ซอฟต์พาวเวอร์ไทย นโยบายตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

26 เมษายน 2567 - 11:17

Thai-Soft Power-SPACEBAR-Hero.jpg
  • รัฐบาลเทงบทำนโยบายส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย

  • แผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดยังไม่ชัดเจน

  • หากต้องการบรรลุเป้าหมาย 4 ปี

อีกหนึ่งในโครงการ ‘เรือธง’ ของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำโดย นายกฯเศรษฐา เอฟวัน คือ นโยบาย One Family One Soft Power (OFOS) เพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้ดังไกลไปทั่วโลก

โดยพรรคเพื่อไทยขายฝันว่าจะเฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัว ๆ ละ 1 คน เพื่อนำมา UpSkill-ReSkill ผ่าน ‘ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์’ ให้มีทักษะในซอฟต์พาวเวอร์ 10 ด้าน เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูงถึง 20 ล้านคน โดยคนเหล่านี้จะมีงานทำ สามารถสร้างรายได้อย่างน้อยครอบครัวละ 2 แสนบาทต่อปี 

แคมเปญนี้ต้องจัดให้เป็น อีกสุดยอดแนวคิดแบบ ‘โคตรใหม่’  ตามรูปแบบ ‘โทนี่สไตล์’ อดีตนายกฯทักษิณ ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า ที่ต้อง ‘คิดใหม่ทำใหญ่’  จึงไม่น่าแปลกใจที่ นายกฯเศรษฐาจะมอบภารกิจนี้ให้กับ ‘อุ๊งอิ๊ง’  แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นคนถือธงนำในฐานะแม่ทัพ หวังให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง และกลายเป็นเครดิตเพื่อปูทางสู่ตำแหน่ง นายกฯหญิงคนที่สอง ตามแรงปรารถนาของ ‘โทนี่’  ผู้เป็นพ่อ โดยแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ 

ผลงานแรกที่ผ่านพ้นไปแล้ว คือ การจัดงานใหญ่ ‘มหาสงกรานต์เฟสติวัล’  ที่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง ถึงแม้เจ้าตัวจะขอ ‘วาร์ป’  ไปทำภารกิจคุณแม่ในช่วงเทศกาล แต่สำหรับภารกิจสำคัญคือเรื่องของ OFOS หนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ ยังทำท่าจะไปได้ไม่ถึงไหน เมื่อดูจากเป้าหมายภายใน 4 ปีข้างหน้า ที่ต้องการสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ถึงแม้จะเริ่มมีการขยับไปบ้าง แต่ก็ยังดู ‘เคว้งคว้าง’ ยังไงชอบกล

ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติครั้งล่าสุด ที่มีนายกฯเศรษฐาเป็นประธาน มีการนำเสนอแผนในการเฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัวๆละ 1 คน เพื่อนำมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพด้านซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 10 ด้านผ่าน ‘ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์’  โดยจะเริ่ม Kick Off เปิดลงทะเบียนพร้อมกันทั้ง 10 อุตสาหกรรม ต้นเดือนมิถุนายนนี้ 

อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านั้นโดยระบุว่า  จะเริ่มมีการอบรม UpSkill-ReSkill โดยจะเริ่มลงทะเบียนฟรี พร้อมกันทุกหลักสูตร 10 อุตสาหกรรม มีเป้าหมายไว้ 296,610 คน ผ่าน 2 ช่องทาง คือ ช่องทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ 266,400 คน และช่องทางออนไซด์ ผ่านกองทุนหมู่บ้าน 30,210 คน

ในส่วนของการอบรมแบบออนไซด์ ที่ศูนย์บ่มเพาะฯ แยกเป็น 
1. ด้านอาหาร 10,000 คน
2. ด้านภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ 2,300 คน 
3. ด้านดนตรี 500 คน 
4. ด้านกีฬา 6,170 คน 
5. ด้านแฟชั่น 4,000 คน 
6. ด้านเฟสติวัล 750 คน 
7. ด้านหนังสือ 1,000 คน
8. ด้านเกม 740 คน 
9. ด้านท่องเที่ยว 2,550 คน
10. ด้านศิลปะ 2,200 คน

