นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ผ้าขาวม้าหลากสี ผู้นำของไทยที่เพิ่งขึ้นปกนิตยสารไทม์ฉบับล่าสุด นอกจากจะมีบทบาทโดดเด่นจนถูกให้ฉายา ‘Salesman’ ประเทศแล้ว เขายังเป็น ‘นักขายฝัน’ ที่ดูจะมีไอเดียบรรเจิด และมีความทะเยอทะยานไม่มีสิ้นสุด
เห็นได้ชัดจาก โปรแกรมเดินสายโรดโชว์เที่ยวล่าสุดในระหว่างไปเยือนฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐาใช้โอกาสแวะไปพบ ‘Jean Todt’ นักแข่งรถระดับโลก อดีตผู้บริหาร Ferrari และประธานสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ FIA เพื่อขายฝันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Formula E การแข่งขันรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมกับเชิญชวนให้มาเยือนไทยในช่วงกลางเดือนนี้ แต่หลายคนอาจจะแปลกใจว่า ทำไมนายกฯ เศรษฐา จึงไม่เสนอตัวในการจัดแข่งรถสูตร1 Formula 1 แต่กลับเลือกที่จะพุ่งเป้า ‘โฟกัส’ ไปที่การแข่งขันรถ Formula E ชิงแชมป์โลกแทน ซึ่งเรื่องนี้หากพอมีความรู้เรื่องการแข่งขันรถสูตร 1 อยู่บ้าง คงเข้าใจดีว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะแทรกเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขัน Formula 1 เพราะต้องมีความพร้อมและคุณสมบัติที่ตรงตามเงื่อนไขที่ FIA กำหนด และยังต้องมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบการพิจารณาหลายด้าน
สำคัญที่สุด คือ ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ทั้งเรื่องค่าลิขสิทธิ์ การเตรียมความพร้อมของสนามแข่ง และการจัดการแข่งขัน ที่จะต้องได้มาตรฐานในระดับเดียวกับสนามแข่งอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันมีถึง 24 เรซ ปัจจุบันเฉพาะในเอเชียก็มีสนามแข่งถึง 7สนาม อยู่ในตะวันออกกลาง 4 สนาม คือ บาห์เรน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เหลือ คือ จีน ญี่ปุ่น และ สิงคโปร์
หากเทียบกับ การจัดการแข่งขัน Formula E ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นไม่นาน คือเพิ่งมีการจัดครั้งแรกไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ปักกิ่ง จึงให้ยังมีความสดใหม่ และจะมีส่วนช่วยต่อยอดขยายภาพลักษณ์ของไทยในการเป็น ‘ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคตของไทย’ ซึ่งนายกฯเศรษฐา ประกาศให้เป็นหนึ่งในแปดของวิสัยทัศน์แห่งอนาคตของไทย
Formula E คือ การแข่งรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย พลังงานไฟฟ้า 100% แบบล้อเปิด ที่นั่งเดี่ยว ที่ถูกบรรจุให้เป็น 1 ในซีรีส์ของการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่จัดขึ้นภายใต้การดูแลของสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) เริ่มจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2014 ในชื่อ ABB FIA Formula E Championship โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนารถแข่ง ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยประเดิมสนามแรกที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
Formula E มีการจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยรถแข่งถูกกำหนดให้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 200 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 270 แรงม้า ถือว่ามีพละกำลังที่สูงมาก เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวถังที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์น้ำหนัก 800 กิโลกรัมส่งผลให้ Formula E ทะยานจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายในเวลาเพียง 3 วินาที !! ส่วนความเร็วสูงสุดทำได้คือราว 225 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ในระหว่างการแข่งขัน แรงม้าของ Formula E จะถูกจำกัดให้เหลือเพียง 200แรงม้าเท่านั้น โดยอีก 70 แรงม้า จะได้รับอนุญาตให้ใช้ก็ต่อเมื่อนักแข่งได้รับคะแนน Vote จากแฟนคลับทั่วโลก โดยเรียกระบบ Vote เพื่อเพิ่มแรงม้าว่า Fan Boost
