คิดนาน – ทำช้า นายกฯ จับเข่าคุย 4 แบงก์ใหญ่

23 เมษายน 2567 - 08:27

bank-money-meeting-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ได้เวลาคุยกับ 3 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และ 1 ธนาคารของรัฐฯ

  • นายกรัฐมนตรี จับเข่าคุยเรื่องลดดอกเบี้ย ช่วยเศรษฐกิจ

  • รอบนี้คุยแบบอ่อนน้อม ไม่กดดันเหมือนคุยกับแบงก์ชาติ

คงต้องยอมรับว่า นายกฯ เศรษฐาผ้าขาวม้าหลากสี เป็นผู้นำที่มีคาแรคเตอร์และการทำงานแบบ ‘เข็มขัดสั้น’ คาดไม่ถึง และสามารถสร้างความน่าประหลาดใจให้กับสื่อมวลชนเสมอ

ล่าสุดช่วงเช้าของวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา ซึ่งสวมหมวกอีกใบในฐานะรมว.คลัง เชิญผู้บริหารจาก 4 แบงก์ใหญ่ของไทย คือ ‘ชาติศิริ โสภณพนิช’ จากแบงก์กรุงเทพ ‘ขัตติยา อินทรวิชัย’ จากกสิกรไทย  **‘อาทิตย์ นันทวิทยา’**จากไทยพาณิชย์ และ ‘ผยง ศรีวณิช’ จากกรุงไทย มาหารือถึงภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป และฝากขอให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการลดอัตราดอกเบี้ยให้กับกลุ่มเปราะบางทั้ง SME และรายย่อย

นายกฯ เศรษฐา ทวิต บนแพลตฟอร์ม X ว่า ก่อนการประชุม ครม. ได้หารือร่วมกับ ผู้บริหารจากทั้ง 4 แบงก์ โดยมีการปรารภถึงรายงานผลประกอบการของธนาคาร และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มเปราะบางกำลังมีปัญหาจึงอยากขอให้ธนาคารช่วยดูแลเรื่องดอกเบี้ยให้กลุ่มนี้เป็นการเฉพาะซึ่งทั้ง 4 ธนาคารได้รับปากจะไปพูดคุยหารือกัน พร้อมกับขอบคุณที่ช่วยรับเอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนไปพิจารณาหาทางช่วยกัน  

ในการให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม นายกฯ เศรษฐา ระบุว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งมาก เห็นได้จากผลประกอบการที่ออกมา (กำไรอู้ฟู่) จึงขอร้องด้วยการพูดคุยในลักษณะ ‘คนที่รู้จักกันมา’ ขอให้ทั้ง 4 ธนาคารช่วยพิจารณาดูแลเรื่องดอกเบี้ยให้กับ ‘กลุ่มเปราะบาง’ ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอีหรือรายย่อย พร้อมทั้งระบุว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการแข่งขันด้านธุรกิจหรือมาชิงดีชิงเด่นกัน แต่อยากให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และอยากให้พิจารณาดูว่าจะช่วยเหลือได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร 

‘ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาว่าต้องให้คำตอบเมื่อไร เพราะถือเป็นเรื่องที่ให้เกียรติกัน เพราะเป็นคนในวงการเดียวกัน อยู่ด้วยกันมา 20 ปีแล้ว รู้จักกันดี มองตาก็รู้ใจว่าเราต้องการอะไรซึ่งกันและกัน ได้แค่ไหนแค่นั้น คงไม่ได้ไปกดดันอะไร และบรรยากาศในการพูดคุยเป็นไปด้วยดี’

นายกฯ เศรษฐาพูดถึงท่าทีในการพูดคุย ซึ่งเป็นไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

