วันนี้กระแสนิรโทษกรรม ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งบนหน้าสื่อ ไม่ใช่แค่การปัดฝุ่นเรื่องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีขึ้นในวันก่อนเท่านั้น
แต่เป็นการโยนหินถามทางให้ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีทุจริตจำนำข้าวอยู่ต่างประเทศ ได้เดินทางกลับบ้านโดยไม่ต้องติดคุก ซึ่งไม่แน่ใจจะมีทางลัดไหนทำให้ในเวลาอันรวดเร็วนี้ได้
การพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์ต่างๆ มีมานานร่วม 20 ปีแล้ว โดยผ่านรายงานผลการศึกษาทั้งสิ้น 13 ฉบับ พร้อมแนบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาด้วยเสร็จ แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป
มาครั้งนี้ รัฐบาลผสมที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ในนามของความปรองดองสมานฉันท์ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้้นมาอีกครั้ง ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ศึกษา ซึ่งหากศึกษาเสร็จจะเป็นรายงานฉบับที่ 14
‘นิกร จำนง’ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการชุดนี้ หวังให้เป็นรายงานฉบับสุดท้าย ที่นำไปสู่การนิรโทษกรรมได้จริงๆ ไม่ต้องมีการศึกษาฉบับที่ 15-16-17 หรือฉบับต่อๆ ไปเพิ่มอีก
เบื้องต้นได้นำรายงานผลการศึกษาในอดีตทั้ง 13 ฉบับ มาถอดบทเรียน ดูไส้ใน ดูข้อเท็จจริงว่าทำไมถึงไม่สำเร็จ พร้อมจำแนกคดีความในเหตุการณ์ทางการเมือง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงปัจจุบัน ไล่มาตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่ม นปช.-กปปส.จนถึงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน
ที่ประเมินดูคร่าวๆ เบ็ดเสร็จน่าจะมีอยู่ราว 4-5 หมื่นคดีด้วยกัน
คณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดของนิกร จำนง ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำคดีทั้งหมดมาสรุปเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ในวันที่ 14 มีนาคมนี้ ซึ่งพบว่ามีความหนักเบาแตกต่างกันไปตั้งแต่ความผิด มาตรา 112 มาตรา 116 และความผิดตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างหลังมีมากที่สุด จากการชุมนุมแฟลชม็อบปี2563 ที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับการระบาดของเชื้อโควิด-19
โดยในบางรายพบว่า คนเดียวมีคดีสะสมมากถึง 21 คดี
ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การจำแนกคดีความแบบ ‘แยกปลา แยกน้ำ’ เอาเฉพาะกลุ่มใหญ่ที่เป็นเรื่องเล็กน้อยหรือคดีทั่วๆ ไปให้ขึ้นฝั่งก่อน และแขวนคนบางกลุ่มที่เป็นคดีสำคัญแยกไว้ต่างหาก เพื่อไปใช้ช่องทางอื่นแทน เช่น การขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นต้น
แต่ภายใต้กรอบเวลา 60 วัน ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 เมษายนนี้ เท่าที่ประเมินดู นิกรเชื่อว่าคงเสร็จไม่ทันและต้องขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน ซึ่งอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาพอดี ดังนั้น เมื่อขยายเวลาออกไป พร้อมกับใช้วิธีแยกปลาแยกน้ำที่ว่า จึงมีความมั่นใจสูงว่าเที่ยวนี้จะทำได้สำเร็จ
ที่สำคัญจากการถอดบทเรียนความล้มเหลวในอดีต ทำให้หนนี้จะไม่มีการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ควบคู่ไปด้วย แต่จะสรุปผลศึกษาเป็นกรอบให้แต่ละฝ่ายไปยกร่างกฎหมายเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภากันเอาเอง
ล่าสุดมีร่างฉบับพรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้นร่างรอไว้แล้ว แม้หลักการบางอย่างจะไม่ตรงกันเสียทีเดียว แต่ก็มีบางอย่างที่ตรงกัน เช่น กรอบเวลาที่ให้เริ่มนับตั้งแต่ปี2548 เป็นต้นมา
นอกจากนั้น ท่าทีที่อ่อนลงของ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ในระยะหลัง ที่พร้อมยืดหยุ่นเรื่องความผิดมาตรา 112 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ร่วมกันได้
‘การพิจารณาเรื่องความสมานฉันท์ ไม่ได้มีนิรโทษกรรมอย่างเดียว กระบวนการทำให้คู่ขัดแย้งทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ลดความหวาดระแวง สร้างการมีส่วนร่วม อาจเป็นเงื่อนไขที่ต้องทำให้เกิดขึ้นก่อนจะทำนิรโทษกรรมก็ได้’
ชัยธวัช ย้ำว่า ไม่ควรมองแค่นิรโทษกรรมอย่างเดียว แต่ให้มองภาพรวมการสร้างความสมานฉันท์ด้วย แม้แต่เรื่องมาตรา 112 ที่อาจเห็นต่างกันบ้าง หากรวมเข้าไปด้วยอาจเป็นอุปสรรคทำนิรโทษกรรมไม่ได้เลย..
ดูจากบรรยากาศตรงนี้แล้ว ทำให้การศึกษาเพื่อนำไปสู่การนิรโทษกรรมหนนี้ มีแนวโน้มสูงจะเป็นการศึกษาครั้งสุดท้ายอย่างที่หวังไว้ และเริ่มนำโมเดลคำสั่งที่ 66/2523 ในอดีตมาพูดถึงนำร่องกันกันไปบ้างแล้ว
นาทีนี้จึงเหลือแต่ข้อห่วงใยเรื่องแยกปลา แยกน้ำว่า จะมีอะไรเป็นหลักประกันไม่ให้ปลาที่แยกไว้ถูกทิ้งให้แห้งตายอยู่กลางแดด