การเลือก สว.นัดประวัติศาสตร์ของไทย ได้เดินมาถึงเกือบจะครึ่งค่อนทางแล้ว รอเพียงให้ผ่านการเลือกระดับจังหวัดในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายนนี้ไป ก็จะเหลืออีกเพียงด่านเดียว คือ ระดับประเทศ ที่กำหนดให้มีขึ้นในวันพุธที่ 26 มิถุนายน
สองด่านแรก คือ จากอำเภอสู่จังหวัด และจากจังหวัดมาระดับประเทศ ใช้กติกาเดียวกันคือ ‘เลือกกันเองในกลุ่มก่อน’ เพื่อหาผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 5 คนแรก ไปเลือกในรอบที่สองหรือรอบไขว้ ซึ่งในรอบไขว้นี้ ระดับอำเภอจะเอาผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกในกลุ่ม ส่งไปเลือกกันต่อในระดับจังหวัด
ส่วนรอบไขว้ ในระดับจังหวัด จะเอาผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรกของกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดของกลุ่มนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับประเทศต่อไป
เมื่อผ่านการเลือกในระดับจังหวัดแล้ว จากผู้สมัครทั้งหมดที่มาสู้กันที่จังหวัด จำนวน 23,645 คน จะเหลือรอดเข้ามาเลือกกันในระดับประเทศ ที่เมืองฟ้าอมรกรุงเทพฯเพียง 3,080 คน ซึ่งทั้งหมดจะมาสู้กันสองรอบเช่นกัน เพื่อหาตัวจริงกลุ่มละ 10 คน จากผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรก จากทั้งหมด 20 กลุ่ม รวมเป็น 200 คน เข้าไปทำหน้าที่ ‘สมาชิกวุฒิสภา’ หรือ สว.ในสภาสูงที่เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ
ส่วนที่เหลือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.มาตรา 42 (10) ให้ผู้ที่มีคะแนนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่มอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น รวมจำนวน 100 คน เอาไว้เลื่อนลำดับขึ้นมาเป็น สว.แทน กรณีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องพ้นจากตำแหน่งไป หรือในกรณีที่กลุ่มอื่น ไม่มีผู้อยู่ในบัญชีที่จะเลื่อนลำดับขึ้นมาแทนได้
แต่กว่าผู้สมัครที่ผ่านด่านจังหวัดมาสามพันกว่าคน จะเข้ามาเป็นตัวจริงใน 200 คน หรือตัวสำรองอีก 100 คนได้ การเลือกในระดับประเทศทั้งสองรอบ จะมีรายละเอียดที่แตกต่างจากสองด่านแรกในระดับอำเภอและระดับจังหวัด
โดยในรอบแรก ที่ให้เลือกกันเองในกลุ่มนั้น ให้แต่ละคนลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
พูดง่ายๆ คือ ในรอบแรกนี้ทุกคนมีคะแนนในมือ 10 คะแนน สามารถ ‘เลือกตัวเองได้หนึ่งคะแนน และเลือกคนอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้อีก 9 คน’ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 40 คนแรก เป็นผู้ได้รับเลือกในรอบแรกของแต่ละกลุ่ม เพื่อไปเลือกในรอบที่สองหรือรอบไขว้ ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายต่อไป
ในขณะที่รอบไขว้ของระดับประเทศให้ 40 คนของแต่ละกลุ่มไป ‘ลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันอีก 4 กลุ่มๆ ละไม่เกิน 5 คน รวม 20 คน’ โดยไม่สามารถเลือกตัวเองหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้
นั่นเท่ากับว่า รอบไขว้ในระดับประเทศ ที่เป็นรอบสุดท้าย ผู้สมัครแต่ละคนจะมีคะแนนในมือ 20 คะแนน ที่ให้ไปลงคะแนนเลือกคนในกลุ่มอื่นอีก 4 กลุ่มๆ ละไม่เกิน 5 คน ที่อยู่ในสายเดียวกัน
และเมื่อเลือกเสร็จแล้ว ให้มีการนับคะแนนโดยเปิดเผย เพื่อหาผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 10 คนแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสว.และผู้ที่มีคะแนนในลำดับที่ 11-15 อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่ม
แต่การประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกและผู้อยู่ในบัญชีสำรอง ให้รอผ่าน 5 วันไปก่อน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว เมื่อเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม จึงให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา
มาถึงตรงนี้ เลยถึงบางอ้อว่าทำไม กกต.กำหนดไทม์ไลน์การเลือกสว.เอาไว้ ให้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกในวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่หกนับจากการเลือกระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายน
นี่คือกระบวนการ ‘หาตัวมนุษย์ทองคำ’ 200 คน ในระดับประเทศที่จะเข้ามาทำหน้าที่ สว.ภายใต้รัฐธรรมนูญปี2560 ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ซึ่งกว่าจะฝ่าแต่ละด่านมาเป็นตัวจริง 200 คน กับตัวสำรองอีก 100 คนได้
ดูเหมือนจะง่าย แต่คงไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิดไว้