แคนดิเดตประธาน ‘ตลท.’ หลัง ‘พิชัย’ ลาไปเป็นขุนคลัง

22 เมษายน 2567 - 08:57

Deep Space-กิตติรัตน์ นั่งประธานตลท-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีที่คาดว่าจะเกิดขึ้น มีผลต่อเนื่องกับหลายวงการ

  • การขยับในส่วนรัฐมนตรีคลัง มีผลกับ ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยตรง

  • ชื่อ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ถูกกล่าวถึงอีกครั้งในตำแหน่ง ประธานบอร์ด ตลท.

ข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีที่เริ่มมีความเคลื่อนไหว และมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงคนในแวดวงการเมืองเพียงจุดเดียว แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงองค์กรสำคัญในตลาดทุนอย่าง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.โดยตรง

แรงสะเทือนส่งไปไกลถึง ตลท. เพราะการปรับ ครม.คราวนี้ อาจหมายถึง ‘นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน’ จะสละเก้าอี้ขุนคลัง ‘พาร์ตไทม์’ เพื่อไปควบตำแหน่ง รมว.กลาโหมแทน ‘บิ๊กทิน’ สุทิน คลังแสง ที่มีข่าวว่าโดนโยกกลับไปช่วยการเมืองในสภาฯ โดยคนที่จะเข้ามารับตำแหน่งแทน ซึ่งคงต้องทำงานแบบ ‘ฟูลไทม์’ เพื่อมาเร่งงานด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่เต็งหามชนิดนอนมา หนีไม่พ้น ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

แต่การลุกมานั่งในตำแหน่ง รมว.คลัง ก็ทำให้ พิชัย ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 18 หลังจากเพิ่งเข้าไปรับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แทน ‘ประสาร ไตรรัตน์วรกุล’ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 

พิชัย ต้องถือว่าเป็นคนของพรรคเพื่อไทยมานานพอสมควร เพราะในสมัยรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เมื่อเดือนเมษายน 2557 ซึ่งในตำแหน่งหลังนี้เองที่ดูเหมือนว่าอาจเป็นคุณสมบัติที่อาจจะสามารถสื่อสารในภาษาเดียวกันกับ ธปท.ได้ราบรื่นมากกว่าการเปิดศึกโดยตรงกับแบงก์ชาติเหมือนที่ผ่านมา 

เมื่อชื่อของ พิชัย ได้รับไฟเขียวจาก ‘ผู้มากบารมี’ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าแล้ว ก็ต้องมองกลับมาที่ตำแห่งประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องหาคนมานั่งแทนพิชัย ซึ่งเริ่มมีกระแสข่าวออกมาว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะตัดสินใจ **‘เปิดหน้า’ ** ส่งคนสายตรงทางการเมืองเข้ามารับตำแหน่งโดยตรง แทนที่จะใช้คนนอกที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดเหมือนอดีตที่ผ่านมา   

ชื่อของ ‘แคนดิเดต’ ในเวลานี้มี 3 คน ที่น่าจะมีคุณสมบัติเพียงพอ คือ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง, พิชัย นริพทะพันธุ์ และ สุชาติ ธาดาธำรงเวช ซี่งต่างก็ต้องถือว่าเป็นคนในพรรคทั้งหมด
หากไม่มองเรื่องกำลังภายในทางการเมือง และลองหยั่งเสียงจากฟากตลาดทุน ชื่อของ โต้ง กิตติรัตน์ น่าจะมีภาษีดีที่สุด เนื่องจากเคยผ่านตำแหน่งใหญ่ทางการเมืองมาแล้ว คือเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันเขายังมีดีกรีนั่งเป็นถึงประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย และต้องจัดว่าเป็น ‘คนสนิทที่รู้ใจ’ นายกฯ เศรษฐามากที่สุดคนหนึ่ง และมีอิทธิพลทางความคิดที่ทำให้นายกฯ เศรษฐา ตัดสินใจลงมาเล่นการเมือง

ที่สำคัญ กิตติรัตน์ ยังเคยนั่งในตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯคนที่ 9 ในระหว่างปี 2544-2549 ซึ่งเป็นยุคที่ ตลท.มีการ ‘รีฟอร์ม’ และมีสีสันมากที่สุดยุคหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดแพลตฟอร์มซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ผ่าน SET Trade.com การจัดตั้งตลาดตราสารหนี้ BEX ตลาดอนุพันธ์  TFEX และมีการขยายฐานนักลงทุนโดยการทำกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนที่หลากหลาย การจัดกิจกรรม SET in the City หรือ การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อการลงทุน Money Channel  

