นโยบายเรือธงที่หายไป แก้ รธน.ไปถึงไหนแล้ว

14 มี.ค. 2567 - 08:35

  • ติดตามเรื่องการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเพื่อไทย

  • ทำกันช่วงแรกดูเข้มแข็ง แต่สุดท้ายก็หายไปเฉย ๆ

  • ใครที่ติดตามมาตลอดก็คงต้องทำใจรอต่อไป

economy-council-meeting-politics-SPACEBAR-Hero.jpg

พรรคร่วมฝ่ายค้าน พากันยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติไปเมื่อวาน (13 มีนาคม 2567) ขอตรวจการบ้านรัฐบาลในรอบ 6 เดือน ก่อนจะปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 9 เมษายนนี้

ในบรรดานโยบายหลายเรื่องของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาไว้ และจะถูกฝ่ายค้านนำมาอภิปรายทวงถามความคืบหน้า ไม่เฉพาะเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท  ‘ที่คิดไปทำไป’  หรือเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ที่นำงบประมาณมาละเลงกว่า 5 พันล้านบาทเท่านั้น

หากยังมีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญอยู่ในลำดับต้น ๆ ด้วย แต่วันนี้ยังไม่เห็นความชัดเจน ไม่ตรงกับที่เคยรับปากไว้ จนเรื่องนี้แทบจะหายจากหน้าสื่อไปแล้วด้วยซ้ำ

วันนี้ไปตามดูกันหน่อยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้น ตามนโยบายที่ใช้หาเสียงและแถลงต่อรัฐสภาไว้นั้น มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

หลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมอบหมายให้รองนายกฯ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ เป็นเจ้าภาพ ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวได้ปิดฉากภารกิจไปตั้งแต่ก่อนสิ้นปี2566 และตอนนี้น่าจะสลายวงกันไปแล้ว หลังสรุปผลศึกษาเสนอนายกรัฐมนตรี ให้นำเข้าขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

คงยังจำกันได้ถึงข้อสรุปของคณะทำงานชุดนี้ที่ให้ทำประชามติ 3 ครั้ง พร้อมแนบคำถามเดียวโดด ๆ ทำนองว่า 

"ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ไปแตะหมวด 1 หมวด 2"

ซึ่งเป็นคำถามที่ถูกอีกฝ่ายมองเป็นการตั้งคำถามประชามติที่ ‘มัดมือชก ยัดไส้ ไม่เปิดกว้าง’

ย้อนไปก่อนหน้านั้น คณะทำงานชุดรองนายกฯ ภูมิธรรม ยังมีปัญหากับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่กำหนดเกณฑ์การออกเสียงประชามติไว้ให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้น ซึ่งเห็นว่าอาจมีปัญหาทำให้ประชามติไม่ผ่าน เพราะกำหนดเกณฑ์ไว้สูงเกิน จึงต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดาหรือเสียงข้างมากชั้นเดียวพอ

ตอนนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในท่ามกลางข้อกังขาของสมาชิกวุฒิสภาว่า เมื่อเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ใยถึงไม่เสนอเข้าที่ประชุมร่วมสองสภาหรือรัฐสภา ตามที่กำหนดไว้ในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ

สุดท้ายในขณะที่สถานการณ์จับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ พร้อมสส.เพื่อไทย 123 คน ก็เข้าชื่อกันเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เป็นคิวแทรก ทะลุกลางปล้องขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุผลเพื่อต้องการนำเรื่องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำชัด ๆ อีกรอบว่า ตกลงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่นั้น ต้องทำประชามติกี่ครั้งกันแน่?!

ล่าสุดสมใจชูศักดิ์และคณะในเบื้องต้นไปแล้ว เมื่อประธานฯ ‘วันมูหมัดนอร์ มะทา’ ไม่รับบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณา จึงได้พากันเข้าชื่อเสนอญัตติขอรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งได้มีการนัดหมายประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าวในวันที่ 29 มีนาคมนี้

เมื่อสถานการณ์ดำเนินมาถึงจุดนี้ เรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าผลศึกษาการทำประชามติชุดภูมิธรรม ที่รอนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ หรือการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบมีเป้าหมายของ สส.พรรคเพื่อไทย

ทุกอย่างต้องรอฟังคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่า ตกลงต้องทำประชามติถามประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญกี่ครั้งกันแน่ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง

วันนี้หากถามว่านโยบายเร่งด่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลไปถึงไหนแล้ว ก็เดินมาถึงจุดนี้แหละ จุดที่ทุกฝ่ายยังต้องรอฟังคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง 

หวังว่าคงไม่รอนานถึงกับต้อง..โปรดฟังอีกครั้ง?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์