ฝ่าดราม่า กางเกงจันท์ สู่โอกาสใหม่ ‘Destination Branding’

2 มีนาคม 2567 - 11:55

Economy-Break-through-the-drama-of Chanthaburi-pants-Towards-a-new- opportunity-Destination-Branding-SPACEBAR-Hero.jpg
  • หลากหลายมุมมอง กางเกงจันท์ สินค้ามวลชน กับกระแสตีกลับ คนจนมีสิทธิไหมคะ

  • พลิกเป็นโอกาสสร้างเมืองจันท์ ด้วย ‘Destination Branding’

ผ่านมากว่าสัปดาห์หลังจาก หอการค้าจันท์ ร่วมกับ แบรนด์แฟชั่นชื่อดังระดับประเทศอย่าง เกรย์ฮาวด์ ออริจินัล (Greyhound Original)  เปิดตัวกางเกงช้าง “Chanthaburi Original” (จันทบุรีออริจินัล) 

โดยเป็นกางเกงที่จะเล่าเรื่องเมืองจันท์ โดยได้แรงบันดาลใจจากคำขวัญประจำจังหวัด สู่กางเกงลายเอกลักษณ์ ของจังหวัดจันทบุรี งานนี้ อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี ผู้ผลักดันไอเดียการจับมือร่วมกับ Greyhound Original ในการร่วมยกระดับกางเกงประจำจังหวัดจันทบุรี มีคุณค่าและมูลค่ามากว่ากางเกงจังหวัดทั่วไปถึง 3 เท่า

428420986_973344044152060_3927557296464088668_n.jpg

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากการเปิดตัวกางเกงจันท์ นอกจากได้รับคำชื่นชมในวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล ด้วยการยกระดับสินค้าผ่านการพัฒนาสินค้าร่วมกับ Greyhound Original ในแง่ของการสร้างแบรนด์ผ่านไอคอนกระต่ายถือไม้เคาะทุเรียนแล้ว 

แต่ในทางกลับกันก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่พึงพอใจในราคาจำหน่ายกางเกงที่สูงตัวละ 990 บาท จนกลายเป็นกระแสตีกลับ ‘คนจนมีสิทธิไหมคะ’ นั่นจึงเป็นที่มา ของบทความนี้ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ SPACEBAR ได้สัมภาษณ์พิเศษ อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี...

ถอดบทเรียน กระแสที่เกิดขึ้นกับ กางเกงจันท์

อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี ยอมรับว่ากระแสที่เกิดขึ้นมีหลากหลายมุมมอง ในแง่ดีการที่ หอจันท์ สามารถนำ Greyhound Original แบรนด์ระดับตำนาน 40 ปี มาร่วมงานด้วยได้ สามารถทำให้สินค้าตัวนี้มีมูลค่าเพิ่ม แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีมุมที่คาดไม่ถึงและกลายเป็นผลกระทบจากความรู้สึกเชิงลบ เช่น หลายคนที่รอคอยการเปิดตัวผิดหวัง เพราะรู้สึกราคาเอื้อมไม่ถึง บางคนมองว่ากางเกงจังหวัดควรอยู่ในหมวดราคาตลาดทั่วๆไป ในตลาดสงครามราคา ตัดสินว่าสินค้าแบบนี้ราคาสูงกว่าระดับหนึ่งไม่ได้ ซึ่ง หอจันท์ ก็เคารพในความคิดเห็นของทุกคน

ทำให้ต้องหันกลับมามองว่าที่ผ่านมา หลงลืมความต้องการของคนจำนวนไม่น้อยหรือไม่ จึงเกิดความคิดว่าหลังจากนี้ต้องทำการบ้านกับความต้องการของคนมากขึ้น เพราะแม้สินค้าที่ หอจันท์ ทำออกมาจำหน่ายไม่ได้มีจุดประสงค์อย่างรายได้เป็นเรื่องหลัก 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กางเกงจังหวัด = สินค้ามวลชน ย่อมมีสิทธิที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมที่มีคาดหวังแตกต่างกัน  เขาจึงมีแนวคิดที่จะต่อยอดสินค้าหมวดใหม่ๆ ที่ราคาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อทุกกลุ่มสามารถตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

