‘ก้าวหน้า’ แฮ็คเลือก สว. มีลุ้นขั้นต่ำแล้ว 23 จังหวัด

1 มิ.ย. 2567 - 05:29

  • การเลือก สว.ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีรูปแบบใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง

  • ระเบียบข้อกำหนดการเลือกที่ยุ่งยาก สับสน แต่ก็มีช่องว่าง

  • เครือข่ายคณะก้าวหน้าใช้ช่องว่าง วางแผนกวาด สว.สีส้ม

Senate Members Diagram-SPACEBAR-Hero.jpg

คณะก้าวหน้า กลุ่มการเมืองนอกสภาของพรรคก้าวไกล ตั้งเป้าหมายยึดตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภา ที่จะมีการเลือกตั้งในช่วงวันที่ 9 มิถุนายน–26 มิถุนายน อย่างน้อย 67 คนจากจำนวน สว. 200 คน

ที่ต้องเป็น 67 คน เพราะ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 250 คนแล้ว ยังต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. ‘ไม่น้อยกว่า’ 1 ใน 3 คือ 67 เสียงด้วย จึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

พรรคก้าวไกล ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รวมทั้ง หมวด 1 ที่ระบุว่า 

ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หมวด 2 ‘บัญญัติถึงพระราชฐานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงดำรงอยุ่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษตริย์ในทางใดๆ มิได้’

การเลือกตั้งครั้งต่อไป แม้พรรคก้าวไกลจะได้รับชัยชนะแบบถล่มทลาย แต่ถ้าได้เสียง สว.น้อยกว่า 67 คน ก็ยังไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ และโครงสร้างประเทศ ตามอุดมการณ์ของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ และพวก

จึงเป็นที่มาของการรณรงค์สร้างกระแส ‘แฮ็ค’ ระบบเลือกตั้ง สว. ของคณะก้าวหน้า และเครือข่าวแนวร่วม อ้างว่า ‘เพื่อสู้กับวิธีเลือกตั้งที่ คสช. ออกแบบ’ ให้สลับซับซ้อน ปิดกันประชาชน เพื่อยึดอำนาจในวุฒิสภา โดยให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติครบมาสมัคร สว. ให้มากที่สุดเพื่อทำลายระบบจัดตั้งหรือ ‘ฮั้ว’ ของกลุ่มอำนาจเดิม

แต่ข้อเท็จจริงอันเป็นที่ประจักษ์ก็คือ มีแต่คณะก้าวหน้า และแนวร่วมเท่านั้นที่ ‘กระตือรือร้น’  เอาการเอางานเดินสาย ‘จัดตั้ง’ ให้คนมาสมัคร สว. ในชั่วเดือนเดียว เดินสายไปทั่วประเทศถี่ยิบถึง 40  ครั้ง

การเดินสายรณรงค์ให้ประชาชนมาสมัคร สว. คือ การลงพื้นที่เป็น ‘แมวมอง’ หาผู้สมัครที่มีแววว่าสนับสนุนจุดยืนของคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล สมทบกับผู้สมัครที่คณะก้าวหน้าวางตัวไว้แล้ว เป็นการสร้างอีเวนท์ ‘ชี้เป้า’ ให้ผู้สมัครในกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ที่คณะก้าวหน้าจัดตั้งไว้ ได้รู้จักกัน เพื่อจะได้โหวตข้ามกลุ่มหรือ ‘โหวตไขว้’ ให้กัน

การเลือก สว. แบ่งเป็นกลุ่มอาชีพ 20 สาขา และมีการเลือกตั้ง 3 ระดับคือ ระดับอำเภอ จังหวัด  และประเทศ แต่ละระดับเลือก 2 รอบ รอบแรกเลือกในกลุ่มตัวเอง รอบที่สองเลือกกลุ่มอาชีพอื่น หรือโหวตไขว้

หัวใจสำคัญคือการเลือกผู้สมัคร สว. ระดับอำเภอ ในทุกกลุ่มอาชีพให้ได้มากที่สุด เป็น ‘สารตั้งต้น’ ที่จะไปโหวตไข้วเลือก ผู้สมัครกลุ่มอื่นในระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศต่อไป

