ฤดูร้อนนั้นหายไปไหน! เกิดอะไรขึ้นกับโลกปี 1816 ทำไมอากาศถึงแปรปรวน?

21 เมษายน 2567 - 00:00

the-year-1816-without-summer-mount-tambora-volcanic-eruption-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เมื่อฤดูร้อนในปี 1816 หายไปทั้งปี! แล้วอากาศโลกจะรวนแปรปรวนอย่างไรเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

  • ว่ากันว่าสาเหตุหลักเกิดจากการปะทุครั้งใหญ่ของภูเขาไฟตัมโบราในอินโดนีเซียปี 1815 ส่งผลให้อุณหภูมิโลกลดลงในปีต่อมา

เคยคิดไหมว่าถ้าโลกใบนี้ไม่มี ‘ฤดูร้อน’ มันก็คงจะดีเชียวล่ะ!!! ไม่ต้องตากแดดร้อนๆ เป็นโรคลมแดด เปิดแอร์เสียค่าไฟแพงๆ แต่นั่นก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีนะ แน่นอนว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องสมมุติ ทว่ามันเคยเกิดขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้วในปี 1816 ที่ว่ากันว่าปีนั้น ‘ไม่มีฤดูร้อน’ ตอนนั้นมันเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรา? แล้วผลที่ตามมามันส่งผลดีหรือผลร้ายกันล่ะ? 

ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าการปะทุของ ‘ภูเขาไฟตัมโบรา’ (Mount Tambora) ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อปี 1815 (ปัจจุบันพื้นที่ตรงนั้นคืออินโดนีเซีย) จะทำให้เกิดฝุ่นเถ้าถ่าน รวมถึงก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์นับล้านตันในชั้นบรรยากาศจนอุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลงชั่วคราวลดลงมากถึง 3 องศาฯ ในฤดูร้อนปี 1816 ส่งผลให้เกิดความหนาวเย็น เกิดโรคระบาดและภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนักในอเมริกาเหนือ รวมถึงยุโรปด้วย 

ดังที่เกษตรกรคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวรัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐฯ เคยทำนายไว้ว่าหิมะจะตกในเดือนมิถุนายน อุณหภูมิจะเย็นยะเยือกในเดือนกรกฎาคม เกือบทุกอย่างจะกลายเป็นน้ำแข็งในเดือนสิงหาคม “สภาพอากาศจะมืดมนและเย็นสุดขั้วเท่าที่เคยเจอมา” 

จวบจนกระทั่งตอนนี้ ในบางครั้งปี 1816 ก็ถูกขนานนามว่า “เป็นปีที่เกือบจะแช่แข็งจนตาย” 

เกิดอะไรขึ้นบนโลกในปี 1816 กันแน่?

ในตอนแรกไม่มีใครตอบคำถามได้ว่าทำไมจู่ๆ ในปี 1816 ถึงมีความหนาวเหน็บเข้ามาเยือน เวลานั้นใครหลายๆ คนต่างคาดเดาว่าสภาพอากาศประหลาดแบบนั้นอาจเกิดจากตำแหน่งของดาวเคราะห์ ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ หรือจุดมืดบนดวงอาทิตย์ (sunspots) ก็เป็นได้ 

-จุดบอดดวงอาทิตย์ต่ำที่สุด-

the-year-1816-without-summer-mount-tambora-volcanic-eruption-SPACEBAR-Photo01.jpg

ในขณะนั้น โลกกำลังประสบกับช่วงปลายทศวรรษของยุคน้ำแข็งน้อย (Little Ice Age) เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์สุริยะค่อนข้างต่ำระหว่างปี 1790-1830 ที่เรียกว่า ‘ช่วงต่ำสุดดาลตัน’ (Dalton Minimum / ช่วงเวลาที่มีจำนวนจุดบอดบนดวงอาทิตย์ต่ำ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนพฤษภาคม 1816 ซึ่งมีจำนวนจุดบอดบนดวงอาทิตย์ต่ำที่สุด (0.1) จนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่เริ่มบันทึกวัฏจักรสุริยะ  

แต่ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์จุดบอดบนดวงอาทิตย์ต่ำเท่านั้นที่ทำให้ปี 1816 ไม่มีฤดูร้อน 

-การปะทุของภูเขาไฟตัมโบรา-

the-year-1816-without-summer-mount-tambora-volcanic-eruption-SPACEBAR-Photo02.jpg

การปะทุของภูเขาไฟตัมโบราที่สูง 13,000 ฟุตบนเกาะซุมบาวา ใกล้เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนเมษายน 1815 ถือเป็นการปะทุของภูเขาไฟครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์คร่าชีวิตผู้คนมากถึง 90,000 ราย และยังกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สภาพอากาศของปี 1816 ผิดปกติเปลี่ยนแปลงไปและไม่มีฤดูร้อนด้วย 

