อีก ‘จุดตาย’ ดิจิทัลวอลเล็ต

10 พ.ค. 2567 - 09:54

  • ยังคงไปไม่เป็นสำหรับการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต

  • ช่องทางการพัฒนา Super App ให้รองรับธุรกรรม และปริมาณมากยังไม่จบ

  • กำหนดแจกเงินตามไทม์ไลน์ ยังต้องลุ้นอันอีกรอบ

DeepSpace_3-SPACEBAR-Hero.jpg

‘ในวันนี้พรรคเพื่อไทยกำลังจะทำดิจิทัลวอลเล็ต... โคตรใหม่... ไม่ใช่ใหม่ธรรมดา... ฉะนั้น วันนี้เราไม่ได้อยู่กับเรื่องโบราณแน่นอน...เพราะโลกเปลี่ยนไป’

เสียงของนายใหญ่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’  ที่ดังผ่านวิดีโอในห้องประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคเพื่อไทยหลังสงกรานต์ที่ผ่านมายังคงก้องอยู่ในโสตประสาทของทีมงานด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย 

คำพูดดังกล่าวเหมือน ‘ประกาศิต’ ของนายใหญ่ที่ทุกคนต้องน้อมรับ ถึงแม้จะรู้ว่า ‘โคตรยาก’ ขนาดไหน เพราะตระหนักดีว่ามันคือภารกิจสำคัญสูงสุดที่รัฐบาลของนายกฯเศรษฐาผ้าขาวม้าหลากสีจะต้องดัน ‘เรือธง’ ลำนี้ไม่ให้ ‘อัปปาง’ และไปให้ถึงฝั่งฝัน ไม่ว่าจะต้องฟันฝ่า ‘พายุ’ ที่โหมกระหน่ำมาจากทุกทิศทุกทางขนาดไหนก็ตาม เพื่อพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาล

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ทักษิณ เป็นคนที่ชอบ ‘คิดใหญ่ ทำใหญ่’  จนบางครั้งก็เกินเบอร์ การประกาศทุ่มเม็ดเงินถึง 5 แสนล้านบาท เพื่อแจกเงินให้คนไทย 50 ล้านคน คนละหนึ่งหมื่นบาทจึงเป็น ‘โจทย์ยาก’  จนอาจจะเกินกำลังและมันสมองของคนระดับ ‘รมช.คลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ หรือ ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’  ที่ ‘บุญหล่นทับ’ ได้รับการยกชั้นขึ้นมาเป็น รมช.คลังป้ายแดงในการปรับครม.ที่ผ่านมาแบบชวนงงว่ามีผลงานอะไรที่  ‘เข้าตา’ ในช่วงที่ผ่านมา 

ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา ทั้งสองคนต้องอาศัยตัวช่วยอย่าง ปลัดคลัง  ‘ลวรณ แสงสนิท’  ในการพลิกหาวิธีสารพัดเพื่อเตรียมเสบียง หรือหาเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท มาทำโครงการ จากที่เคยตกอยู่ในสภาพ ‘กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง’ ในการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินในพลิกเกมเปลี่ยนมาเลือก ‘ท่ายาก’ ในการหาเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท โดยวิธี ‘ไฮบริด’ จาก 3 ช่องทาง คืองบประมาณปี 2567-68 ปีละ 1.75 แสนล้านและ 1.527 แสนล้านบาท ที่เหลืออีก 1.723 แสนล้านบาท จะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ หรือ ธ.ก.ส. 

แต่ถึงแม้จะสามารถหาเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทมาได้ ก็ยังมีโจทย์ยากอีกหลายข้อ เพราะรัฐบาลของนายกฯเศรษฐาเดินพลาดอย่างแรงจากการกำหนดเงื่อนไขที่กลายเป็น ‘ปม’ มัดคอตัวเอง เมื่อประกาศจะแจกเงินให้ถึง 50 ล้านคน ที่มีอายุเกิน 16 ปี มีเงินได้ไม่เกิน 8.4 แสนบาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท

นอกจากนี้ยังไปกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าในรอบแรกว่าจะต้องอยู่ในพื้นที่อำเภอ โดยต้องเป็น ร้านค้าขนาดเล็กที่เป็นร้านสะดวกซื้อลงมาจนถึงพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยในชุมชน และยังกำหนดประเภทสินค้าที่จะใช้จ่ายผ่านโครงการได้ ยกเว้นสินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม

ยิ่งไปกว่านั้นยังไปกำหนดคุณสมบัติร้านค้าที่สามารถ ‘ถอนเงินสด’  ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ใน ‘ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา’ เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีเงินได้นิติบุคคล 

โดยร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะต้องนำไปใช้จ่ายต่อและร้านค้าในรอบที่ 2 จึงจะสามารถถอนเป็นเงินสดได้

ที่สำคัญคือ การใช้จ่ายทั้งหมดจะต้องทำบนแพลตฟอร์ม หรือ ‘Super App’  ของรัฐบาล ที่จะทำขึ้นใหม่ที่มีโจทย์สำคัญที่ต้องรองรับธุรกรรมตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ทั้งหมด ซึ่งกลายเป็น ‘จุดตาย’  ที่กำลังสร้างปัญหาใหญ่ให้กับโครงการนี้ เนื่องจากการพัฒนา Super App ดังกล่าวส่อเค้าว่าจะเสร็จไม่ทันในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ตาม ‘ไทม์ไลน์’ ล่าสุดที่รัฐบาลประกาศไว้ 

ในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่กระทรวงการคลัง ซึ่ง รมว.คลัง ‘ฟูลไทม์’ คนใหม่ ‘พิชัย ชุณหวชิร’  เป็นประธาน ก็เริ่มรับรู้สัญญาณไม่ดีในเรื่องนี้ เพราะการพัฒนาจัดทำแอปพลิเคชั่น ตั้งแต่ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่ายการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม จะต้องพัฒนาให้สามารถเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชั่น หรือโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารพาณิชย์อื่น ในลักษณะระบบเปิด หรือ ‘Open Loop’ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวในเรื่องความปลอดภัยค่อนข้างมาก 

ก่อนหน้านี้ รมช.คลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ระบุว่ามีการมอบหมายให้ ‘สำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (DGA)’  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ‘ทางรัฐ’ ในการพัฒนาอัพเกรดเป็น ‘Super App’ ซึ่งมีความซับซ้อน เพราะต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากถึง 50 ล้านคน จึงต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk)

แต่มีข้อมูลในวงในเปิดเผยว่า ในการหารือล่าสุดของทีมงานพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ให้เป็น Super App ได้ข้อสรุปว่าจะต้องใช้วิธี ‘ไฮบริด’ โดย ‘ทางรัฐ’ จะทำหน้าที่เป็นเพียง ‘ทางผ่าน’ ไม่ใช่ ‘ทางลัด’ โดยทำหน้าที่เป็นเพียง ‘ต้นน้ำ’ ในส่วนของระบบลงทะเบียนและตรวจสอบสิทธิสำหรับประชาชนและร้านค้า

โดยเปิดเชื่อมต่อ Open-Loop กับฐานข้อมูลของประชาชนที่มีการลงทะเบียนไว้แล้วในระบบโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารพาณิชย์อื่นที่จะเข้ามาร่วมโครงการ เพื่อให้สามารถลงทะเบียนประชาชนได้เร็วและมากที่สุด แทนที่จะต้องเริ่มลงทะเบียนประชาชน 50 ล้านคนกันใหม่ทั้งประเทศ    

ในส่วน ‘กลางน้ำ’ ซึ่งเป็นหัวใจของทั้งหมด คือการพัฒนาระบบการชำระเงิน ซึ่งมีความสลับซับซ้อน และยุ่งยากมากที่สุด ยิ่งเสียกว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป เพราะต้องมีการตรวจสอบเงื่อนไขหลายชั้นในการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง 

มีข้อสรุปว่าต้องหาภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญเข้ามาพัฒนาและจัดทำระบบ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการชำระเงินดังกล่าวจะสามารถรองรับธุรกรรมจำนวนมหาศาลพร้อมๆกันได้ โดยมีทั้งความรวดเร็ว และปลอดภัย ขณะเดียวกันระบบต้องสามารถยกเลิกธุรกรรมและเรียกคืนสิทธิจากประชาชนและร้านค้าที่ผิดเงื่อนไข

ในกรณีที่มีการโจมตีทางไซเบอร์หรือมีการ ‘รั่วไหล’ ของของธุรกรรมหรือข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ดูแลระบบจะต้องสามารถหยุดยั้งและแก้ไขเหตุได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้หลักประกันกับธนาคารพาณิชย์ที่จะเข้ามาเชื่อมโยงในการทำธุรกรรม 

ผู้พัฒนาระบบ (Developer) การชำระเงินจึงต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาทีมงานของธนาคารพาณิชย์ต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงินเป็นจำนวนมากและใช้เวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี ซึ่งมีกระแสข่าวที่ยังไม่ยืนยันเป็นทางการว่า ‘แบงก์สีม่วง’ ถูก ‘ขอร้องแกมบังคับ’ ให้เข้ามารับงานร้อนๆงานนี้ 

ในส่วน ‘ปลายน้ำ’ ซึ่งจะเป็นส่วนที่จะประมวลผลและตรวจสอบ จะเป็นส่วนสุดท้ายที่มีความพยายามจะนำระบบ Block Chain เข้ามาใช้เพื่อให้ดูมีความเชื่อมโยงกับธุรกรรม Block Chain อย่างที่เคยป่าวประกาศไว้

ยังไม่มีใครรู้ว่าในที่สุดแล้ว แบงก์สีม่วง จะยอมรับบทหนัก ในการเข้ามาพัฒนา Super App ดังกล่าว ที่สุ่มเสี่ยงจะเปลืองตัวหรือไม่ แต่ในสายตาคนในวงการฟินเทค เชื่อว่าการพัฒนา Super App เจ้าปัญหาดังกล่าวก็ยังคงเป็น Black Box หรือ กล่องดำปริศนา ที่รอการพิสูจน์ แต่ที่มั่นใจได้คือไม่มีทางเสร็จทันใช้ในปีนี้อย่างแน่นอน...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์