สหรัฐฯ และจีนตกลงสงบศึกสงครามการค้าชั่วคราวด้วยการตัดสินใจ ‘ลดภาษีศุลกากร’ ที่เรียกเก็บจากสินค้าของกันและกันเป็นเวลา 90 วัน โดยสหรัฐฯ ลดภาษีนำเข้าจากจีนลงเหลือ 30% จาก 145% ขณะที่จีนจะลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ลงเหลือ 10% จาก 125% ถือเป็นการบรรเทาความกังวลของโลกไปในระดับหนึ่ง
ผู้แทนจากทั้งสองประเทศเจรจากันเป็นเวลา 2 วันที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศว่า “การผ่อนคลายสงครามการค้าถือเป็นชัยชนะ” และเขาจะหารือกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเร็วๆ นี้ พร้อมเสริมว่า “การเจรจาทางเศรษฐกิจได้นำไปสู่การ ‘เริ่มต้นใหม่’ ระหว่างทั้งสองประเทศ”
แล้วต่อจากนี้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะเป็นอย่างไรต่อไป? หลังจากทั้งสองประเทศสงบศึกการค้าชั่วคราว...
จุดเริ่มต้นที่ดีของสหรัฐฯ-จีน (?)
“การลดภาษีศุลกากรนั้นถือเป็น ‘ความประหลาดใจครั้งใหญ่’ และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับทั้งสองประเทศ...จีนกำลังพยายามหลีกเลี่ยงภาวะเงินฝืดในระยะยาวและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนทางธุรกิจในระยะยาว” แ
— แดน หวัง ผู้อำนวยการฝ่ายจีนของ ‘Eurasia Group’ บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมือง กล่าว
ตลาดงานของจีนมีแนวโน้มทรุดตัวลงมาเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้ว และความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งในการเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐฯ แต่หวังเตือนว่า “จีนจะยอมผ่อนปรนก็ต่อเมื่อข้อต่อรองมีประโยชน์ในการได้รับผลประโยชน์ในระยะยาว เช่น การมุ่งเน้นไปที่การขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในการผลิตระดับไฮเอนด์”
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีลักษณะการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่น่าจะยอมแพ้กันง่ายๆ “ผู้นำจีนมีมุมมองระยะยาวในการเสริมสร้างบทบาทที่แข็งแกร่งขึ้นบนเวทีโลก ซึ่งสำหรับสหรัฐฯ ถือเป็นภัยคุกคาม” อย่างไรก็ตาม หวังเน้นย้ำว่าทั้งสองฝ่ายมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง โดยจีนเป็น ‘ผู้ผลิต’ ส่วนสหรัฐฯ เป็น ‘ผู้บริโภค’
แม้ว่าทรัมป์ต้องการลด หรือขจัดดุลการค้ากับจีนซึ่งในปี 2024 สหรัฐฯ มีดุลการค้าขาดดุลกับจีนประมาณ 2.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.8 ล้านล้านบาท) แต่ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่จีนจะทำได้ทั้งหมด”
ทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยได้ก็คือ จีนจะต้องปรับค่าเงินหยวนให้สูงขึ้น และหาช่องทางระดมทุนสำหรับบริษัทจีนที่ต้องการจดทะเบียนในสหรัฐฯ
หวังกล่าวเสริมว่า “การเพิ่มการลงทุนจากบริษัทจีนอาจช่วยปรับปรุงดุลการค้าได้” แต่เขาก็เตือนว่า “การลงทุนระยะยาวยังคงต้องมีสภาพแวดล้อมที่มั่นคงและปลอดภัย”
อาจเกิด ‘ปรากฏการณ์แส้ม้า’!!! (ความผันผวนในห่วงโซ่อุปทาน...)

การลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจาก 145% เหลือ 30% หลังจากทั้งสองประเทศตกลงลดภาษีชั่วคราวเป็นเวลา 90 วันนั้น ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้มีการส่งตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากจากจีนมายังท่าเรือสหรัฐฯ
ความเป็นไปได้ที่เรือจากจีนไปยังสหรัฐฯ จะมี ‘น้อยลง’ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนสินค้าในร้านค้าสหรัฐฯ เหมือนกับช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชน
แต่ด้วยการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีนำเข้าอย่างรวดเร็ว ทำให้สินค้าที่คงค้างอยู่ในโกดังและโรงงานในเอเชียสามารถขนส่งขึ้นเรือได้ทันเวลา ส่งผลให้ราคาสินค้าเหล่านั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเกิดความแออัดบริเวณท่าเรือสหรัฐฯ
“จะเกิดปรากฏการณ์แส้ม้า (bullwhip effect) อย่างแน่นอน ซึ่งความขาดแคลนในตอนนี้จะกลายเป็นการเร่งส่งสินค้าใหม่ เนื่องจากบริษัทต่างๆ พยายามส่งสินค้าให้ทันก่อนที่อัตราภาษีที่สูงขึ้นจะกลับมาอีกครั้ง”
— ไมเคิล สตาร์ รองประธานฝ่ายการเติบโตของ ‘Zencargo’ บริษัทโลจิสติกส์ กล่าว
“ตอนนี้พวกเขาสามารถเริ่มส่งสินค้าสำหรับช่วงเทศกาลได้แล้ว พวกเขาจะเร่งส่งคำสั่งซื้อให้มากที่สุดในช่วง 90 วันนี้ และใช่เลย เรือขนส่งไม่สามารถกลับมาให้บริการได้รวดเร็วเท่ากับการขนส่งสินค้า” สตาร์ กล่าว
แทบไม่มีความแน่นอนใดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้านจัสติน วูลเฟอร์ส นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า “หลายคนมองว่าการเจรจา 90 วันนี้เป็นข่าวดีในระยะสั้น เพราะการลดอัตราภาษีจากระดับที่ ‘สูงมากเกินไป’ และแทบจะเป็นไปไม่ได้ ให้เหลือเพียง ‘สูงมาก’ ถือเป็นข่าวดี”
แต่ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาของการบริหารงานของทรัมป์ เขาได้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าภาพยนตร์ที่สร้างในต่างประเทศถึง 100% ข่มขู่แคนาดาและกรีนแลนด์ด้วยการผนวกดินแดน และแสดงท่าทีเฉยเมยต่อความเสียหายทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำเหล่านี้
“ดังนั้น หากคุณมองย้อนกลับไปในช่วง 120 วันที่ผ่านมา ก็คงจะพูดได้ว่า แม้ว่าคุณจะมีความหวังบ้างในตอนนี้ แต่การมองโลกในแง่ดีก็ดูเป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ” วูลเฟอร์ส กล่าว
เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจยังได้รับผลกระทบ...

ปัญหาสำหรับทรัมป์ก็คือ ธุรกิจหลายแห่งได้วางแผนรับมือกับอัตราภาษี 145% ที่เขาประกาศไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และอาจลังเลที่จะปรับแผนจนกว่าจะมีนโยบายถาวรออกมา
แม้ว่าตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งอาจสามารถรับมือกับผลกระทบจากภาษีโดยไม่เกิดความเสียหายมากนัก เช่นเดียวกับที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายใต้การบริหารของรัฐบาลโจ ไบเดนที่มีเป้าหมายลดอัตราเงินเฟ้อ
แต่ภาษี 30% ยังคงเป็นต้นทุนที่ธุรกิจและผู้บริโภคต้องรับมือ ซึ่งอาจทำให้หลายบริษัทไม่กล้าจ้างงาน หรือขยายกิจการ
เควิน รินซ์ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัย ‘Washington Center for Equitable Growth’ ซึ่งเคยทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในรัฐบาลบารัค โอบามาและไบเดน กล่าวว่า “ธุรกิจบางแห่งอาจอยู่รอดได้ด้วยภาษี 30% อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่สิ่งที่ไม่แน่นอนคือหลังจาก 90 วัน อัตราภาษีกับจีนจะเป็นอย่างไร จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจาก 30% และถ้าเพิ่มขึ้นจะเพิ่มมากแค่ไหน ซึ่งความไม่แน่นอนนี้ทำให้บริษัทที่พึ่งพาการนำเข้าจากจีนเกิดภาวะหยุดชะงัก”
นอกจากนี้ รินซ์ยังได้ลองวิเคราะห์ผลกระทบต่อตลาดแรงงานตามสมมติฐานของทรัมป์ที่ว่า ‘ความเจ็บปวดระยะสั้นจากภาษีจะนำไปสู่ผลประโยชน์ระยะยาว’ แต่ผลการวิเคราะห์พบว่า ‘การจ้างงานจะลดลง’ “สถานการณ์นี้ดูเหมือนกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า” รินซ์ กล่าว
จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากสงบศึกทางการค้าผ่านไป 90 วัน?