ภูเขาไฟตัมโบราปล่อยเถ้าถ่านจำนวนมหาศาลออกมาสู่ชั้นบรรยากาศชั้นบนและถูกกระแสลมกรด (jet stream / กระแสลมแรงที่เคลื่อนที่ในเขตโทรโพพอส) พัดพาไปทั่วโลกล่องลอยอยู่เหนือความสูงของฝน จึงไม่ถูกชะล้างออก และปกคลุมโลกราวกับร่มจักรวาลอันยิ่งใหญ่ นั่นจึงทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของดวงอาทิตย์ลดน้อยลงตลอดทั้งปี อีกทั้งการแผ่รังสีดวงอาทิตย์ก็ยังลดลงอีกด้วย ส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกหนาวเย็นเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูร้อนถัดมา (ปี 1816)  

ความหนาวเย็นที่ผิดปกติส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรล้มเหลวในหลายส่วนของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาเหนืออย่างในสหรัฐฯ และยุโรป ทั้งทางตรงและทางอ้อม ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ภาวะอดอยาก การหยุดชะงักทางวัฒนธรรม การแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคและโรคอื่นๆ  

สภาพอากาศผิดแปลกเปลี่ยนแปลงไปในอีก 1 ปีต่อมา…

-ฤดูร้อนหายไป อากาศหนาวผิดปกติ- 

  • อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเย็นลงเกือบ 2 องศาฯ ในปี 1816 โดยอุณหภูมิพื้นดินเย็นลงประมาณ 3 องศาฯ 
  • มีรายงานว่าช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนปี 1816 ตลอดครึ่งปีแรก เกิดหมอกแห้งในพื้นที่ทางตะวันออกของสหรัฐฯ แม้แต่ลมหรือฝนก็ไม่สามารถทำให้หมอกลดลงได้ 
  • น้ำค้างแข็งในเดือนพฤษภาคมทำลายพืชผลส่วนใหญ่ในตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก รัฐแมสซาชูเซตส์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ และรัฐเวอร์มอนต์ 
  • มิถุนายน 1816 เกิดหิมะตกในเมืองออลบานี รัฐนิวยอร์ก และเมืองเดนนีสวิลล์ รัฐเมน 
  • มีรายงานเกิดน้ำค้างแข็งติดต่อกัน 5 คืนในเมืองเคปเมย์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ และมีค่ำคืนที่หนาวจัดช่วงปลายเดือนมิถุนายน ทำให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลในวงกว้าง 
  • ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 1816 พบว่าทะเลสาบและแม่น้ำทางใต้จนถึงทางตะวันตกเฉียงเหนือของเพนซิลเวเนียเป็นน้ำแข็ง และพบน้ำค้างแข็งไปทางใต้จนถึงรัฐเวอร์จิเนียในวันที่ 20 และ 21 สิงหาคม 
  • รัฐนิวอิงแลนด์ได้รับผลกระทบหนักสุด ตลอดเดือนกรกฎาคมจะพบว่ามีน้ำค้างแข็งปกคลุม รวมถึงมีพายุน้ำแข็งด้วยเป็นครั้งคราว อีกทั้งนกตัวเล็กตัวใหญ่จำนวนมากก็ถูกแช่แข็ง ขณะที่การฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกัน เนื่องจากความแห้งแล้ง วิกฤตการณ์ทางการเงิน และภาวะขาดแคลนอาหารทำให้หลายคนสิ้นหวัง 
  • ช่วงกรกฎาคมที่แคนาดาก็มีหิมะตกเช่นเดียวกัน 
  • การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็วและรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากบางครั้งอุณหภูมิเปลี่ยนจากระดับฤดูร้อนที่สูงกว่าปกติแล้วก็เปลี่ยนไปเป็นอุณหภูมิที่จุดเยือกแข็งภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง 
  • ราคาธัญพืชในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่า ขณะที่ราคาข้าวโอ๊ตเพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่า 
  • ขณะเดียวกันอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลกอย่างยุโรปก็เกิดภาวะอดอยาก เกิดจลาจล การลอบวางเพลิง และการปล้นสะดมในหลายเมืองทั่วยุโรป 
  • ทั่วทั้งมหาสมุทรแอตแลนติก ยุโรปต้องเผชิญกับฝนตกหนัก โดยพบว่าในไอร์แลนด์เจอฝนตกไม่หยุดติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ 
  • ส่วนในจีนต้องทนทุกข์ทรมานจากการล้มเหลวของพืชผลและน้ำท่วมครั้งใหญ่ 
  • นอกจากนี้การที่ฤดูมรสุมของอินเดียหยุดชะงักได้ทำให้อหิวาตกโรคแพร่ระบาดจากแม่น้ำคงคาไปจนถึงมอสโก รัสเซียอีกด้วย 

