จับตา ศก.ไทย 2567 เมื่ออิเล็กทรอนิกส์ฟื้นตัว หนุนเพิ่มโต

26 ธ.ค. 2566 - 05:35

  • กรุงไทย คอมพาส ชี้ วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัว หนุนส่งออกไทยปี 2567 ดีต่อเนื่อง

  • แต่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในทะเลแดง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญชี้ทิศทางขึ้นลง

krungthai-compass-economic-thailand-expot-import-SPACEBAR-Hero.jpg

กรุงไทย คอมพาส (Krungthai COMPASS) รายงานภาวการณ์ส่งออกเดือนพฤศจิกายน ขยายตัว 4.9%YoY เป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐฯ และอาเซียน-5 ที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกไปญี่ปุ่นกลับมาขยายตัว สำหรับการนำเข้าขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.1%YoY ทำให้ดุลการค้าเดือน พ.ย. ขาดดุลที่ระดับ 2,399.4 ล้านดอลลาร์ฯ 

ดังนั้น Krungthai COMPASS จึงออกบทวิเคราะห์ คาดว่าวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าสู่ช่วงขาขึ้นจะช่วยสนับสนุนการส่งออกไทยปี 2567 ให้กลับมาขยายตัวได้ สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของโลกที่กลับมาขยายตัว และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องตามความต้องการอุปกรณ์ไอทีและสมาร์ทโฟนที่มีมากขึ้น รวมถึงกระแส AI 

ชี้ สงคราม เป็นความเสี่ยงการส่งออก

ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ชี้ด้วยว่า การส่งออกมีความเสี่ยงจากกลุ่มกบฏฮูตีโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกไทยไปยังยุโรปจากภาวะค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับมูลค่าส่งออกเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 23,479.7 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 4.9%YoY ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยการส่งออกขยายตัวได้ในทุกหมวดหลัก ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร จากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐฯ และอาเซียน-5 ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง และการส่งออกไปญี่ปุ่นที่กลับมาขยายตัว เป็นต้น 

สำหรับ การส่งออกทองคำ เดือนนี้ขยายตัว 38.0% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัว 4.6%YoY ทั้งนี้การส่งออก 11 เดือนแรกหดตัว -1.5%

ด้าน การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ 4.9%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 9.3%YoY จากสินค้าหมวดเกษตรที่ขยายตัว 7.7%YoY และสินค้าหมวดอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 1.7%YoY

โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว (+67.9%) ยางพารา  (+14.5%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+2.5%) และอาหารสัตว์เลี้ยง  (+3.3%) เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-12.8%) ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง (-26.9%) น้ำตาลทราย (-9.8%) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (-47.1%) เป็นต้น ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 11 เดือนแรกหดตัว -0.5%

เช็ก สถานการณ์ตลาดส่งออกที่สำคัญ

• สหรัฐฯ : ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 17.5%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น (ส่งออก 11 เดือนแรกขยายตัว 3.0%) 

• จีน : กลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน ที่ -3.9%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาปภายใน ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และยางพารา เป็นต้น (ส่งออก 11 เดือนแรกหดตัว -1.0%) 

• ญี่ปุ่น : กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน ที่ 4.3%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องจักรกลและวนประกอบ เคมีภัณฑ์ และยางพารา เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องโทรสารและโทรศัพท์ เป็นต้น (ส่งออก 11 เดือนแรกขยายตัว 0.4%)   

• EU27 : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ -5.0%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องโทรสารและโทรศัพท์ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น (ส่งออก 11 เดือนแรกหดตัว -4.1%) 

• ASEAN5 : ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 12.9%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ข้าว และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออก 11 เดือนแรกหดตัว -3.0%)

ฟากฝั่งการนำเข้า : มูลค่าการนำเข้าเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 25,879.1 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ 10.1%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 10.2%YoY ตามการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง (+13.0%YoY) และการนำเข้าสินค้าทุน (+23.9%YoY) ที่ขยายตัวเร่งขึ้น สำหรับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (+9.6%YoY) การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (+21.5%YoY) และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+0.2%YoY) ขยายตัวได้ต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ การนำเข้าที่ขยายตัวต่อเนื่องส่งผลให้ดุลการค้าเดือนพฤศจิกายน ขาดดุลที่ 2,399.4 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับดุลการค้า 11 เดือนแรกขาดดุลสะสม 6,165.3 ล้านดอลลาร์ฯ

บทวิเคราะห์ ยังชี้นัยสำคัญ 2 ข้อว่า...
- วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่กำลังฟื้นตัวจะช่วยสนับสนุนการส่งออกไทย
โดยความต้องการสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของโลกมีสัญญาณที่ปรับดีขึ้น ยอดคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของโลกกลับมาขยายตัวในเดือนตุลาคม 2566 ที่ 4.9%YoY เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 16 เดือน และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องตามความต้องการอุปกรณ์ไอทีและสมาร์ทโฟนที่มีมากขึ้น

รวมถึงกระแส AI สะท้อนถึงวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ของโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดและอยู่ในช่วงฟื้นตัว ยอดคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของโลกดีขึ้นสอดคล้องกับการส่งออกเดือนพฤศจิกายนของเกาหลีใต้ (+7.7%YoY) ไต้หวัน (+3.8%YoY) และจีน (+0.5%YoY) ที่กลับมาขยายตัวส่วนหนึ่งจากการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัว

สำหรับการส่งออกหมวดอิเล็กทรอนิกส์ของไทยปรับดีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ส่วนหนึ่งจากการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวได้ 10.3% เป็นการกลับมาขยายตัวได้ในรอบ 14 เดือน Krungthai COMPASS ประเมินว่าวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่เข้าสู่ช่วงขาขึ้นจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของไทยและหนุนการส่งออกให้กลับมาขยายตัวได้ในปี 2567

- แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังต้อง จับตาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในทะเลแดง เพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกในระยะข้างหน้า 
โดยกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนได้โจมตีเรือสินค้าที่เดินทางผ่านทะเลแดงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 และมีความรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทขนส่งรายใหญ่ของโลกหลายแห่งระงับการเดินเรือผ่านช่องแคบ ‘บับเอลมันเดบ’ ในทะเลแดง ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปกับเอเชีย ทำให้บริษัทขนส่งต้องเดินเรืออ้อมไปยัง ‘แหลมกู๊ดโฮป’ ที่ใช้ระยะเวลาการเดินทางนานขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งปรับเพิ่มขึ้น

และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ คาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกของไปยังตลาดสำคัญอย่างสหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 8% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และจะยิ่งซ้ำเติมการส่งออกไปยังยุโรปที่หดตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่ชะลอตัว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์