‘วันนอร์’ ประมุขสภาในร่มเงาเพื่อไทย

22 เมษายน 2567 - 07:06

DeepSpace_วันนอร์ประมุขสภาในร่มเงาเพื่อไทย-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ข่าวการเปลี่ยนตัวประธานสภาฯ จากพรรคประชาชาติเป็นเพื่อไทยเริ่มดังขึ้น

  • หัวหน้าพรรคพร้อมเปลี่ยน แต่เจ้าตัวเห็นตรงข้าม

  • แม้ว่าทั้ง 2 พรรคมีจุดเริ่มต้นเดียวกันก็ตาม

ผ่านมาถึงวันนี้ กระแสการเปลี่ยนตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร จาก ‘วันมูหมัดนอร์ มะทา’ ไปเป็นคนของพรรคเพื่อไทย ยังเป็นข่าวกระเซ็นกระสายอยู่บนหน้าสื่อ ซึ่งล่าสุดมีข่าวอาจขยับอาจารย์วันนอร์ ไปนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ให้ดูแลปัญหาภาคใต้ แลกกับเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ข่าวดังกล่าวสอดรับกับที่ ‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม’ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ บอกกับนักข่าวในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรค เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายนที่ผ่านมาว่า 

‘พรรคประชาชาติ ได้โควตารัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่พรรคฯ ก็อยากได้ 2 คน เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้’

แต่เมื่อนักข่าวไปสอบถามประเด็นดังกล่าวจากอาจารย์วันนอร์ ที่มาร่วมประชุมพรรคด้วยในวันเดียวกัน ‘กลับไม่มีคำตอบและเดินเลี่ยงออกจากวงสัมภาษณ์ทันที’

ว่ากันตามสูตรคณิตศาสตร์การเมืองแล้ว พรรคขนาด 9 เสียงอย่างประชาชาติ ลำพังได้เก้าอี้รัฐมนตรี 1 ว่าการฯ ก็ถือว่าหรูแล้ว แถมยังมีเก้าอี้ประธานสภาฯ อีกหนึ่ง ซึ่งหากจะเพิ่มเก้าอี้รัฐมนตรีให้อีก ก็คงต้องมีการคายบางเก้าอี้ โดยเฉพาะตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

กล่าวสำหรับเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรของอาจารย์วันนอร์ ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในวันที่ 4 กรกฎาคม ปี2566 หลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคมปีเดียวกัน แม้จะได้รับการเสนอชื่อโดย ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในขณะนั้น 

แต่กว่าจะมาเป็นชื่ออาจารย์วันนอร์ได้ ก็ต้องผ่านการพูดคุยกันหลายครั้ง ระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย เพราะต่างก็ไม่ยอมลงให้กัน เนื่องจากเห็นว่า เมื่อพรรคอันดับ 1 ได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปแล้ว เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นของพรรคอันดับ 2 

จนสุดท้ายหวยไปออกที่ ‘ตาอยู่’ อาจารย์วันนอร์ ในฐานะคนกลาง

ทว่าในทางการเมือง พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นคนละพรรคกัน แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า สองพรรคนี้ใช้ ‘สายสะดือ’ อันเดียวกัน เพียงแต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง ที่ยี่ห้อเพื่อไทยขายไม่ได้ในพื้นที่ชายแดนด้ามขวาน 

อันสืบเนื่องจากบาดแผลลึกและตราบาปในสมัยที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้นโยบายความรุนแรงจัดการปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ โดยมองกลุ่มเห็นต่างเป็นเพียง ‘พวกโจรกระจอก’ ทั้งเหตุการณ์ ‘กรือเซะ’ และ ‘ตากใบ’ จึงเป็นตราบาปที่แกะไม่ออก ทำให้คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปฎิเสธไม่เลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

ด้วยเหตุนี้นักการเมือง ‘กลุ่มวาดะห์’ ที่ยังมีความแนบแน่นอยู่กับนายใหญ่ และผู้นำจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย จึงออกแบบการเมืองใหม่ด้วยการไปตั้ง พรรคประชาชาติ ขึ้นมาในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี2562

‘ประชาชาติ’ จึงเสมือนเป็นโมเดลของการ ‘แตกแบงก์พัน เป็นแบงก์ร้อย’ ของเพื่อไทย ที่หลงเหลืออยู่รอดมาถึงวันนี้

ส่วนการจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคเพื่อไทยตามที่ปรากฎเป็นข่าว คงไม่ใช่เหตุผลจากการปรับครม.ที่ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงเก้าอี้ประธานรัฐสภาหรอก เพราะไม่ว่าจะเป็นการยกเครื่อง หรือจัดทัพการทำงานสภา เพื่อรองรับการเปิดสมัยประชุมในปีที่สอง ที่จะมีร่างกฎหมายสำคัญๆ เข้าสู่การพิจารณาเป็นจำนวนมาก ก็เพียงแค่สลับสับเปลี่ยนหน้าหรือเติมคนจากพรรคเพื่อไทยเข้าไปเท่านั้นเอง

แต่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การออกมาแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวของอาจารย์วันนอร์ เมื่อ 2-3 วันก่อน ถือได้ว่าสมกับที่เป็น ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นคำประกาศที่ว่า 

‘ถึงส่งสัญญาณ ก็เป็นสัญญาณที่รับไม่ได้’

หรือการยืนยันซ้ำ ๆ หลายครั้งว่า การปรับครม.เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี แต่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของสภาฯ

‘ผมไม่มีอะไรส่วนตัว แต่เกียรติศักดิ์ศรีของสภา ผมในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติต้องรักษาไว้’

อาจารย์วันนอร์ ยังยกเอารัฐธรรมนูญมาสำทับด้วยว่า วาระการดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ นั่นคือ มาตรา 117 กำหนดให้ ‘ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งจนสิ้นอายุของสภาผู้แทนราษฎร’

อีกทั้งต้องดำรงตนเป็นกลาง จะเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใด ๆ ไม่ได้ ตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 116 วรรคท้าย 

‘ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นกรรมการบริหารหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองขณะเดียวกันมิได้’

ย้อนไปดูการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 18 เมษายน ปี2526 พรรคชาติไทย ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง จับมือกันจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยเลือก ‘อุทัย พิมพ์ใจชน’ หัวหน้าพรรคก้าวหน้า ที่มีสส.3 ที่นั่ง ให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อมามีการ ‘พลิกขั้ว’ เกิดขึ้น ทำให้พรรคชาติไทย ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน แต่อุทัย ก็อยู่ในเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร จนสภาสิ้นสุดลงด้วยเหตุแห่งการถูกยุบในวันที่ 1 พฤษภาคม ปี2529

เอาเรื่องในอดีตมาให้ดู เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์การเมืองในสภาว่าด้วยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ หรือที่อาจารย์วันนอร์บอกเป็นเสาหลักประชาธิปไตย ไม่ได้นึกจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนกันได้ง่ายๆ เว้นแต่เจ้าตัวจะสมัครใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แม้จะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า อาจารย์วันนอร์เป็นประมุขสภาภายใต้ร่มเงาพรรคเพื่อไทยก็เถอะ!!

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์