-ผลกระทบทางวัฒนธรรมจากการไม่มีฤดูร้อน-

the-year-1816-without-summer-mount-tambora-volcanic-eruption-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: Wikipedia
  • การไม่มีข้าวโอ๊ตให้ม้ากินในช่วงที่ฤดูร้อนหายไปกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ คาร์ล ไดรส นักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน ค้นคว้าวิธีการขนส่งแบบใหม่โดยไม่ต้องใช้ม้า นำไปสู่การประดิษฐ์ ‘จักรยาน’ 
  • การอพยพของชาวอเมริกันออกจากนิวอิงแลนด์ไปยังภูมิภาคมิดเวสต์ (Midwest) เพื่อเร่งการเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกของชาวอเมริกัน โดยรัฐเวอร์มอนต์แห่งเดียวมีคนอพยพมากถึง 15,000 คน รวมทั้งครอบครัวของ ‘โจเซฟ สมิธ’ นักบุญผู้ก่อตั้งลัทธิมอรมอนซึ่งย้ายจากเมืองนอริช รัฐเวอร์มอนต์ ไปเมืองแพลไมรา รัฐนิวยอร์ก การเคลื่อนไหวนี้อาจทำให้มีการตีพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนและการสถาปนาศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (Jesus Christ of Latter-day Saints) 

การปะทุครั้งรุนแรงที่ส่งผลต่อฤดูร้อนที่หายไปจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่?

the-year-1816-without-summer-mount-tambora-volcanic-eruption-SPACEBAR-Photo04.jpg

นิโคลัส คลิงกามัน นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเรดดิงในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า “การปะทุของภูเขาไฟในระดับตัมโบราจะเกิดขึ้นทุกๆ 1,000 ปีโดยเฉลี่ย แต่เหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ยังคงส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพอากาศ แม้แต่การปะทุของภูเขาไฟกรากาตัวปี 1883 ในอินโดนีเซียก็ทำให้โลกเย็นลงเกือบ 5 ปีต่อมา แม้ว่าจะปล่อยสสารออกสู่ชั้นบรรยากาศน้อยกว่าตัมโบราก็ตาม” 

“ในทำนองเดียวกัน การปะทุของภูเขาไฟปินาตูโบปี 1991 ในประเทศฟิลิปปินส์ก็ยังทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลงประมาณ 1 องศาฯ…ประมาณ 1 ใน 6 ของขนาดการปะทุของตัมโบรา เกิดขึ้นประมาณหนึ่งครั้งทุกๆ 100 ปี” คลิงกามันกล่าว 

ขณะที่ ไมค์ มิลส์ นักเคมีด้านชั้นบรรยากาศที่ศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติในเมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด บอกว่า “ภูเขาไฟอื่นๆ เหล่านั้นสามารถปะทุอีกครั้งได้ ในระดับตัมโบราหรือมากกว่านั้น”  

“แต่ประเด็นที่บอกว่าภูเขาไฟส่งผลต่อสภาพอากาศนั้นยังค่อนข้างใหม่ ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างการปะทุของภูเขาไฟกับความเย็นของโลกจนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1960-1970” คลิงกามันกล่าว 

มิลส์เผยว่างานวิจัยชิ้นใหม่เจาะลึกว่าการปะทุของภูเขาไฟสามารถเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนได้อย่างไร บทบาทของการปะทุของภูเขาไฟต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนั้นอาจถูกมองข้ามไป และสามารถช่วยอธิบายได้ว่าทำไมภาวะโลกร้อนดูเหมือนจะชะลอตัวลงชั่วคราวในช่วงต้นศตวรรษนี้เมื่อภูเขาไฟระเบิดเพิ่มขึ้น

“ด้วยอุณหภูมิโลกที่สูงเป็นประวัติการณ์ การปะทุครั้งใหญ่ในวันนี้อาจหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น อากาศอบอุ่นจะเกิดขึ้นหลังจากที่ฝุ่นในชั้นสตราโตสเฟียร์ทั้งหมดถูกชะล้าง ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจใช้เวลาไม่กี่ปีหรือถึง 1 ทศวรรษ”

บริการสภาพอากาศเชิงพาณิชย์ ‘Weather Underground’ รายงาน

ขณะนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตถือเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งในทศวรรษต่อๆ ไป การมองย้อนกลับไปในอดีตอันใกล้และเรียนรู้จากตัวอย่างเกี่ยวกับวิธีการเผชิญกับความท้าทายในอนาคตจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์