วันนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่หลายฝ่ายเห็นพ้องด้วยกันมาตั้งแต่ต้น สมควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนขึ้น แทนฉบับที่มาจากคณะรัฐประหาร โดยรัฐบาลอาสาเป็นเจ้าภาพ
คงเสร็จไม่ทันรัฐบาลชุดนี้
เบื้องต้นหลายฝ่ายพยายามคิดหาทางออกกันต่างๆ นานา โดย ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ หัวหน้าทีมกฎหมายเพื่อไทย ที่ได้รับมอบให้เป็นหัวเรือใหญ่ แต่ทำงานพลาดมาตลอด ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่จงใจก็ตาม วันนี้ได้เสนอทางออก 3 รูปแบบ ให้สังคมยังพอมีความหวังหลงเหลืออยู่บ้าง
หนึ่ง กรณีต้องรอกฎหมายประชามติ 180 วัน ซึ่งอาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เสร็จในสมัยรัฐบาลชุดนี้ เว้นแต่จะเร่งรัดขั้นตอนอย่างมาก
สอง กรณีกฎหมายประชามติเสร็จเร็ว ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม ซึ่งจะทำให้จัดทำประชามติได้เร็วโดยไม่ต้องรอ 180 วัน
สาม การหาวิธีการอื่นในการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องรอกฎหมายประชามติฉบับใหม่ รวมถึงแนวคิดการทำประชามติ 2 ครั้ง
โดยแกนนำเพื่อไทย ให้น้ำหนักไปที่แนวทางหลัง เนื่องจากการทำประชามติ 2 ครั้ง มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึง 6 เสียง ที่เห็นว่าสามารถทำได้ เพียงแต่สภายังไม่กล้าฟันธงเพราะเกรงจะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกัน
ฟังดูเหมือนมีความมุ่งมั่น ไม่ละความพยายามที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ แต่หากย้อนไปดูการทำหน้าที่ของชูศักดิ์ ที่ทำหน้าที่เป็นแม่งานตั้งแต่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน มาถึงวันนี้
ที่ผ่านมา ชูศักดิ์ มีพฤติกรรมพา ‘แวะลงข้างทาง’ มาตลอด ถึงขั้นพาไปศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยซ้ำเรื่องทำประชามติกี่ครั้งกันแน่ ก็ยังทำมาแล้ว จึงทำให้ไม่แน่ใจว่าเป็นข้อเสนอเชิงเทคนิคอีกหรือไม่
ขณะที่ ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จะทำหนังสือขอเข้าพบ 3 บุคคลสำคัญ เพื่อหารือทางออกการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้ง ได้แก่
1. นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งหวังให้หารือกับทุกพรรคการเมืองในรัฐบาล เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการเดินหน้าด้วยแผนการทำประชามติ 2 ครั้ง รวมถึงหารือกับสมาชิกวุฒิสภาให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน
2. ประธานรัฐสภา เพราะหวังให้ประธานรัฐสภาเห็นว่า การทบทวนบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา จะทำให้ลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง
3. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หวังให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายความความหมายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ให้เกิดความชัดเจนว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องทำประชามติจำนวนกี่ครั้ง
‘ผมหวังว่าทั้งสามท่านจะยินดีให้ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เข้าพบท่านหรือตัวแทนท่านที่สามารถตัดสินใจหรือให้ความเห็นแทนท่านได้ เพื่อร่วมหารือถึงทางออกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับประชาชนและต้องอาศัยหลายภาคส่วนในการจับมือกันเดินหน้าไปด้วยกัน’
มองเผินๆ นับเป็นความพยายามของพริษฐ์ ที่ไม่หยุดคิดและแสวงหาแนวทางใหม่อยู่เรื่อยๆ แต่ความตั้งใจดังกล่าวถูกมองเป็นคนไฮเปอร์ ที่อยู่นิ่งไม่ได้ แต่ว่าไม่สมควรทำ เพราะบุคคลทั้งสามข้างต้นนั้น รัฐธรรมนูญได้จัดวางบทบาทในแต่ละตำแหน่งไว้ชัดเจนอยู่แล้ว
ที่สำคัญการเมืองปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่สถานการณ์พิเศษ ที่กลไกต่างๆ ทำหน้าที่ของตัวเองไม่ได้
ด้าน ‘เทพไท เสนพงศ์’ อดีตนักการเมืองค่ายประชาธิปัตย์ ที่อยู่ระหว่างติดโทษแบนทางการเมือง และผันตัวเองมาเป็นนักวิเคราะห์การเมืองรายวัน มองปัญหาการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เกิดจากอาการ ‘ปากว่าตาขยิบ’ และความไม่จริงใจของพรรคเพื่อไทยเองล้วนๆ
‘ช่วงนี้มีสมาชิกพรรคเพื่อไทยออกมาแก้ตัวเป็นพันวันเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ส่อเค้าว่าจะไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ และจะแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเว้นหมวดหนึ่งกับหมวดสอง ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขมาตรา 112 ไว้ ซึ่งไม่ตรงกับจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่ใช้รณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่ประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก จะอนุมัติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที
แต่จนถึงบัดนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง มีแต่ลมปากจากส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ออกมาแก้ตัว และบอกว่าพรรคเพื่อไทยได้ทำดีที่สุดแล้ว หวังว่าประชาชนคงจะเข้าใจในความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐรัฐบาล ซึ่งในความเป็นจริงถ้ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะเดินหน้าเป็นรูปเป็นร่างไปมากกว่านี้’
ตอนท้าย เทพไทถามถึงความจริงใจและความรับผิดชอบจากพรรคเพื่อไทย ที่เป็นรัฐบาลและมีคอนเนคชั่นมากมาย หากมีการพูดคุย จับมือกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง ก็สามารถทำสำเร็จได้ไม่ยาก
เว้นแต่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะ ‘ปากว่าตาขยิบ’ เท่านั้น
ลำดับเรื่องไล่มาตั้งแต่ต้น เอากันตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มาถึงการลงนามเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล จนได้มาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ เวลาเพิ่งผ่านไปหนึ่งปีเศษเท่านั้น เชื่อว่าประชาชนคงยังจำได้ ว่าใครพูดและทำอย่างไร โดยเฉพาะนักการเมืองในสภาด้วยกันเอง คงตอบตัวเองได้ว่าใครที่โกหกเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ไม่ต้องมานั่งล้อมวงคุยกันบ่อยๆ ให้เสียเวลาทำงานเปล่า?!