โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยในยุคของ นายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ในวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา มีการกำหนดเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศกับดักรายได้ปานกลาง และตั้งเป้าที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาสู่เส้นทางการเติบโตเหมือนในอดีต
แนวคิดหลักส่วนใหญ่สะท้อนมาจาก ‘วิสัยทัศน์’ ของ ‘โทนี่’ ผู้พ่ออดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โดยกำหนดนโยบายเร่งด่วนไว้หลายเรื่อง เช่น การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินหมื่น การแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ การลดค่าพลังงานและสาธารณูปโภค และการนำธุรกิจนอกระบบขึ้นบนดิน
แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า นโยบายเร่งด่วนหลายเรื่องเป็นนโยบายที่ต้องใช้ ‘เงินทุน’ มหาศาล ที่ต้องหาแหล่งรายได้เพื่อมาใช้ดำเนินการนโยบาย เพียงแค่โครงการเรือธง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ต้องการแจกเงินหมื่นให้กับคนไทยกว่า 45 ล้านคน ก็ต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 4.5 แสนล้านบาท
คำถามคือนโยบายอื่นๆจะอาศัยเม็ดเงินจากไหน ทำให้รัฐบาลต้องพลิกตำรามองหาแหล่งรายได้เพื่อมาใช้ดำเนินการนโยบาย โดยมีการวางแนวทางในการหารายได้ไว้ และหนึ่งในแนวคิดที่กำลังศึกษาไว้ คือ ‘การขายหุ้น’ บริษัทที่กระทรวงการคลังถือ โดยเป็นหุ้นที่ไม่ใช้รัฐวิสาหกิจเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นมาจัดสรรเป็นงบประมาณเพื่อดำเนินการนโยบายของรัฐบาล
ปลัดกระทรวงการคลัง ‘ลวรณ แสงสนิท’ ยอมรับว่าได้มีการหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดย โดยมีการตั้ง ‘คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการจำหน่ายหุ้นของกระทรวงการคลัง’ โดยมีผู้อำนวยการ สคร. เป็นประธานเพื่อพิจารณา โดยจะพยายามให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤศจิกายน เพื่อเสนอให้ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ และนำเข้า ครม. ให้พิจารณาอนุมัติในเดือนธันวาคม
ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีการบริหารจัดการพอร์ตหุ้นในมือทั้งหมดกว่า 140 ตัว โดยมี สคร. ดูแลในภาพรวม ซึ่งคาดว่าจะมี ‘หุ้นจำนวน 20 ตัว’ ที่ต้องขายออกจากพอร์ตของกระทรวงการคลัง เนื่องจากไม่มีความจำเป็น และไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยยอมรับว่ากว่าครึ่งเป็นหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
วิธีการขายหุ้นออกจากพอร์ตของ สคร. จะมีหลายวิธีแต่จะมีการแยกกลุ่มออกมาในเบื้องต้นคือ หุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ และต้องไปดูระเบียบข้อบังคับของบริษัทนั้นๆว่า หากจะขายหุ้นออกมาจะต้องมีมติของบริษัทออกมาก่อนหรือไม่ หรืออาจจะต้องขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม หรือสามารถขายให้กับนักลงทุนรายอื่นที่สนใจก็ได้
หลังจากมีกระแสข่าวออกมา บรรดานักลงทุนต่างให้ความสนใจหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่และเป็นบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
คาดว่ามีจำนวน 36 บริษัท ที่มีมูลค่ารวมกันสูงถึงราว 796,635 ล้านบาท ครอบคลุมหลายธุรกิจ โดยคาดว่ากระทรวงการคลังมีแนวทางในการขายหุ้นของบริษัทที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่เห็นว่าไม่จำเป็นที่กระทรวงการคลังจะต้องถือไว้ ที่มีผลประกอบการไม่ดี ราคาตลาดไม่น่าสนใจ และมีการจ่ายปันผลต่ำ
ผู้อำนวยการ สคร. ‘ธิบดี วัฒนกุล’ ยอมรับว่าหุ้นบางตัวนอกจากจะไม่สร้างรายได้เพิ่ม ในทางกลับกันยังเป็น **‘ภาระค่าใช้จ่าย’**ในการดูแลอีกด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางที่จะทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์สูงสุด โดยขายหุ้นที่ไม่มีความจำเป็นต้องถือครองไว้ เช่น หุ้นที่ได้มาจากการยึดทรัพย์
ปัจจุบันหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ใน 10 อันดับแรก ที่มีทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วย
ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ถือหุ้น 11.74% มูลค่า 26,556 ล้านบาท
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ถือหุ้น 100% มูลค่า 9,124 ล้านบาท
บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 4.76% มูลค่า 2,633 ล้านบาท
บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ถือหุ้น 5.30% มูลค่า 2,037 ล้านบาท
บริษัทปตท.น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ถือหุ้น 1.28% มูลค่า 1,993 ล้านบาท
บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 22.13% มูลค่า 1,879 ล้านบาท
บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ถือหุ้น 4.10% สัดส่วน 1,360 ล้านบาท
บริษัทสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ถือหุ้น 84.08% มูลค่า 687 ล้านบาท
บริษัทเบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 10.80% มูลค่า 653 ล้านบาท
บริษัทไสวประภาสและบุตร จำกัด ถือหุ้น 44.00% มูลค่า 410 ล้านบาท
ยังไม่มีใครรู้ว่าในรายชื่อสุดท้ายที่กระทรวงการคลังเคาะออกมาว่าขายหุ้นของบริษัทอะไรบ้าง และใช้วิธีขายอย่างไร
ถึงนาทีนี้ ทุกคนจึงได้แต่รอลุ้นว่ารายชื่อสุดท้ายจะมีหุ้นอะไรบ้างที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่คาดว่าอาจส่งผลสะเทือนถึงแนวโน้มตลาดหุ้นในไตรมาสสุดท้ายอย่างแน่นอน...