มีการยกตัวอุตสาหกรรมอาหาร โดยมี  ‘1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย’  ซึ่งมี ‘เชฟชุมพล แจ้งไพร’ ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหารเป็น ‘แม่งาน’ โดยจะมีหลักสูตรต่าง ๆ ด้านอาหาร ใช้ระยะเวลาในการเรียน 240 ชั่วโมง ผ่านรูปแบบการสอนแบบไฮบริด ทั้งออนไลน์และปฏิบัติในพื้นที่ โดยหวังว่าเมื่อจบหลักสูตรแล้วจะมีผู้ผ่านการอบรมไม่น้อยกว่า 80% และสร้างแรงงานทักษะฝีมือด้านการประกอบอาหารไม่น้อยกว่า 10,000 คน ผู้เข้าอบรมมีงานทำไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

ฟังดูแล้วก็ยังมีคำถามตามมาอีกมากมายว่า การฝึกอบรมดังกล่าวจะเกิดผลในทางปฎิบัติได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้ได้มากน้อยแค่ไหน และแต่ละอุตสาหกรรมจะสามารถผลิต มนุษย์พันธุ์ใหม่เหล่านี้ออกมาได้เท่าไรกันแน่ เพราะดูเหมือนแต่ละอุตสาหกรรมมีความพร้อมไม่เท่ากัน

ความพร้อมของแต่ละอุตสาหกรรมนั้นดูเหมือนจะมาจากศักยภาพของอนุกรรมการฯที่แต่งตั้งขึ้นมาของแต่ละกลุ่มที่มีความสามารถ และกระตือรือร้นไม่เท่ากัน ที่สำคัญแต่ละคนล้วนเป็นคน ‘มีของ’ ตามประสาคนในสายงานประเภทนี้ ทำให้แผนงานของอนุกรรมการฯแต่ละชุดยังไม่มีจุดร่วมที่ไปในทิศทางเดียวกัน ต่างคนต่างเสนอไปตามที่ตัวเองคิดฝัน 

เพราะเหตุนี้แผนงานและงบประมาณที่แต่ละอุตสาหกรรมเสนอมาจำนวน 5,164 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าโครงการ 54 รายการ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ละอุตสาหกรรม จึงมีความแตกต่างกันอย่างมาก 

ตัวเลขงบประมาณของแต่ละกลุ่มประกอบด้วย
สาขาอุตสาหกรรมเฟสติวัล 1,009 ล้านบาท
สาขาท่องเที่ยว 711 ล้านบาท 
สาขาอาหารดำเนินโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย 1,000 ล้านบาท 
สาขาศิลปะมี 5 โครงการ 380 ล้านบาท 
สาขาออกแบบ ทำโครงการ 310 ล้านบาท 
สาขากีฬา เน้นเรื่องมวยไทย 500 ล้านบาท 
สาขาดนตรี เน้นหลักสูตรพัฒนาเครื่องดนตรี 144 ล้านบาท 
สาขาหนังสือ เน้นส่งเสริมออกงานหนังสือนานาชาติ 69 ล้านบาท
สาขาภาพยนตร์ ละคร ซีรี่ย์ 545 ล้านบาท 
สาขาแฟชั่น 268 ล้านบาท 
สาขาเกม 374 ล้านบาท

เห็นได้ชัดว่าแต่ละอุตสาหกรรมต่างมีแนวคิดในการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ในมุมมองที่แตกต่างๆกัน และเมื่อมีการนำเสนอเข้าไปในคณะกรรมการชุดใหญ่ ต่างฝ่ายต่างก็ไม่อยากคัดค้านแนวคิดหรือแผนงานของคนอื่น ทำให้เกิดคำถามว่าจะมีความเป็นไปได้หรือที่ฝันในการสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่จำนวนถึง 20 ล้านคน จะเกิดได้จริงภายใน 4 ปี หรือสุดท้ายจะเป็นเพียงอีก มหกรรม ‘ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ’ ที่มีเพียงคนที่ได้งานฝึกอบรมกลายเป็นคนที่รับส้มหล่นไปมากที่สุด

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์