SPB-BERM-15.jpg

ดราม่าพวกนี้ พี่ก็มีความสะเทือนใจ มันก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น แล้วก็ไม่อยากให้เป็นกางเกงที่รู้สึกว่า ทำมาสำหรับคนกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ มันก็ควรจะเป็นกางเกงที่ทุกคนเข้าถึงได้ มันก็เป็นประเด็นที่เราต้องทำการบ้านในอนาคต หรือ ว่าจังหวัดอื่นๆที่กำลังจะทำอยู่ ก็อาจจะต้องมองในมุมนี้ เราจะเอาราคาเป็นตัวตั้งไหม หรือ จะเอาคุณค่า หรือ ดีไซน์ มาเป็นตัวเดินเรื่อง แล้วราคาก็ให้มันสมเหตุ สมผล ไปตามเนื้องานนั้นๆ

อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี

หวังเดินหน้าต่อสร้างเมืองจันท์ ด้วย ‘Creative Economy’ ผ่านโอกาสใหม่ ‘Destination Branding’

อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี  เชื่อว่า กระแสที่เกิดขึ้นแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดประตูสู่สายตาคนทั่วไป ผลลัพธ์ทำให้เมืองให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น  พร้อมเดินหน้าที่จะใช้แนวคิด ‘Creative Economy’ หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในการขับเคลื่อนแง่มุมอื่นๆของเมือง ทั้งด้าน อัญมณี เสื่อกก ผลไม้ และการท่องเที่ยว โดย ใช้ ไอคอนกระต่ายตัวนี้ เป็นตัวขับเคลื่อนในการสร้าง ‘Destination Branding’

อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี อธิบายต่อว่า ‘Destination Branding’หรือ การสร้างตราสินค้าแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการใช้จุดเด่นของพื้นที่ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่ที่ผ่านมาประเทศไทยอาจจะยังไม่ค่อยมีการพูดถึงเรื่องนี้ในวงกว้าง แต่หลังจากที่ หอจันท์ พยายามจุดประกายจากแคมเปญ กางเกงจันท์ เชื่อว่าจะทำให้หลายคนเข้าใจประเด็นนี้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี ยังแอบกระซิบข่าวดี ปัจจุบันมีหน่วยงานเอกชน ไม่น้อยกว่า 2 แห่ง ติดต่อมาและขอให้ หอการค้าจันท์ พิจารณาและช่วยออกแบบสินค้าท้องถิ่นจันท์ เป็นแคมเปญพิเศษร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งนี่ถือเป็นเพียงก้าวแรกที่เกิดขึ้นจากการประกาศแนวคิด ‘Creative Economy’ ออกมา  หลังจากนี้ต้องติดตามว่า จะมีโปรเจ็คสินค้า ที่จะไปร่วมกับแบรนด์อะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง 

ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี ปิดท้ายว่า อย่างไรก็ตาม นอกจากการขับเคลื่อนจากภาคเอกชนแล้ว อยากให้รัฐบาล มองภาพรวมการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่แค่โครงการใด โครงการเดียว เพราะเขาเชื่อว่าในการขับเคลื่อนเมืองยุคใหม่ ไม่ใช่แค่บทบาทของ ซอฟต์พาวเวอร์ แต่ควรเดินหน้าด้วยแนวคิด ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ซึ่งมีความหมายที่กว้างและพร้อมพัฒนาเป็นสินค้าและบริการต่างๆได้มากมาย

แนะรัฐบาล หากต้องการยกระดับท้องถิ่นแข็งแรง ต้องเริ่มจากดึงศักยภาพของเมืองนั้นๆ ออกมาให้เด่นชัดจากนั้นพิจารณาว่าพื้นที่ขาดแคลนสาธารณูปโภคในด้านใด จากนั้นปรับปรุงให้พื้นที่แข็งแร็ง หรือเปรียบเสมือนเป็นการปรับปรุงสินค้าให้ดีขึ้น และเปิดตลาดหาลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งเมื่อสามารถคิดแบบครบองค์ประกอบได้ ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาเมือง

SPB-BERM-13.jpg

เราอาจจะทำกันแบบมวยวัดมาเยอะพอสมควร แล้วก็พยายามที่จะจัดประเด็น ซึ่งบางที่หลายๆจังหวัดก็พยายามแข่งกัน แต่จริงๆแล้ว ทุกจังหวัด มีดีเป็นของตัวเอง รัฐบาลควรจะเข้ามาพยายามขับเคลื่อน และช่วยสร้างความแตกต่างในจังหวัดนั้น ก่อนสร้างการรับรู้แก่คนทั่วไป หรือ ทำการตลาด เพื่อทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น

อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์