พิชัยทำเหวอ สารภาพกลางสภา เงินไม่พอทำดิจิทัล

13 ก.ย. 2567 - 02:30

  • รัฐบาลยอมสารภาพบาปนโยบายเงินหมื่นดิจิทัล

  • แจกได้แค่รอบเดียว 14 ล้านคนสิ้นเดือนกันยายน

  • ที่เหลือ 30 ล้านคน หมดงบประมาณ ขอไปคิดใหม่

deep-space-cabinet-ink1-digital-currency-budget-Edit-SPACEBAR-Hero.jpg

เอาแล้วไง!! โครงการดิจิทัลวอลเล็ต หมดสภาพไปต่อไม่ได้แล้ว รองนายกฯ และ รมว.คลัง ‘พิชัย  ชุณหวชิร’ ยอมรับกลางสภา มีเงินจ่ายได้แค่กลุ่มเปราะบาง 14.2 ล้านคน ยอมรับกลายๆ ว่ามีเงินไม่พอ ดับฝันคนอีก 30 ล้านคนที่เหลือ อยากใช้งบกลางไปใช้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะกลางและปานกลางมากกว่า

ในระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (12 กันยายน 2567) เพื่อแถลงนโยบายของรัฐบาลของ นายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร ที่รัฐสภาฯ อาจจะเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยจากปากของ รองนายกฯ และรมว.คลัง พิชัย ชุณหวชิร ถึงแนวคิดในการผลักดันโครงการเรือธงของรัฐบาล ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่แสดงท่าทีว่าอาจจะยอมยก ‘ธงขาว’ โดยปรับลดขนาดของโครงการลงอย่างมีนัยสำคัญ

รองนายกฯพิชัย จะยังยืนยันถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทย ‘เติบโตต่ำ’กว่าศักยภาพ จำเป็นต้องตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆแบบรอเวลาไม่ได้ เพราะหากไม่ทำอะไรเลยจะทำให้ศักยภาพอ่อนด้อยลงและปัญหายิ่งลุกลาม ถึงแม้จะยืนยันว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามในการแจกเงินหมื่นให้กับประชาชนราว 45 ล้านคน รองนายกฯ และรมว.คลัง พิชัยบอกว่ารัฐบาลต้อง ‘คำนึงถึงเงินในกระเป๋า’ ความพร้อมของระบบที่จะรองรับว่าจะสามารถดำเนินการได้ช้าหรือเร็ว แต่รัฐบาลก็จะพยายามทำให้เร็วที่สุด

หลายคนได้ยินแบบนี้แล้วก็เริ่มรู้สึกแปลกใจ และอาจจะ ‘ช็อก’ จนแทบจะตกเป็นเก้าอี้ เมื่อรองนายกฯ พิชัย เปิดเผยอีกว่า ใน ‘เฟสแรก’ รัฐบาลจะแจกเงินหมื่นบาทให้กับ กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้พิการจำนวน 14.2 ล้านคน ซึ่งจะใช้เม็ดเงินจากงบประมาณในปี 2567 ในราว 1.42 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถกดปุ่ม ‘เคาะระฆัง’ ให้เงินก้อนแรกไหลไปสู่มือชาวบ้านได้ในวันที่ 25 กันยายนนี้

‘ไฮไลท์’ ตามมาตรงที่ รองนายกฯ และ รมว.คลังพิชัย ระบุว่า  คนที่เหลือจากการลงทะเบียนอีก 30 กว่าล้านคนจะทำอย่างไร

 ‘เฟสที่สอง’ จะจ่ายอย่างไรนั้น นอกจากการต้องพิจารณา ‘ความพร้อม’ ของเงินแล้ว เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด จึงอาจจะพิจารณา ‘ให้ความสำคัญ’ ในการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะในงบกลางฯในปีงบประมาณ 2568 ที่อาจจะนำไปใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างที่เป็นจุดอื่น โดยคำนึงถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน ‘ระยะปานกลางและระยะยาว’ ซึ่งหากมีเงินเหลือพอจึงจะแจกเงินส่วนที่เหลือ ที่ถือเป็นความสำคัญที่ถัดลงมา

‘สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งโครงการในเฟสต่อไป เมื่อมีทิศทาง และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนแล้ว จะกำหนดชื่อให้ชัดเจนว่า เราจะมีโปรเจกต์อะไร มีแผนงานอะไรที่สำคัญ’

ฟังแบบนี้ ก็เท่ากับรัฐบาล ‘สารภาพบาป’ แล้วว่า กำลังตัดสินใจจะยอมยก ‘ธงขาว’ โดยลดขนาดของโครงการแจกเงินหมื่นให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.2 ล้านคน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะรัฐบาล ‘ไม่สามารถจัดสรรเงิน’ ที่ต้องใช้แจกเงินตามแผนเดิมให้กับคนไทยราว 45 ล้านคน ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินสูงถึง 4.5 แสนล้านบาท โดยสามารถจ่ายก้อนแรกจากงบประมาณในปี 2567 เพียง 1.42 แสนล้านบาท 

ส่วนที่เหลือที่ต้องแจกให้กับคนที่เหลืออีกราว 30 ล้านคน ที่ต้องใช้เม็ดเงินสูงถึง 3 แสนล้านบาท รัฐบาล ‘ไม่สามารถหาเงินมาได้เพียงพอ’ เนื่องจากมีเงินจากงบประมาณในปี 2568 เพียง 1.87 แสนล้านบาท

แต่ก่อนหน้านี้ เพราะยังคงจะดันทุรังเดินหน้าโครงการให้สำเร็จ ชนิด ‘เสียตังค์ไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้’ รองนายกฯ ‘อ้วน’ ภูมิธรรม เวชชัย จึงออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลมีแนวคิดว่าจะใช้วิธีแบ่งจ่าย 2 งวดๆละ 5 พันบาท โดยใช้งบประมาณในปี 2568 ที่มีอยู่แล้วจ่ายในงวดแรกไปก่อน และที่เหลือ ‘รอไปตายเอาดาบหน้า’ ไปหางบประมาณมาเพิ่มเติมในภายหลัง 

แต่หลังจากกลับมาทบทวนถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ก็ต้องยอมรับว่า ‘มีความเป็นไปได้น้อยมาก’ หากจะรอขอโอนงบประมาณกลางปี เนื่องจากต้องใช้เม็ดเงินอีกสูงถึงราว 1.13 แสนล้านบาท 

ขณะเดียวกันการทยอยแบ่งจ่ายเป็นงวดก็ทำให้เกิดคำถามตามมาถึงความ ‘คุ้มค่า’ ในการใช้งบประมาณ เพราะอาจไม่ได้ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ หากเปรียบเทียบกับนำงบประมาณ 1.87 แสนล้านบาท ไปใช้ในโครงการอื่นที่ช่วยในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะกลาง หรือระยะยาว อาจจะคุ้มค่ากว่า 

สรุปให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ในเฟสต่อไป อาจจะไม่มีการแจกเงินหมื่นแล้ว โดยอาจจะปรับเปลี่ยนไปทำโครงการอื่น เท่ากับเป็นการ ‘ดับฝัน’ คนที่เหลืออีก 30 ล้านคนไปโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์