เนื่องจากว่ารถแข่ง Formula E สร้างมลภาวะทางเสียงและทางอากาศในปริมาณที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับ Formula 1 การแข่งขัน Formula E จึงสามารถจัดการแข่งขันแบบ Street Circuit ในเมืองหลวงใหญ่ๆได้ ทำให้คนดูสามารถเข้าถึงการแข่งขันได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างเช่น การแข่งขัน Paris E-Prix ที่จัดขึ้นใจกลางเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส รวมไปถึง London E-Prix จัดขึ้นที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ในปีนี้ปฎิทินการแข่งขัน Formula E มีทั้งหมด 16 เรซ ใน 10 สนามแข่งขัน เพื่อเก็บคะแนน เรียงตามลำดับ คือ เม็กซิโก , ดีริยาด(ซาอุดิอาระเบีย) ,เซาเปาโล(บราซิล) ,โตเกียว ,มิซาโน(อิตาลี), โมนาโค ,เบอร์ลิน, เซี่ยงไฮ้ ,พอร์ตแลนด์(สหรัฐฯ) และปิดท้ายที่ ลอนดอน(อังกฤษ) โดยบางสนามจะใช้แข่ง 2 เรซ
หากไทยจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน FIA ก็ต้องมีการมาสำรวจว่า พื้นที่ไหนที่จะมีความพร้อมจะใช้เป็นสนามแข่ง โดยต้องพิจารณาว่าจะจัดในรูปแบบ Street Curcuit ซึ่งอาจจะใช้พื้นที่จัดในเมืองเช่น เชียงใหม่ หรือ จะใช้สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ที่บุรีรัมย์ ที่มีอยู่แล้ว หรือ จำเป็นต้องลงทุนสร้างสนามใหม่ ซึ่งหมายความว่าอาจจะต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 250-500 ล้านเหรียญ หรือราว 8,750-17,500 ล้านบาท
ขณะเดียวกันต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพ โดยหากเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขัน F1 กรังด์ปรีซ์ มาแล้ว 22 ครั้ง ในรูปแบบ Street Curcuit และ Night Race โดยการปิดเมือง ก็ต้องจ่ายสัญญามูลค่าปีละราว 35 ล้านเหรียญ หรือราว 1,225 ล้านบาท ยังไม่นับค่าจัดการแข่งขัน ที่ต้องใช้งบในการบริหารจัดการอีกหลายร้อยล้านบาท
คำถามสำคัญก็คือ ผลประโยชน์ที่ได้รับหากเทียบกับการลงทุนนั้นจะคุ้มค่าหรือไม่ ทั้งในแง่รายได้ที่จะได้จากการจัดการแข่งขัน และผลประโยชน์ทางอ้อมจากการเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว ที่จะดึงดูดผู้ที่ชื่นชอบการแข่งขันรถแข่งให้มาเมืองไทย เพราะก็ต้องยอมรับว่า การแข่งขันรถ Formula E ยังไม่ได้รับความนิยม ถึงขนาดจะมีผู้ชมติดตามการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ระดับหลายร้อยล้านคนเหมือนการแข่งขัน Formula 1
ก่อนหน้านี้หลาย ๆ ประเทศก็มีบทเรียน และล้มเหลวมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย เวียดนาม ที่เคยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ แต่ก็ต้องโบกมือลา เพราะยอดขายไม่เข้าเป้า และมีปัญหาภายในเรื่องคอรัปชั่น ในการจัดการแข่งขัน
ยังไม่มีใครรู้ว่า ฝันของนายกฯ เศรษฐา จะมีโอกาสเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน และหาก FIA สนใจจะให้ไทยเป็นเจ้าภาพ เราจะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในการจัดการแข่งขัน ที่สำคัญภาครัฐจะเป็นเจ้าภาพในการจัดทั้งหมด หรือ จะเล่นบทเป็นผู้สนับสนุน แต่ถึงอย่างไรจนถึงนาทีนี้คงต้องยอมรับว่า นายกฯ เศรษฐา เป็นชายที่มีความฝัน ที่ไม่เคยหยุดนิ่งจริง ๆ
แต่คนเป็นนักฝันทุกคนย่อมทราบดีว่า ถึงแม้ในที่สุดจะกลายเป็นเพียง ‘ฝันสลาย’ หรือเป็นเพียง ‘ฝันแสนไกลแต่ไปไม่ถึง’ แต่ขอเพียงไม่หยุดฝัน สักวันหนึ่งฝันนั้น ก็ต้องเป็นจริงบ้างสักเรื่อง...