ก่อนหน้านี้ กิตติรัตน์เองก็เคยพยายามลงไปแก้ไขปัญหาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการคุ้มครองนักลงทุนที่มีหลายกรณีบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างมาก

ซึ่งเขามองว่า ตลท.ยังขาดความฉับไวในการแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยให้กลับมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง หุ้นร้อน ที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ MORE ที่สร้างความเสียหายอย่างมากโดยเฉพาะกับบริษัทหลักทรัพย์ หรือ STARK ที่ร่วมกันตกแต่งบัญชี สร้างทั้งออเดอร์และลูกหนี้ปลอม

นอกจากนี้ยังมีกรณีการเทรดผ่านระบบ **High Frequency Trading (HFT)**ระบบการส่งคำสั่งซื้อขายที่มีความถี่สูง ยังเป็นที่น่ากังวลว่าระบบดังกล่าว จะเข้ามาช่วงชิงความได้เปรียบนักลงทุนรายย่อยหรือไม่ รวมทั้งการทำ ‘Naked Short Selling’ ที่ยังถกเถียงกันว่ามีการทำธุรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ซี่งต้องสร้างความกระจ่างให้แก่นักลงทุน

เพราะทั้งหมดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลออกมีการขายสุทธิหุ้นไทยอย่างหนักตั้งแต่ปีก่อน และทำให้มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดหุ้นไทยอยู่ใน ‘ระดับต่ำ’ และเบาบางลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับอดีต

วงการตลาดทุนมีความเชื่อว่า หาก กิตติรัตน์ ตัดสินใจที่จะยอมลดระดับเพดานบินทางการเมือง โดยยอมลงมานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ ตลท.จริง น่าจะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างดีจากบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯชุดปัจจุบัน และน่าจะเห็นนโยบายการใช้กลไกตลาดทุนเป็นเครื่องมือในการระดมทุน เพื่อนำไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น 

ปัจจุบันคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯมีจำนวน 11 คน ประกอบด้วย 

พิชัย ชุณหวชิร เป็นประธานกรรมการ 

พิเชษฐ สิทธิอำนวย เป็นรองประธานกรรมการ 

ส่วนอีก 9 คน ได้แก่ กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์, คมกฤช เกียรติดุริยกุล, ม.ล.ทองมกุฎ ทองใหญ่,ธิติ ตันติกุลานันท์, รวินทร์ บุญญานุสาสน์, ศุภโชค ศุภบัณฑิต, โสภาวดี เลิศมนัสชัย และภากร ปีตธวัชชัย ซึ่งเป็นกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ด้วย 

อย่างไรก็ตามในทางการเมือง ชื่อของ พิชัย นริพทะพันธุ์ ก็เป็นชื่อที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ เพราะ กิตติรัตน์ อาจจะตัดสินใจเลือกที่จะทำงานการเมืองและช่วยกำกับนโยบายเศรษฐกิจในภาพใหญ่ให้กับนายกฯ เศรษฐา และเปิดทางให้กับ พิชัย ที่แสดงความสนใจ และเป็นคนคุ้นเคยของพรรคเพื่อไทยอีกคนหนึ่ง ผ่านการเป็นเสนาบดีกระทรวงสำคัญด้านเศรษฐกิจ เช่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน และยังเป็นคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยในช่วงเลือกตั้งด้วย โดยเฉพาะการทำหน้าที่ให้ความคิดเห็นสนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล

ส่วนกรณีของ สุชาติ ธาดาธำรงเวช อาจจะมีความเป็นไปได้น้อยที่สุด เนื่องจากผลงานในพรรคไม่โดดเด่น ถึงแม้จะเคยเป็น รมช.คลัง และได้เลื่อนให้เป็นเจ้ากระทรวงในเวลาต่อมา รวมทั้งยังเคยเป็น รมว.ศึกษาธิการ ในสมัยพรรคพลังประชาชนมาแล้ว แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าแบ็คอัพทางการเมืองยังห่างจากอีกสองคน

จนถึงนาทีนี้ จึงมีโอกาสค่อนข้างสูงที่ โต้ง กิตติรัตน์ อาจจะมานั่งในตำแหน่งประธานตลาดหลักทรัพย์ฯคนที่ 19 หากเขายังไม่ละทิ้งความฝันในอดีตที่อยากสร้างตลาดทุนไทยให้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในอาเซียน และเชื่อว่าน่าจะได้รับสัญญาณบวกมากกว่าคนอื่น ๆ ...

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์