยมเก่าๆ ว่าเด็กที่ดีคือเด็กที่เรียนวิชาการเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพยายามเปิดพื้นที่ให้เด็กสามารถแสดงศักยภาพด้านอื่นๆ ให้นักเรียนมีความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลรวมไปถึงประเด็นพื้นฐานอย่างการบูลลี่ด้วย

“ดังนั้นเราต้องกับมาทบทวนว่า สิ่งที่เด็กกำลังประสบอยู่ อย่างการถูกข่มเหงด้วยคนที่มีอำนาจเหนือกว่า กลั่นแกล้ง หรือเลือกปฏิบัติ มันมีอยู่ในรั้วโรงเรียนหรือเปล่า หากสถาบันการศึกษาไม่สามารถสร้างสังคมให้เกิดความเท่าเทียมได้ และยิ่งผลิตสิ่งเหล่านี้ซ้ำอยู่เรื่อยๆ เราก็ไม่สามารถคาดหวังได้เลย ว่าเด็กที่จบออกไปจะเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพได้ อย่าว่าแต่เด็กที่ก่ออาชญกรรมเลยครับ ผมก็เชื่อว่าเด็กปกติก็พบเจอปัญหาเหล่านี้อยู่เยอะ ที่สำคัญเราต้องถามตัวเอง ว่าเราเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบธรรมในการสร้างสังคมให้เด็กได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้หรือยัง”

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์