การพยายามคาดเดาขั้นตอนต่อไปในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง แต่ข้อตกลงนี้ถือเป็นข้อตกลงสำคัญระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
แม้ว่าภาษีที่ถูกระงับไปจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่หลังจากผ่านไป 90 วัน แต่เนื่องจากภาษีส่วนใหญ่ที่ประกาศหลัง ‘วันปลดแอกประเทศ’ (Liberation Day) ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว หมายความว่า ภาษีของสหรัฐฯ ต่อจีนก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 54% เท่านั้น และภาษีของจีนต่อสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 34%
อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับจีนยังคงดำเนินต่อไป และอาจมีข้อตกลงเพิ่มเติมเกิดขึ้น
สก็อต เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า ‘ไม่มีฝ่ายใดต้องการแยกตัวออกจากกัน’” ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า “ข้อตกลงนี้เป็นก้าวแรกในการวางรากฐานเพื่อเชื่อมความแตกต่างและเสริมสร้างความร่วมมือให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”
แล้วใครจะเป็นผู้ชนะในสงครามการค้าครั้งนี้...

ต่างฝ่ายต่างบอกว่า ‘ประเทศตัวเองเป็นฝ่ายชนะในสงครามการค้าครั้งนี้’ “แม้สหรัฐฯ และจีนจะเรียกข้อตกลงนี้ว่าเป็น ‘ข้อตกลงร่วมกัน’ แต่ผู้คนในจีนจะตีความว่า รัฐบาลทรัมป์ถอนตัวจากการเก็บภาษี...ตอนนี้เรากลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง การเจรจาเริ่มต้นใหม่ ผลลัพธ์จึงยังไม่แน่นอน แต่จีนอยู่ในตำแหน่งที่แข็งแกร่งกว่าเมื่อก่อน” จานกา เออร์เทล ผู้อำนวยการโครงการเอเชียของสถาบัน ‘European Council on Foreign Relations’ กล่าว
ทางสหรัฐฯ จะโต้แย้งว่า แม้อัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจะลดลง แต่อัตรา 30% ก็ยังถือว่า ‘สูงมาก’ แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุว่า “ข้อตกลงการค้าครั้งนี้เป็นชัยชนะของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ไม่มีใครเทียบได้ในการเจรจาข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอเมริกัน”
นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารดอยช์แบงก์ชี้ว่า “การลดภาษีศุลกากร รวมถึงข้อตกลงระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าอัตราภาษีของทรัมป์มี ‘ขอบเขตสูงสุดและต่ำสุด’”
ขณะที่ จอร์จ ซาราเวลอส หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารดอยช์แบงก์ กล่าวว่า “สหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่สมดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุด และปัจจุบันมีอัตราภาษีศุลกากรอยู่ที่ 10% ขณะที่จีนมีความสัมพันธ์ที่ไม่สมดุลมากที่สุดและมีอัตราภาษีที่ 30% จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ตัวเลขทั้งสองนี้จะเป็นตัวกำหนดขอบเขตอัตราภาษีของสหรัฐฯ จะสิ้นสุดที่ระดับใดในปีนี้”