กกต. ปิดรับสมัคร สว.วันที่ 24 พฤษภาคม มีผู้สมัครที่ กกต.ตรวจสอบว่า มีคุณสมบัติตามที่กำหนด 46,097 คน 

เครือข่าย senate 67 ซึ่งเป็นองค์กรเบื้องหน้า หรือตัวเปิดของกลุ่มจัดตั้ง สว. ประชาชน ได้เปิด เว็บไซต์ senate 67.com ให้ผู้สมัคร สว. แนะนำตัว แสดงวิสัยทัศน์ 

จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม มีผู้สมัคร เข้ามาแนะนำตัวแล้ว 1,863 คน

เว็บไซต์ senate 67 ตรวจสอบความเห็นของผู้สมัคร ในประเด็นที่เป็นนโยบาย และจุดยืนทางการเมืองของพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า โดยให้ตอบว่า เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือ พร้อมพิจารณาเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น  การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ, การแก้ไขรัฐธรรมนูโดยยกเว้น หมวด 1  หมวด 2, ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (สสร.) จากการเลือกตั้ง 100 %, นิรโทษกรรมคดีการเมืองทุกคดี,  นิรโทษกรรมการเมืองทุกคดียกเว้นมาตรา 112, บำนาญให้ประชาชนทุกคน เดือนละ 3,000 บาท, ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ฯลฯ

เว็บไซต์ senate 67 จึงกลายเป็นเครื่องมือตรวจสอบ จุดยืนทางการเมืองของผู้สมัคร สว.ว่า เหมือนกับคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกลหรือไม่ หากได้เป็น สว. แล้ว จะมีท่าทีต่อร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกล เสนออย่างไร เป็นเครื่องมือในการเลือกเป้าว่าใครเป็น สว. สีส้มได้

ผู้สมัคร ทั้ง 1,863 คน ‘ส่วนใหญ่’ ความเห็นไปในทางเดียวกันกับคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล เช่น เห็นด้วยกับ การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เห็นด้วยกับ การเลือกตั้ง สสร. ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยยกเว้น มาตรา 112 ฯลฯ

ผู้สมัครทั้ง 1,863 คน กระจายกันอยู่ใน 23  จังหวัดทั่วประเทศเป็น ‘สารตั้งต้น’ ของคณะก้าวหน้าที่จะยึดเก้าอี้ สว. ให้ได้ 67 คนเป็นอย่างต่ำ แม้จะมีสัดส่วนแค่ 4% ของผู้สมัครทั้งหมดแต่เป็นผู้สมัครที่มีลักษณะกลุ่ม ‘ความคิดเดียวกัน’ มีจุดยืนชัดเจน มีโอกาสสูงที่จะได้คะแนนจาก ผู้สมัครในกลุ่มอาชีพอื่น อีก 4 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คะแนน ในรอบโหวตไขว้ ที่จะแบ่งกลุ่มอาชีพออกเป็น 4 สายๆ ละ 5 กลุ่ม ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ   

ในขณะที่ผู้สมัครอีก 40,000 กว่าคน แม้จำนวนจะมากกว่าหลายเท่าแต่ ‘ไม่รู้ว่าจะเลือกใคร’ ทั้งในกลุ่มตัวเอง และในการเลือกไขว้ คะแนนเสียงจะกระจัดกระจายมาก โอกาสที่จะได้รับเลือกน้อยมาก ยกเว้นเป็นคนที่มีชื่อเสียง 

เวทีเลือกตั้ง สว. ‘ไม่ได้รับความสนใจ’ จากประชาชน เพราะ ‘ไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ และกติการที่ซับซ้อน ยุ่งยาก แต่สำหรับคณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล ที่มีเป้าหมายชัดเจนที่จะเปลี่ยนประเทศไทยตามความเชื่อของตัวเอง เวทีเลือกตั้ง สว. เป็นสมรภูมิสำคัญที่จะบรรลุความฝันของตนได้เร็วขึ้น

INFO Senate67 MAP Orange-4.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์