แก้รัฐธรรมนูญ เสี่ยงตกม้าตาย!

18 เมษายน 2567 - 07:39

Deep SPACE-แก้รัฐธรรมนูญ ตกม้าตาย-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไข มาตรา 210

  • ผลที่ตามมา คือ ขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญ อาจเดินหน้า หรือถอยหลังก็ได้

  • กลายเป็นเหลี่ยมการเมืองของพรรครัฐบาล กับ ฝ่ายค้าน

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่ประธานรัฐสภา ขอให้วินิจฉัย เนื่องจากไม่เข้าตามเงื่อนไข มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44

เหตุเพราะคำร้องดังกล่าว ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และคำร้องมีสาระสำคัญเป็นเพียงข้อสงสัย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว  

เมื่อเหตุการณ์เดินมาถึงจุดนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ จึงมีทั้งความง่ายและความยากอยู่ในตัว แต่จะค่อนไปทางยุ่งยากเสียมากกว่า

ที่ว่าง่ายก็เพราะได้สิ้นสงสัยเรื่องการทำประชามติกันเสียที เนื่องจากจะเหลือเพียงแนวทางตามที่คณะทำงานชุด ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ศึกษาไว้และสรุปเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี นำเข้าขอความเห็นชอบที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า และส่งต่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปดำเนินการออกเสียงประชามติต่อไป

ส่วนที่จะนำไปสู่ความยุ่งยากนั้น มีอยู่นานัปการ ทั้งการทำประชามติ 3 ครั้ง ที่ทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท และต้องใช้เวลานานในการดำเนินการออกเสียงประชามติ

ต่อมาเป็นความยุ่งยากที่มากกว่าการใช้เวลานานและการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะมีความเห็นต่างกันเรื่องคำถามประชามติ โดยผลศึกษาของรัฐบาลให้ถามคำถามเดียวโดด ๆ ว่า 

‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์’

แต่คำถามดังกล่าวพรรคฝ่ายค้านและองค์กรภาคประชาชน เห็นว่าเป็นคำถามที่**‘ยัดไส้’** ไม่เปิดกว้าง พร้อมเสนอคำถามของตัวเองประกบ ให้มีทั้งคำถามหลักและคำถามรอง โดยคำถามหลักให้ถามว่า 

‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)’

ส่วนคำถามรองหรือคำถามพ่วง ให้ถามว่า 

‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า สสร.ควรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด’

โดยทั้งสองคำถามได้ขยายความการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ว่า โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ 

พร้อมระบุเหตุผลว่า คำถามหลักควรมีลักษณะเปิดกว้างที่สุด เพื่อสร้างความเห็นร่วมได้มากที่สุด และเป็นคำถามที่ถามถึงทิศทางภาพรวมโดยไม่มีเงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยที่จะทำให้ประชาชนอาจจะเห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม หรือไม่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม หรือกีดกันใครออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รวมความแล้ว ต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย และดูเหมือนจะจับทางกันได้ทันเหมือน ‘ผีเห็นผี’ด้วยกันว่า ทำไมต้องยกเว้นในบางหมวด และทำไมต้องเปิดกว้าง ก็เพราะเกรงอีกฝ่ายจะอ้างเอาผลของประชามติไปรื้อหมวด 1 หมวด 2 แม้จะรับปากไว้ไม่เข้าไปยุ่งในสองหมวดนี้ก็ตาม

โดยฝ่ายที่ไม่ให้แตะหมวด 1 หมวด 2 เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีด้วยกันตั้ง 18 หมวด และที่เหลือล้วนเป็นหมวดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งนั้น ใยมาติดใจอยู่เฉพาะสองหมวดนี้เท่านั้น 

ทีนี้มาดูความยุ่งยากที่สุด น่าจะอยู่ที่กฎหมายประชามติฉบับปัจจุบัน ซึ่งนับตั้งแต่ประกาศใช้มายังไม่เคยถูกนำไปใช้แม้แต่ครั้งเดียว ได้วางหลักเกณฑ์ที่เรียกว่า เสียงข้างมากสองชั้น เอาไว้สำหรับการออกเสียงประชามติ 

นั่นคือ จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบจะต้องได้มากกว่าครึ่งของผู้ที่มาใช้สิทธิออกเสียง ถึงจะเรียกว่า ‘ผ่านการรับรอง’  การทำประชามติได้

ถือเป็นปราการสำคัญที่ฝ่ายการเมืองมองว่าคงผ่านไปได้ไม่ง่าย

ในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ฝ่ายค้านจะไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่เปิดกว้างก็ตาม แต่จากคำพูดของ ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ว่า 

‘ระหว่างทำให้สุดแต่ไม่เกิดผล แต่ถ้าทำแบบที่เราเสนอ แม้จะไม่ได้ถูกใจทุกเรื่อง แต่ก็สามารถทำให้ประชาธิปไตยขยายตัวได้มากขึ้น เป็นประโยชน์หลายอย่าง มีเรื่องที่น่าสนใจกว่าข้อกังวลที่สุดขั้วไป หากเข้าใจจะแก้ปัญหาได้ดีขึ้น’

จากคำพูดที่ว่าของภูมิธรรม คงทำให้ฝ่ายค้านยอม ‘ลดความสุดโต่ง’ ลง และทำในสิ่งที่เห็นว่าน่าจะทำได้ไปก่อน ดีกว่ายอมหักไม่ยอมงอเหมือนที่ผ่านมา และสุดท้ายก็ไม่ได้อะไรเลย

แต่วันนี้ ถึงแม้ฝ่ายค้านจะยอมปรับลดท่าทีลง ก็ยังมีอุปสรรคเรื่องเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น ที่ฝ่ายการเมืองเห็นตรงกันว่ากำหนดเพดานไว้สูงเกินไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นร่างแก้ไขกฎหมายต่อสภา จึงยังมีข้อสุ่มเสี่ยงเรื่อง ‘ตกม้าตาย’ หากการทำประชามติครั้งแรกต้องมีขึ้นในเร็วๆ นี้ ภายใต้กติกาเดิม กฎหมายเดิม

ดังนั้น จึงมีความพยายามเร่งแก้ไขกฎหมายให้เสร็จทันก่อนลงประชามติครั้งที่สอง ที่จะให้ทำไปพร้อม ๆ กับการเลือกตั้ง อบจ.ในช่วงต้นปีหน้า จากนั้น ถ้าผ่านไปได้ประชามติครั้งที่สาม ก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะในร่างฉบับแก้ไข ได้เปิดทางให้การออกเสียงประชามติ สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วย

แต่ที่สำคัญต้องเข็นผ่านด่านแรกไปให้ได้ อย่าปล่อยให้ ‘ตกม้าตาย’ เสียก่อน 

เว้นแต่รัฐบาลจงใจยื้อเวลาเองเพื่อหวังอยู่ยาว เพราะนาทีนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ไม่ว่าอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์