จนป่านนี้แล้ว รัฐบาลยังไม่ได้สอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า จะใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธกส. มาแจกประชาชนในโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ตได้หรือไม่
นับจากวันที่ 10 เมษายนที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แถลงข่าวตอบทุกคำถามโครงการดิจิทัล วอลเล็ต นี่ก็ผ่านไป 3 เดือนเต็มแล้ว
เรื่องง่ายๆ แค่เอาหนังสือที่เคยถามกฤษฎีกาว่า ใช้เงินธนาคารอมสินได้ไหม แล้วกฤษฎีกาตอบว่า ‘ไม่ได้’ มาตัดแปะ เปลี่ยนวันที่ เปลี่ยนชื่อ แบงก์ออมสิน เป็น ธกส. เท่านั้น เนื้อหาอื่นเหมือนเดิม แต่ ‘ไม่มีใครเป็นธุระ’ ทั้งๆที่เป็นเรื่องหลักที่จะชี้เป็นชี้ตายโครงการนี้
คงจะรู้คำตอบอยู่แล้วว่าใช้เงิน ธกส. 172,300 ล้านบาท มาแจกไม่ได้ เพราะผิดวัตถุประสงค์ของธนาคาร เหมือนตอนที่ถามเรื่องใช้เงินธนาคารออมสินก็เลยไม่ถาม
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นทั้งประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการดิจิทัล วอลเล็ต และประธานบอร์ด ธกส. น่าจะ ‘ให้คำตอบ’ ในเรื่องนี้ได้
เพราะฉะนั้น ถึงแม้รัฐบาลโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จุลพันธ์ และ ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ สองแรงแข็งขันช่วยกันยืนยันว่า จะเปิดให้ประชาชนและร้านค้าที่มีสิทธิ ลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ และแจกเงินภายในไตรมาส 4 ของปีนี้
โดยจะจัดเวทีให้นายกฯเศรษฐา มาแถลงรายละเอียด (อีกแล้ว) ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้
แต่พ่อแม่พี่น้องประชาชนที่รอเงินหมื่นดิจิทัลมาเกือบปีแล้วต้องเตรียมใจ และ ‘ทำใจ’ ไว้ว่า จะต้องรอต่อไปอีก นานเท่าไรไม่รู้ เพราะเงิน 500,000 ล้านบาทที่จะนำมาแจกประชาชนที่มีสิทธิ 50 ล้านคน ‘มีแล้ว แต่ยังไม่ครบ’
ไม่มีเงิน ก็แจกไม่ได้ มีแล้วแต่ไม่ครบ 5 แสนล้านบาท ก็แจกไม่ได้ เพราะแบงก์ชาติบอกว่า ผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ . 2501
ในหนังสือของแบงก์ชาติ ลงนามโดย ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ วันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2567 ตอบกลับข้อหารือของคณะรัฐมนตรี เรื่องโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ข้อ 2.1 ความว่า
‘สิทธิการใช้จ่ายภายใต้โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10.000 บาท จะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา โดยมูลค่าสิทธิการใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้น จะต้องมีงบประมารรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked ) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจน ในวันเริ่มโครงการ
โดยหากรัฐบาลยังไม่สามารถ earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการด้วยเหตุใดๆ เช่น ไม่สามารถนำงบประมาณส่วนใดมาใช้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือมีความล่าช้า ในการพิจารณาอนุมัติ จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับ เป็นการสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายเงินตรา ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ 2501’
หมายความว่า จะแจก5 แสนล้านบาท เป็นเงินดิจิทัล ‘จะต้องมีเงินสด 5 แสนล้านบาท’ ที่บอกได้ชัดว่า มาจากไหน มาวางไว้ก่อนเริ่มโครงการ จะแจกไปหาเงินไป หรือแจกไปก่อนเท่าที่มีไม่ได้ ‘ผิดกฎหมาย’
โครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล 5 แสนล้านบาท ใช้งบประมาณจาก 3 ส่วน คือ
1. งบฯปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
2. งบฯจากหน่วยงานรัฐหมายถึง ธกส. 172,300 ล้านบาท
3 . งบฯเพิ่มเติม ปี 2567 หรืองบกลาง 175,000 ล้านบาท
ตามกฎหมายงบฯประมาณเงินของปีไหน ‘ต้องใช้ให้หมดปีนั้น’ ใช้ไม่หมดต้องคืนยกเว้นจะทำงบผูกพัน
งบกลาง 175,000 ล้านบาท ที่ผ่าน ครม. เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม กำลังจะเข้าสภา ฯคาดว่า มีผลบังคับใช้เดือนสิงหาคม มีเวลาใช้ฯงบแค่ เดือนเศษๆ แต่รัฐบาลบอกว่าจะ**‘แจกเงินภายในไตรมาส 4’**ปีนี้ ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2568
ทางออกคือทำให้เป็นงบฯผูกพันเสียโดยเปิดให้ประชาชน และร้านค้ามาลงทะเบียนตั้งแต่สิ้นเดือนนี้ เพื่อเป็นข้ออ้างว่าโครงการเริ่มแล้ว แต่ต้องใช้เวลาจึงขอตั้งงบกลาง 172,300 ล้านบาท เป็นงบผูกพันจะได้ ‘ไม่ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง’
สรุปแล้วประเทศไทย คนไทย คงต้องถูกแช่แข็งด้วยนโยบายแจกเงินหมื่นดิจิทัลต่อไป เพราะเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทย คิดใหญ่ แต่ทำไม่ได้ ใช้วิธีสร้างข่าวความคืบหน้าของโครงการ ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงที่สุด ไปต่อไม่ได้แล้ว