วัดใจบ้านใหญ่บุรีรัมย์ กินแบ่งหรือกินรวบ?!

15 ก.ค. 2567 - 02:30

  • จับตาการจัดสรรตำแหน่งประธาน และรองประธานวุฒิสภา

  • รอดูสัญญาณไฟเขียวจากบ้านใหญ่บุรีรัมย์ว่าจะกำหนดอย่างไร

  • เป็นสภาเซาะกราวกินรวบทั้งหมด หรือแบ่งให้กับ สว.สายอื่น

deep-space-buriram-senator-blue-president-vice-President-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังเก็บตกให้ สว.ที่เหลืออีก 14 ราย ไปรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาในวันนี้แล้ว คาดว่าอีกไม่เกิน 2-3 วัน คงจะเรียกประชุมวุฒิสภานัดแรกได้ เพราะหากปล่อยให้ลากไปถึงสัปดาห์หน้า ซึ่งติดวันหยุดยาวถึงวันจันทร์ อาจทำให้ล่าช้า เพราะกว่าจะประชุมได้ต้องมีถึงวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม

เข้าใจว่ากลุ่มที่ ‘คุมเสียงข้างมาก’ ในสภาสูง คงต้องการเล่น ‘เกมเร็ว’ เพราะมีงานใหญ่รอให้สภาสูงตัดสินใจอยู่ โดยเฉพาะการรับรองผู้ดำรงตำแหน่งประธาน ‘ศาลปกครองสูงสุด’ และ**‘อัยการสูงสุด’** คนใหม่ ในขณะที่เสียงสว.ในมือค่ายสีน้ำเงิน มีมากพอที่จะยึดเอาทุกตำแหน่งในสภาสูงเอาไว้เองได้

งานนี้จึงต้องวัดใจคนบ้านใหญ่บุรีรัมย์จะเลือกกินรวบหรือกินแบ่ง?!

หากดูจากความเคลื่อนไหวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีการพูดถึง ‘ดีลสภาสูง’ เกิดขึ้น มีการรวมตัวต่อรองจากกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่ม ‘สีเขียว’ บ้านในป่าและ ‘กลุ่มอิสระ’  ขอแชร์เก้าอี้รองประธานวุฒิสภา ที่มีอยู่สองตำแหน่ง ขอให้เปิดทางอีกฝ่ายที่เป็นเสียงส่วนน้อยได้เข้ามามีบทบาทด้วย

แต่ก็มีสุ้มเสียงจากคนในค่ายสีน้ำเงิน ที่เห็นว่าคนในกลุ่มก็มีผู้เหมาะสมอยู่จำนวนมาก จึง ‘ไม่ควรแบ่งปัน’ เก้าอี้ไปให้กับกลุ่มอื่น อีกทั้งจะได้เป็นหลักประกันในการกำกับดูแลสภาสูงไม่ให้ ‘แตกแถว’  หากในวันข้างหน้ามีการ ‘ผิดเหลี่ยม’ กันขึ้น 

คงต้องรอฟังสัญญาณจากคนกดปุ่มในค่ายสีน้ำเงินว่าจะเอาแบบไหน?

หากจะรวบทั้งเก้าอี้ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาอีกสองเก้าอี้เอาไว้เองทั้งหมด ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปเจรจากับใคร ถึงวันเลือกก็สั่ง ‘เทคะแนนโหวต’ ให้คนของตัวเองทั้งหมด เพราะมีเสียงข้างมากในมืออยู่แล้ว จะให้ใครเป็นตำแหน่งไหน ก็ ‘ล๊อก’ ไว้เหมือนกับการบล็อกโหวตช่วงเลือกสว.ที่ผ่านมานั่นแหล่ะ

ถ้าจะเอากันแบบนี้ อย่าว่าแต่เต็งหนึ่ง เต็งสอง ‘มงคล สุระสัจจะ’  กับ ‘พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์’ แม้แต่คนที่เป็น ‘สารถีเก่า’ อดีตประธานรัฐสภา ที่ได้เข้ามาเป็นสว.ครั้งนี้ด้วย ก็เป็นได้ทุกตำแหน่งเหมือนกัน หากนายใหญ่ค่ายสีน้ำเงินประสงค์จะให้เป็น

แต่คำถามคือ ความสง่างามของสภาสูงจะอยู่ตรงไหน ลำพังที่จัดตั้งกันมาเป็นสภาสีน้ำเงินได้ขนาดนี้ยังไม่ถือว่า ‘อัปลักษณ์’ พออีกหรือ หากมีตัวแทนจากกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมเป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 คนที่ 2 รวมอยู่ด้วย จะมีความหลากหลายและลงตัวกว่าหรือไม่

หรืออย่างน้อยที่สุด ก็น่าจะมีสักหนึ่งคนที่ไม่ใช่คนจากค่ายสีน้ำเงิน เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎรเวลานี้ ที่ ‘ตกกะไดพลอยโจน’ มีรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ที่ไม่ใช่คนจากพรรคร่วมรัฐบาล ก็เป็นความลงตัวไปอีกแบบ

เรื่องนี้หากจะถอดบทเรียนจากการเป็นรัฐบาลพรรคเดียว 377 เสียง ของพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยในอดีต ถี่ห่างคงไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะในเวลาต่อมา ทักษิณ ชินวัตร ยอมสารภาพถึงความ ‘ล้มเหลว’ ในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวว่า เปรียบเสมือนแจกันดอกไม้ ที่มีแต่ดอกไม้กับแจกัน จึงอยู่ได้ไม่นาน

ในทางกลับกัน หากเป็นแจกันดอกไม้ ที่มีทั้งใบเฟิร์นและหินเขียวรองก้นแจกัน ซึ่งเปรียบใบเฟิร์น หินเขียว เป็นเหมือนพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะทำให้ดอกไม้ที่เป็นพรรคแกนนำ มีความโดดเด่น สวยสดงดงาม และคงทนอยู่ได้นาน

ฉันใด ก็ฉันนั้น วันพรุ่งนี้ หากค่ายสีน้ำเงินจะใช้วิธีกินรวบ ยึดทุกตำแหน่งในสภาสูงเอาไว้เองทั้งหมด ก็จะยิ่งขับเน้นความเป็นสภาสีน้ำเงิน และหนักเข้าไปอีกก็จะกลายเป็น ‘สภาเซาะกราว’ ในที่สุด

หากจะให้มีแต่คนของบ้านใหญ่บุรีรัมย์ เป็นทั้งประธานวุฒิสภา รองประธานฯ คนที่ 1 รองประธานฯ คนที่ 2 โดยไม่มีชื่อคนจากกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่า บุญส่ง น้อยโสภณ , นพดล อินนา, นันทนา นันทวโรภาส, หรือ อังคณา นีละไพจิตร ตามที่ปรากฏเป็นข่าวรวมอยู่ด้วย 

ก็ลองย้อนไปดูรัฐบาลพรรคเดียวในปี 2548 และเรื่องแจกันดอกไม้ ที่ไม่มีใบเฟิร์นและหินเขียวรองก้นแจกันเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยว่า ‘สุดท้ายเป็นอย่างไร’

ต้องรอวัดใจบ้านใหญ่บุรีรัมย์จะเลือกเอาแบบไหน?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์