เลือกตั้ง ‘สว.67’ ตัวแทนของใคร?

24 เมษายน 2567 - 08:02

DEEP-SPACE-เลือกสวเพื่อใคร-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ถ้าเป็นไปตามกำหนดไม่มีอะไรติดขัด กรกฎาคมนี้จะมี สว.ชุดใหม่

  • การเลือกตั้ง สว. ครั้งล่าสุด คือความแปลก ความสับสน ของการเลือกตั้ง

  • หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าขัดรัฐธรรมนูญ

สะเด็ดน้ำไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี2567 หลังครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง สว.ไปเมื่อวานนี้(23 เมษายน 2567) โดยให้เปิดรับสมัคร วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เลือกระดับอำเภอ วันที่ 9 มิถุนายน 2567 เลือกระดับจังหวัด วันที่ 16 มิถุนายน 2567 เลือกระดับประเทศ วันที่ 26 มิถุนายน 2567 และประกาศผลเลือกตั้ง วันที่ 2 กรกฎาคม 2567

วันนี้มี กกต.บางจังหวัดออกตัวโชว์ความพร้อมนำร่องไปก่อนแล้ว

การเลือกตั้ง สว.ที่จะมีขึ้นหนนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งแบบเต็มรูปตามรัฐธรรมนูญ ปี2560  เพราะ สว.ชุดปัจจุบัน 250 คน มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช.ทั้งหมด แม้จะมีบางส่วนมาจากการทดสอบให้เลือกกันเองตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่สุดท้ายก็ต้องส่งรายชื่อไปให้ คสช.เป็นคนเลือกและแต่งตั้งอยู่ดี

ดังนั้น การเลือกตั้ง สว.ที่จะมีขึ้น หลัง สว.ชุดแรกครบเทอมในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 จึงมีคำถามตามมามากมาย ถึงขั้นมีผู้ไปยื่นเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกลไกการเลือกตั้งที่ออกแบบไว้นั้น มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในขณะที่บางคนไม่ติดใจกติกาที่ออกแบบไว้แบบ ‘พิสดาร’ และไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ใช้วิธีการเลือกตั้งสว.แบบนี้ โดยเฉพาะการไปจำกัดสิทธิของประชาชนไว้ในหลาย ๆ ส่วน อาทิ ผู้สมัครต้องมาจาก 20 กลุ่มอาชีพ และต้องเสียค่าสมัคร 2,500 บาท ในการเข้าไปใช้สิทธิเลือกกันเองเข้าไปเป็น สว.

เพราะถือเป็น ‘การลิดรอนสิทธิ’ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและไม่ได้ลิดรอนสิทธิเพื่อประโยชน์คนใดคนหนึ่ง

อีกทั้ง เห็นว่า การเลือกสว.ในรูปแบบใหม่นี้ จะป้องกันการทุจริตได้ระดับหนึ่ง รวมถึงไม่ข้องเกี่ยวกับพรรคการเมืองและจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการเลือกตั้งสว.ไปแล้ว

ทีนี้ไปดูหลักการในรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติเรื่องอำนาจอธิปไตย ตลอดถึงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อหาตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในการใช้อำนาจเหล่านั้น ได้กำหนดเอาไว้อย่างไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่ มาตรา 3 รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย’

ถัดไปในหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 (7) บัญญัติไว้ว่า ‘ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ’

ต่อไปในมาตรา 95 บัญญัติเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งเอาไว้ว่า ‘บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’  

(1) เป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง

ในขณะที่มาตรา 114 กำหนดให้ ‘สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย’

สุดท้ายกลับมาที่มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า ‘รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้’

นำรัฐธรรมนูญมากางให้ดู เพื่อชี้ให้เห็นว่า สส./สว.ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องมาจากการเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็น ‘หน้าที่’  ของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่เป็น ‘สิทธิ’  ที่จะไปหรือไม่ก็ได้ ทั้งยังมีกฎหมายกำหนดการตัดสิทธิและเสียสิทธิเอาไว้กรณีไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย

แต่การเลือก สว.หนนี้ กลับจำกัดจำเขี่ย สงวนไว้ให้เฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่อยู่ใน 20 กลุ่มอาชีพ และต้องเสียค่าสมัคร 2,500 บาทก่อนเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิเข้าไปเลือก สว.ได้

เมื่อเป็นดังนี้ จึงเป็นกติกาที่ ‘หมิ่นเหม่’ ต่อการขัดกับมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ แม้จะมองเป็นการลิดรอนสิทธิตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ตาม 

สุดท้ายไม่แน่ใจว่า สว.200 คน ที่ให้ผู้สมัครเลือกกันเองเข้ามานั้น จะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ได้หรือไม่ 

หรือเป็นตัวแทนของใครกัน?!

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์