เมื่อมีนายกฯ ชื่อ ‘เศรษฐา’ ทำไมต้องมีผู้ว่าฯ แบงก์ชาติชื่อ ‘เศรษฐพุฒิ’

24 เมษายน 2567 - 10:08

DEEP-SPACE-แฟ้มลับแบงก์ชาติ-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ความเห็นที่ไม่ตรงกันของรัฐบาลกับแบงก์ชาติมีมาตลอด

  • โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท คือสนามรบที่ชัดเจนที่สุด

  • บันทึกแบงก์ชาติที่ออกมา คือสัญญาณที่บอกว่าพร้อมสู้

เชื่อว่าหลังจากที่ ‘นายกฯ เศรษฐา เอฟวัน (F1)’ ได้เห็นเอกสาร 5 หน้า ข้อเสนอต่อการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ เพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (23 เมษายน 2567) คงมีอาการแทบกระอักเป็นโลหิตไม่ต่างจาก ‘จิวยี่’ ในวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ‘สามก๊ก’ และอาจจะเผลอรำพึงรำพันในใจว่า

‘ฟ้าส่งให้ข้ามาเกิด แล้วใยต้องส่ง เศรษฐพุฒิ มาเกิดด้วยเล่า’

แต่ก็ยังดีที่หลังการประชุม นายกฯ เศรษฐา ยังเก็บอาการ สู้อุตส่าห์จัดฉากให้บรรดารัฐมนตรีในปีกพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดมายืนหน้ากระดานเป็นไม้ประดับในการแถลงข่าว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันของรัฐบาลที่ต้องการผลักดัน โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย โดยหวังว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านที่กำลังเฝ้ารอเงินหมื่นจากรัฐบาลด้วยความหงุดหงิดในหัวใจเต็มที

อย่างไรก็ตามหลังการแถลงข่าวคล้อยหลังไปไม่ทันข้ามวัน เมื่อ ‘เอกสารลับ’ ของแบงก์ชาติฉบับดังกล่าว ถูกเปิดเผยออกมา ทำให้หลายคนเกิดคำถามตามมาทันทีว่า รัฐบาลจะยังฝืนเข็นโครงการเรือธงลำนี้ต่อไปหรือไม่? และรัฐบาลจะให้น้ำหนักในการทบทวนโครงการนี้ตามข้อเสนอของแบงก์ชาติมากน้อยแค่ไหน?

ในการแถลงข่าว นายกฯ เศรษฐา เพียงแต่เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการของกรอบการดำเนินงานโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมทั้งรับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำไปกำหนดรายละเอียด 

ส่วนข้อห่วงใยต่าง ๆ เช่น ข้อสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.หรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ พร้อมกับระบุว่าทุกพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบในหลักการโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต

แต่หากพิจารณาไส้ในเนื้อหาเอกสารฉบับดังกล่าว แทบจะบอกได้ว่าแบงก์ชาติแสดงจุดยืนและตัดสินใจ ‘ชักธงรบ’ คัดค้านการทำโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อย่าง ‘เปิดหน้าชัดเจนแบบไม่อ้อมค้อม’ โดยระบุว่า เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระผูกพันต่อรัฐบาลในระยะยาว จึงควรจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย ก่อนที่ ครม.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการของโครงการ 

แบงก์ชาติตั้งข้อสังเกตความเห็นและข้อห่วงใยใน 4 ประเด็นหลักๆ คือ

ความจำเป็นและคุ้มค่าของโครงการ รวมทั้งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ โดย แบงก์ชาติความเห็นว่า สภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถึงแม้จะยังฟื้นตัวไม่ดีพอ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะกระตุ้นการบริโภคในวงกว้าง โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัวได้ที่ 7.1%

แต่โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และจะเพิ่ม ‘ความเสี่ยง’ ที่ประเทศไทยจะถูก ‘ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ’ จากการประเมินของ Moody's ซึ่งหากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม

นอกจากนี้ การดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูงทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน ภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น

ในทางกลับกัน รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 5 แสนล้านบาท ไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้วงเงิน เฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) จะสามารถสร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง โครงการ เรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) จะสามารถสนับสนุนได้นานถึง 6 ปี

แม้แต่โครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน อย่าง โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 10 สาย หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 2 สาย

แบงก์ชาติ เสนอแนะว่า รัฐบาลควรลดขนาดของโครงการ มาเน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ (targeted)เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากคนกลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่ม รายได้อื่น

ในส่วนของแหล่งเงินทั้ง 3 แหล่งที่จะมาใช้ดำเนินโครงการ แบงก์ชาติมองว่าอาจมีปัญหาข้อจำกัดด้านกฎหมาย และต้องมีแหล่งเงินงบประมาณมารองรับเต็มจำนวนคือ 5 แสนล้านบาท ซึ่งหากไม่มีเพียงพอ จะผิดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.เงินตรา 2501

ที่สำคัญการการให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. มาร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการควรมี ‘ความชัดเจน’ ว่ายังอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจตามวัตถุประสงค์ใน มาตรา 9 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้ง ธ.ก.ส.2509 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยควรมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน  

สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชัน ผู้พัฒนา Developer และดำเนินการระบบOperator ของโครงการ แบงก์ชาติตั้งข้อสังเกตว่า ตัวโครงการต้องรองรับธุรกรรมจากผู้ใช้งานจำนวนมากถึง 50 ล้านคน และ ยังมีเงื่อนไขการใช้สิทธิ์ที่ซับซ้อน จึงเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาให้เสร็จโดยเร็ว และอาจเกิดความเสี่ยงเชิงระบบ ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ จึงต้องมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาและดำเนินการระบบได้จริง

เรื่องสุดท้าย คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต แบงก์ชาติให้ความเห็นว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต ในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับเงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้าต้องห้ามและมาตรการป้องกันในการห้ามไม่ให้มีการซื้อสินค้าดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพ และการตรวจสอบว่ามีการซื้อขายสินค้าจริง และป้องกันไม่ให้มีการขายลดสิทธิ์ (discount)

สรุปง่าย ๆ เพียงคำเดียวหากอ่านเอกสารทั้ง 5 หน้าของแบงก์ชาติก็คือ ‘ไม่เห็นด้วย’ ในการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในเกือบทุกประเด็น แต่หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ควรแจกเงินเฉพาะในส่วนของกลุ่มเปราะบางที่มีประมาณ 15. ล้านคนมากกว่า

เมื่อออกมาขวางทางปืนขนาดนี้ คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า นายกฯ เศรษฐา ผู้สวมบท ‘จิวยี่’ แบบไม่เต็มใจ ที่ทำเนียบฯ จะอยู่ร่วมกับ ‘ขงเบ้ง’ ผู้ว่าฯ ‘นก’ เศรษฐพุฒิ แห่งวังบางขุนพรหม ต่อไปอย่างไร

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์