ไม่ระทึก...ร้องยุบ พท.แค่ล่ามเอาไว้?!

21 ต.ค. 2567 - 03:27

  • การร้องยุบพรรคเพื่อไทย ดูเหมือนมีความตื่นเต้น

  • แต่ในความเป็นจริง ทำได้แค่เพียงล่ามไว้เท่านั้น

  • เกมการเมืองเวลานี้ เต็มไปด้วยการต่อรอง

deep-space-complaint-dissolution-pheu-thai-party-SPACEBAR-Hero.jpg

คำร้องยุบพรรคการเมือง ที่ กกต.รับไว้พิจารณาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ไม่ได้มีเพียงเพื่อไทยพรรคเดียว แต่มีพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอีก 6 พรรค รวมอยู่ในคำร้องด้วย โทษฐานปล่อยให้ ทักษิณ ชินวัตร ครอบงำ ชี้นำ จัดตั้ง ครม.บ้านจันทร์ส่องหล้า ในช่วงค่ำวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567

แต่เหมือนจะมีเฉพาะแกนนำเพื่อไทย ที่เรียงหน้าออกมาตอบโต้คำร้องดังกล่าว แบบ**‘ปากกล้าขาสั่น’** ไม่หวั่น ไม่วิตก แต่จับอาการลึกๆ แล้ว มีความวิตกอยู่ข้างในไม่น้อย ผ่านคำพูดถึงรัฐธรรมนูญที่มีผลพวงจากคณะรัฐประหาร

ประมาณว่า คิดอะไรไม่ออกก็โทษเป็นผลไม้พิษที่เกิดจากต้นไม้พิษไว้ก่อน

ข้อความคุ้นหูข้างต้น พรรคเพื่อไทย มักจะหยิบมาใช้อธิบายสื่อสารกับสังคมเป็นประจำ ยามอยู่ในสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำ ถูกรุกไล่จากกติกาที่รัฐธรรมนูญฉบับ คสช.เขียนไว้

แต่ดูจากภาพรวมและท่าทีของพรรคการเมืองอื่นๆ อีก 6 พรรค ที่ไม่ได้รู้สึกรู้สาเท่ากับเพื่อไทยแล้ว แสดงว่าคำร้องยุบพรรคที่ กกต.รับไว้พิจารณาและตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบภายใน 30 วันนั้น เป็นเพียงกระบวนการเริ่มต้นนับหนึ่งของ กกต.เท่านั้น

กว่าจะได้ข้อสรุปผิดถูกอย่างไรคงต้องใช้เวลาอีกนาน

เอาเฉพาะในชั้นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ ‘แสวง บุญมี’  เลขาธิการกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งขึ้น กว่าจะได้ข้อยุติสรุปเรื่องเสนอให้พิจารณา ก็ไม่รู้จะต้องขอขยายเวลาออกไปอีกกี่ครั้ง

หรือต่อให้สรุปเรื่องเสนอนายทะเบียนพรรคการเมืองไปแล้ว ก็ไม่รู้จะถูกตีกลับมาสอบตรงไหนเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า? 

ดังนั้น กว่าจะผ่านแต่ละด่านไปถึงที่ประชุมใหญ่ กกต.เพื่อมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคตามคำร้องหรือไม่ จะต้องใช้เวลาอีกนาน ตัวอย่างจากการร้องยุบพรรคพลังประชารัฐในอดีต ทั้งเรื่องการจัดงานระดมทุนเข้าพรรค และการรับบริจาคเงินจาก ‘ตู้ห่าว’ นักธุรกิจกลุ่มทุนจีนสีเทา

กว่าจะได้ข้อสรุปให้ ‘ยกคำร้อง’ ต้องใช้เวลานานข้ามปีจนมีรัฐบาลชุดใหม่ถึงสองชุด

ไม่นับคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทย ‘ปมหุ้นนอมินี’ ของ ‘หจก.บุรีเจริญคอนสครัคชั่น จำกัด’ ของ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ อดีตเลขาธิการพรรค ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวจากการถือหุ้นดังกล่าว