ก่อนการเชิญทั้ง 4 แบงก์มาพา นายกฯ เศรษฐา คงได้เห็นตัวเลขผลประกอบการของบรรดาแบงก์ในไตรมาสแรกของปีนี้ต่าง ๆ ออกมา ซึ่งปรากฏว่าทั้ง 11 แบงก์ มีกำไรรวมกันแบบอู้ฟู่ถึงราว 6.39 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วถึง  24% และสูงขึ้นกว่าไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว 6.11% 

ที่สำคัญทั้ง 4 แบงก์ ต่างมีกำไรอยู่ในลำดับต้น ๆ ในระดับหมื่นล้านบาท โดยไล่เรียงไปตั้งแต่ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงเทพ และกรุงไทย

นายกฯ เศรษฐา คงอาจจะหวังว่าหากทั้ง 4 แบงก์ใหญ่ให้ความร่วมมือลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ก็น่าจะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยทั้งระบบปรับลงมาได้ โดยไม่ต้องไปเสียเวลาและอารมณ์ ในการเปิด ‘วอร์’ กดดันผู้ว่าฯ แบงก์ชาติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามหน้าสื่ออีกต่อไป

ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้อง เพียงแต่ควรคิดได้เร็วกว่านี้ แทนที่จะปล่อยเวลาให้ลากยาวมาถึงกว่า 7 เดือน

ที่น่าสังเกตก็คือ หากดูเนื้อหาของการพูดคุย นายกฯ เศรษฐาดูจะ ‘มีท่าทีค่อนข้างเป็นมิตร’  ไม่ได้ออกอาการ **‘กดดัน ข่มขู่ คุกคาม หรือ ออกลูกประชดประชัน’**เหมือนท่าที่เขาแสดงออกกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ซึ่งอาจจะเพราะยังมีลูกเกรงใจตั้งแต่สมัยเป็นนักธุรกิจ

ตรงกันข้ามกับก่อนหน้านี้ในระหว่างที่ นายกฯ เศรษฐา เปิดศึกกับแบงก์ชาติฝ่ายเดียว เพื่อกดดันให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนมีหลายฝ่ายเตือนว่า รัฐบาลและแบงก์ชาติไม่ควรสร้างภาพของความขัดแย้งในเชิงนโยบายด้านการเงิน และการคลัง แต่ควรปรับความเข้าใจให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะจะส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ขณะเดียวกันมีข้อเสนอว่าหากรัฐบาลอยากจะช่วย SME และ **‘กลุ่มเปราะบาง’**โดยเฉพาะ สามารถใช้กลไกของสถาบันการเงินในภาครัฐ อย่าง ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคาร SME ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบางประเภทลง เพื่อเป็นตัวนำให้แบงก์พาณิชย์ต้องยอมปรับลดลงมาแข่งขันเพื่อรักษาฐานลูกค้าของตัวเอง โดยภาระส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง รัฐบาลอาจให้กระทรวงการคลังช่วยรับภาระแทน แต่ความเห็นนี้กลับไม่ได้รับความสนใจจาก นายกฯ เศรษฐา    

การตัดสินใจเลือกมาคุยกับผู้บริหารทั้ง 4 แบงก์ในตอนนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะตอบรับข้อเรียกร้องของ นายกฯ เศรษฐา หรือไม่ แต่คาดว่า ผยง ศรีวณิช จากแบงก์กรุงไทย ซึ่งมีตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทย คงจะมีการนำเรื่องนี้ไปหารือในสมาคมฯ อีกครั้งว่าจะสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อในแต่ละประเภทลงจากเดิมได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกับนโยบายของรัฐบาล

สุดท้ายหากไม่มีเสียงตอบรับในทางบวก บางทีสุดท้ายนายกฯ เศรษฐาอาจจำเป็นต้องกลับมาใช้ทางเลือกที่มีคนเสนอเอาไว้ คือ การใช้กลไกของแบงก์รัฐในการลดอัตราดอกเบี้ยลง ทั้ง ๆ ที่นายกฯ เศรษฐาในฐานะรมว.คลัง ควรคิดได้ทำเร็วกว่านี้ มานานแล้ว...

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์