แก้รัฐธรรมนูญ ทำไมต้องประชามติ 3 ครั้ง

26 เมษายน 2567 - 09:04

deep-space-1-SPACEBAR-Hero.jpg
  • การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงถกเถียงกันต่อในหลายเรื่อง

  • จำนวนครั้งในการทำประชามติ ทำ 2 หรือ 3 ครั้ง

  • รอลุ้นกันว่า อายุของรัฐบาลจะทันเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

แม้คณะรัฐมนตรี(ครม.) จะไฟเขียวให้จัดทำประชามติเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามผลศึกษาของคณะทำงานชุดที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธานไปแล้ว และอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รับไปดำเนินการ

แต่ยังมีคำถามตามมาเรื่องการทำประชามติ ต้องทำกี่ครั้งกันแน่ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง โดยยกเอาคำถามที่ให้ถามว่า 

‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์’

มาตั้งเป็นปุจฉาร้อนขึ้นอีกครั้งว่า

ในเมื่อไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เท่ากับไม่ได้เป็นการยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ดังนั้น สามารถใช้ช่องทางการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ได้เลย ไม่จำเป็นต้องไปถามประชาชนผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่4/2564 

สรุปคือ อยากให้ทำประชามติแค่ 2 ครั้งพอ ไม่ต้องสิ้นเปลืองทำถึง 3 ครั้ง

เพื่อไม่ให้มีการดึงเรื่องนี้ถอยหลังกลับไปสร้างวิวาทะขึ้นในสังคมอีก ‘นิกร จำนง’  อดีตประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น และเป็นหนึ่งในคณะทำงานศึกษาชุดที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น ได้ยกเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 15 มีนาคม 2564 ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำประชามติมาให้ดูกันเต็มๆ ความว่า

‘การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ใขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้วต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงนำประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป อันเป็นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง’

ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เฉพาะท่อนที่เป็นหัวใจสำคัญมาให้อ่านกันทั้งดุ้น เพื่อให้เห็นประเด็นสำคัญในหนึ่งบรรทัดเศษๆ ที่ว่า 

‘การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560’

นั่นย่อมหมายถึงว่า แม้จะไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 แต่เมื่อให้มี ‘หมวด 15/1’ ขึ้นมา ซึ่งมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ ณ เวลานั้น

นอกจากนั้นนิกรยังชี้ประเด็นเพิ่มเติมอีกว่า หากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั่วไป เมื่อแก้ไขเสร็จและประกาศใช้แล้ว จะยังคงเรียกเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดิม แต่เพิ่มเติมข้อความว่า ‘ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ...’

ส่วนหากเป็นการจัดทำขึ้นใหม่ ยกตัวอย่างฉบับที่กำลังจะยกร่างขึ้น เมื่อจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ของประเทศไทย ปี พ.ศ....ซึ่งไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอีกต่อไป

ดูแล้วน่าจะพอ ‘วิสัชชนา’ ให้เป็นที่สิ้นสงสัยได้ว่า แม้ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ก็ถือเป็นการยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เพราะฉบับเดิมได้ถูกยกเลิกและสิ้นสุดลงไปด้วย

สาธุชนฟังดูแล้วก็ไปใคร่ครวญกันดู

ส่วนกระบวนการดำเนินการเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องผ่านด่านสำคัญอีกหลายด่าน จะผ่านไปได้ตลอดหรือตกม้าตายที่ตรงไหน คงต้องไปลุ้นกันเอาเองว่าจะเสร็จทันอายุรัฐบาลชุดนี้ตามที่รับปากไว้หรือไม่

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์