ทำไมมืออาชีพ โดดหนี ครม.เศรษฐา

9 พ.ค. 2567 - 11:31

  • ความล่มสลายของการปรับคณะรัฐมนตรีรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

  • ยังไม่ได้เริ่มงาน รัฐมนตรีใหม่ก็ลาออกแล้ว 2 คน

  • การแยกทางของมืออาชีพกับรัฐบาล ทำให้อาการของรัฐบาลน่าเป็นห่วง

DeepSpace3-SPACEBAR-Hero.jpg

หากจะเปรียบเทียบการบริหารงานของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ให้เห็นภาพชัดๆก็มีรูปแบบไม่ต่างอะไรกับการบริหารกิจการขนาดใหญ่ในนาม ‘ไทยแลนด์ อิงค์’  ที่มี ‘โทนี่’ ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานกรรมการบริษัท และมีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน  ผ้าขาวม้าหลากสี มีตำแหน่งเป็น CEO โดยมีบอร์ดใหญ่ หรือกรรมการบริษัทที่มาจากบ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งมีทั้งสายตรงนายใหญ่ นายหญิง และยังมีสายตรงจากน้องสาว และลูกสาว ไม่นับกรรมการมาจากพรรคร่วมอื่นๆ

แต่ทั้งหมดอำนาจและบทบาทที่แท้จริงก็ยังคงกลับไปรวมศูนย์การตัดสินใจอยู่ที่นายใหญ่ หรือท่านประธาน ที่กำลังสนุกกับการขยับบทบาทขึ้นมาอยู่ในฐานะ Super Prime Minister และลงมา**‘ล้วงลูก’** จนสร้างสร้างความสับสนมากขึ้นเรื่อยๆ

การปรับคณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/2 คราวนี้ ไม่เพียงจะไม่มีส่วนช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ของ ครม.ต่างตอบแทนที่ไร้ผลงานในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา และช่วยให้รัฐบาลสามารถเร่งเดินหน้าสร้างผลงาน และคะแนนนิยมให้กระเตื้องขึ้น แต่กลับกลายเป็น ‘ยิ่งซ้ำเติม’ ปัญหาภาพลักษณ์ให้เลวร้ายหนักขึ้นไปกว่าเดิมเสียอีก เพราะเกิดแรงกระเพื่อมตามมาเป็นระลอกจาก ตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ มาจนถึงตำแหน่ง รมช.คลัง ทำให้ ครม.ชุดใหม่ยังคงไม่นิ่งต้องตามแก้ตามเช็ดกันอีก

คงเป็นเรื่องยากที่จะปฎิเสธข้อเท็จจริงว่า ในฐานะ CEO ของไทยแลนด์ อิงค์ นายกฯเศรษฐา สอบตกในเรื่องของการบริหารงานบุคคลโดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถต่อรองและถ่วงดุลอำนาจกับท่านประธานโทนี่ และบรรดากรรมการบริษัท เพื่อจัดสรรและวางบทบาทของทีมงานบริหารได้อย่างลงตัว จนทำให้เกิดปัญหาทีทำท่าจะบานปลายหนักขึ้นเรื่อยๆ

หลังข่าวการปรับครม. ถึงแม้นายกฯเศรษฐาจะสามารถถอดสลักระเบิดลูกแรกในฝ่ายต่างประเทศ จากการที่รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ ตัดสินใจ ‘ไขก๊อก’  ลาอออกจาก รมว.ต่างประเทศ แบบประชดชีวิต เพราะถูกถอดออกจากตำแหน่ง รองนายกฯ โดยนายกฯเศรษฐา ต้องหันไปพึ่งคนของท่านประธาน ใช้ตัวช่วย ‘สายตรง’ จากบ้านจันทร์ส่องหล้า ‘มาริษ เสงี่ยมพงษ์’ ขึ้นมาเสียบแทน แต่ก็เปิดให้เห็น ‘บาดแผล’ ที่เกิดจากความไม่พอใจในการปรับ ครม.รอบนี้ 

แต่ยังไม่ทันที่ ครม.ชุดใหม่จะเริ่มปฎิบัติหน้าที่หลังการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ก่อนปฏิบัติหน้าที่ก็เกิดปัญหาในฝ่ายการเงินตามมาอีก เมื่อ CFO มือใหม่ป้ายแดง ‘พิชัย ชุณหวชิร’  รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังคนใหม่ มีปัญหาเรื่องการแบ่งงานให้บรรดา รมช.คลังทั้ง 3 คน ชนิดไม่ให้เกียรติตัวแทนที่มาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ รทสช. คือ รมช.‘ตู่’ กฤษฎา จีนะวิจารณะ จนทำให้เกิดอาการ   ‘น้อยใจ’  ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง 

รมว.คลัง พิชัย คงไม่ทันคิดว่า รมช.ตู่ กฤษฎา นั้นมีเส้นทางการเข้าสู่การเมืองแบบไม่ธรรมดา และต้องถือว่าเป็นคนนอก ‘สายตรง’ ที่มาจาก ‘ลุงตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นคนดึง รมช.ตู่ ให้ลาออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังก่อนเกษียณ เพื่อมานั่งในตำแหน่งนี้ในโควตาของ รทสช. ในรัฐบาลชุดนี้

การแบ่งงานให้กำกับดูแลส่วนราชการของกระทรวงการคลัง เหลือเพียงหน่วยงานหลักเพียงหน่วยงานเดียว คือ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) นอกนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐในกำกับของกระทรวงการคลัง ได้แก่ การยาสูบแห่งประเทศไทย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ.

