ดิจิทัลวอลเล็ต ถ้าไม่เลิกต้องแปลงร่าง

15 ส.ค. 2567 - 09:43

  • ทบทวนนโยบายเงินหมื่นดิจิทัล

  • ปรับลดผู้ใช้สิทธิเหมือนโครงการคนละครึ่ง

  • กลับมาใช้แอปฯเป๋าตัง กดปุ่มได้เลยไม่ต้องรอ

deep-space-digital-wallet-give-money-cancellation-new-change-SPACEBAR-Hero.jpg

เรื่องที่ประชาชนสนใจมากที่สุดหลังเศรษฐา ทวีสิน ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เรื่องนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 จะเป็น ชัยเกษม นิติสิริ หรือ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร แต่เป็นเรื่องโครงการแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัล วอลเล็ตจะเดินหน้าไปต่อหรือไม่

โครงการดิจิทัล วอลเล็ต เป็นนโยบาย ‘เรือธง’ ของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านไป 1 ปีแล้ว ก็ยังไม่เป็นจริง เลื่อนแล้วเลื่อนอีก สาเหตุก็เพราะว่าเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินมากถึง 5 แสนล้านบาท เพื่อแจกเงินคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท ในรูปเงินดิจิทัล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่าจะ ‘กระทบ’ ฐานะการคลังของประเทศ เพราะใช้เงินเยอะมาก โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเลย 

แต่เนื่องจาก พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้อย่างนี้ จึงเดินหน้าที่จะทำให้ได้

เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมาทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ซึ่งควบตำแหนงรัฐมนตรีการคลังในช่วงแรก และรัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 คนจากพรรคเพื่อไทย คือ ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ และ ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ ยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่า  ‘จะไม่ล้มเลิก’ หรือ ‘เปลี่ยนแปลง’ รูปแบบโครงการล่าสุดคือการให้คำมั่นว่า จะแจกเงินได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยเปิดให้ผู้มีสิทธิลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

ให้ความหวังกันถึงขนาดนี้แล้ว ถ้ายกเลิกไปโดยอ้างว่า ‘เปลี่ยนนายกฯ เปลี่ยนรัฐบาล’ แล้วตามที่มีกระแสข่าวกระเซ็นกระสายออกมา จะเป็นการ ‘ฆ่าตัวตาย’ ทางการเมืองครั้งใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ที่จะส่งผลสะเทือนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างแน่นอน  เพราะโครงการนี้เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่นโยบายของเศรษฐา จะถูกพรรคการเมืองคู่แข่งยกขึ้นมาโจมตีว่า พูดแล้วทำไม่ได้ หรือ คิดใหญ่ ทำไม่ได้ แบบแก้ตัวไม่ออก

จึงเชื่อได้ว่า ‘ไม่น่า’ จะมีการยกเลิกโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แต่ถ้าจะเดินหน้าต่อไปจะต้องมีการ ‘ปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการ’ ให้มีความเป็นไปได้มากที่สุด และสามารถทำได้ทันทีโดยปรับลดจำนวนผู้มีสิทธิให้น้อยลงสักครึ่งหนึ่ง เช่นแจกคนที่มีอายุ 16 ขึ้นไป และคนที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 40,000 บาท จากเดิมตั้งเพดานไว้ที่ 70,000 บาท คงแจกเงิน 10,000 บาทเท่าเดิม แจกเป็นเงินสด ผ่านแอปฯ เป๋าตัง และใช้จ่ายได้เฉพาะร้านค้าขนาดเล็ก พ่อค้าแม่ค้า แผงลอย เหมือนในโครงการคนะละครึ่ง 

เพราะถ้าจะเดินหน้าต่อไปแบบเดิมทุกอย่าง ไปไม่รอดแน่แม้ว่าจะเคลียร์ปัญหาที่มาของเงินได้แล้ว แต่ยังมีปัญหาการสร้างแอปพลิเคชั่น สำหรับรับเงินและใช้จ่ายเงินที่ล่าสุดมีข่าวว่าบริษัทในเครือธนาคาร SCB ‘ขอถอนตัว’ ไม่เป็นผู้พัฒนาแอปฯ เพราะเห็นว่าต้องใช้เวลามาก ไม่มีทางทันไตรมาส 4 นี้

หนทางเดียวคือกลับไปใช้แอปฯ เป๋าตังที่ใช้งานได้ดีอยู่แล้ว ประชาชนทั่วไป และร้านค้า คุ้นเคย ใช้ได้คล่องแคล่ว จากประสบการณ์โครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน โดยแจกเงินสดจะแจกทีเดียว หรือทยอยแจก แต่ขอให้ครบหมื่น และต้องให้เฉพาะร้านค้าขนาดเล็ก พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ห้ามร้านสะดวกซื้อ 

นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะอ้างว่าปรับเปลี่ยนเพื่อให้แจกเงินได้ภายในไตรมาส 4 เพราะเห็นใจประชาชนที่รอแล้วรออีก ลดจำนวนคนที่จะได้รับแจกลง ตามคำแนะนำของแบงก์ชาติ ที่บอกให้แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางก็พอจะฟังขึ้น 

จะโดนด่าจากคนที่เคยอยู่ในข่ายมีสิทธิแต่ถูกตัดออกไป  จะโดนเย้ยหยันจากพรรคประชาชนว่า ‘พูดแล้วทำไม่ได้’ จะเสียหน้าที่ต้องกลับไปใช่ ‘เป๋าตัง’ ของลุงตู่ ก็ถือเสียว่าเป็นราคาแพงที่พรรคเพื่อไทยต้องจ่ายแลกกับความอวดดี ไม่ฟังใคร ยึดติดกับรูปแบบโครงการที่ทำไม่ได้ เพื่อให้โครงการที่หาเสียงไว้ เดินหน้าไปได้ ก่อนที่ความอดทนของคนที่รอเงินหมื่นมา 1 ปีเต็ม จะหมดสิ้นลง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์