แต่การนำคำวินิจฉัยที่ว่า มาใช้เป็น ‘สารตั้งต้น’ ยื่นร้องยุบพรรคภูมิใจไทย ที่รับบริจาคเงินเข้าพรรคโดยไม่ชอบ ป่านนี้ยังสอบไม่เสร็จ ทั้งๆ ที่เหตุเกิดในเวลาไล่เรี่ยกับคดียุบพรรคก้าวไกล ที่ตอนนี้ไปเกิดใหม่เป็นพรรคประชาชนแล้ว

เรื่องของเรื่องก็เพราะว่า ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดการร้องยุบพรรคไว้ในสองมาตรา คือ ‘มาตรา 92 กับมาตรา 93’  โดยหากเป็นไปตามมาตรา 92 ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้การหรือชี้แจงข้อกล่าวหาให้สิ้นกระแสความก่อน ถึงจะสรุปเรื่องเสนอไปตามขั้นตอนได้

แต่หากเป็นคำร้องตามมาตรา 93 ถือเป็น ‘ความปรากฏ’  ที่กกต.สามารถนำมาพิจารณาและมีมติเองได้ เช่นเดียวกับกรณียุบพรรคก้าวไกล ที่มีมติส่งศาลรัฐรรมนูญดำเนินการ โดยไม่ต้องเรียกให้มาชี้แจงข้อกล่าวหาก่อน เพราะเป็นความปรากฎและมีเหตุอันควรเชื่อจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในความ**‘อนุทิน ชาญวีรกูล’** ผิด มาตรา 112

เมื่อเป็นแบบนี้ จึงไม่มีอะไรต้องลุ้นระทึกอย่างที่เป็นข่าวครึกโครม?!

ยิ่งมี ‘ภูมิใจไทย’  ถูกมัดรวมอยู่ในคำร้องเดียวกันด้วย คงไม่มีเหตุให้หลุดไปพรรคเดียวเพียงเพราะคำพูดสั้นๆ ของ ที่ว่า 

‘ตกใจเลยวิ่งเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า’

หลังมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ เศรษฐา ทวีสิน หลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

งานนี้อย่างมากก็ไปเพิ่มงานให้ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ตั้งทีมงานไปชี้แจงต่อกกต.และเป็นพันธนาการทางกฎหมายที่ล่ามเอาไว้ต่อรองผลประโยชน์ในทางการเมืองแบบไทยๆ

เพราะในชั่วโมงนี้ แม้เพื่อไทยจะเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล แต่ไม่มีเสียงมากพอที่จะขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพียงพรรคเดียวได้ แถมพรรคร่วมยังถือดุลอำนาจเหนือกว่าจากการกุมเสียงสภาสูงเอาไว้ในมือ

ในขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง ก็มี ‘จุดอ่อน’ มีข้อจำกัดอยู่ในตัวมากมาย จึงทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถทำอะไรได้ถนัด ทุกอย่างต้องผ่านการต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จากพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ตลอด

ตัวอย่างจากปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา การแก้ไขกฎหมายประชามติ หรือแม้แต่การพิจารณารายงานผลศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเรื่องการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ล้วนติดขัดไปหมด 

ดังนั้น ในวงอาหารมื้อค่ำพรรคร่วมรัฐบาลวันนี้้ คงได้เห็นแค่ภาพข่าวการพบปะกันธรรมดา ส่วนจะชื่นมื่น ลงตัวหรือไม่อย่างไร คงต้องไปหาจากวงอื่น ยกเว้นตกลงกันได้แล้ว ถึงมานัดพบปะกันก็คงจะได้เห็นความชื่นมื่นเกิดขึ้นบ้าง

สรุปแล้วการเมืองในภาวะแบบนี้ ที่เต็มไปด้วยการต่อรอง ไม่ว่าใครจะขี่คอใคร ก็คงต้องเดินไปด้วยกันภายใต้หลักของการสมประโยชน์ ถึงจะเป็นแบบกระท่อนกระแท่น ลุ่มๆ ดอนๆ บ้าง แต่จะไม่ถึงขั้นต้องแยกกันเดินคนละทาง

คำร้องยุบพรรคเพื่อไทยพร้อมกับอีก 6 พรรคการเมือง ในมือ กกต.จึงไม่มีอะไรให้ตื่นเต้นหรือระทึก แค่ล่ามเอาไว้ผลัดกันเกาหลังในบางโอกาสก็เท่านั้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์