ก็ไม่ต่างอะไรกับกำลังลดตำแหน่งจากผู้ช่วย CFO ไปเป็นคนล้างส้วม หรือดูแลความสะอาด ซึ่งหากเป็นแบบนี้ ลาออกไปเลี้ยงหลานยังจะสบายใจเสียมากกว่า

ที่ต้องบอกแบบนี้ เพราะหากย้อนกลับไปช่วงที่นายกฯ  ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นั่งควบรมว.คลัง แบบ ‘พาร์ทไทม์’ มี รมช.คลัง เพียง 2 คือ ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ และ รมช. ‘ตู่’ กฤษฎามีการแบ่งงานให้อำนาจสั่งการกำกับดูแล สำนักงานปลัดฯ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพสามิต สถาบันการเงินของรัฐอย่าง ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) องค์การสุรา การยาสูบแห่งประเทศไทย และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

เมื่อนายกฯเศรษฐา ลุกออกจากเก้าอี้ รมว.คลัง แล้วให้   ‘พิชัย ชุณหวชิร’ มานั่งแทน พร้อมตั้ง ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ มาเป็นรมช.คลัง เพิ่มอีกคนหนึ่ง รวมแล้วมี รมช.คลัง ถึง 3 คน ‘เผ่าภูมิ’ ผู้มาใหม่กลับได้กำกับดูแล สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรมธนารักษ์ ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ เอ็กซิมแบงก์ กองทุนการออมแห่งชาติ บสย. และ เอสเอ็มอี แบงก์ 

แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ ‘กฤษฎา’ น้อยใจ จนต้องไขก๊อกได้อย่างไร 

ถึงนาทีนี้ แม้นายกฯเศรษฐา หลังจากรู้ข่าว จะพยายาม  ‘รั้ง’  ตัวไว้ ขอให้ทบทวนระงับใบลาออก โดยพยายามปลอบใจว่า จะให้มาช่วยงานด้านอื่นที่ทำเนียบฯแทน แต่ก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะขืนทำแบบนั้นอาจจะกลายเป็นการ  ‘ตบหน้า’ รมว.พิชัย ทำให้ความขัดแย้งบานปลายกลายเป็นปัญหาระหว่าง นายกฯเศรษฐา กับ รมว.พิชัยไปเสียอีก 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังจะกลายเป็นเรื่องผิดมารยาททางการเมืองที่เข้าไปก้าวก่ายเรื่องภายในของ รทสช. เพราะดูเหมือนรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่สวมหมวกหัวหน้าพรรค รทสช. ก็ดูจะไม่ได้ ‘ตกใจ’ หรือให้น้ำหนักในเรื่องนี้มากนัก แถมยังบอกอีกว่าเป็นเรื่องปกติในทางการเมือง เมื่อมีคนออกไปก็หาคนมาแทน แต่โควตารัฐมนตรี ยังต้องเป็นของ รทสช.

ท่าทีดังกล่าวของ รองนายกฯพีระพันธ์ ส่วนหนึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากความปั่นป่วนในพรรค รทสช. ในตอนนี้ เพราะวันเดียวกันก็มีข่าวการลาออกจากสมาชิกพรรคของ  ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน และ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรค รทสช. โดยให้เหตุผลว่ามีภารกิจส่วนตัวหลายประการ ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดฉากแกนนำที่มาจากสายตรงของลุงตู่ ในรทสช.ไปโดยปริยาย 

ที่น่าสังเกตอีกอย่าง คือ แรงกระเพื่อมที่เห็นอยู่ในเวลานี้ ทั้งกรณีของ รมว.ปานปรีย์ และกฤษฎา มีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ทั้งคู่ต่างจัดว่าเป็นมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับในสายงานของตัวเอง 

แต่ทำไมทั้งคู่ถึงเกิดอาการ ‘น้อยใจ’ โบกมือลาไม่ขอเดินไปต่อกับรัฐบาลชุดนี้ หรือ มีอะไร ‘ลึกๆ’ ที่ทำให้ต้องตัดสินใจ ‘กระโดดหนี’ จากตำแหน่ง เพราะเห็นอยู่ว่า  ‘นรก’ กำลัง รออยู่ข้างหน้าหรือไม่ อีกไม่นานคงมีคำตอบ...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์