เหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมง ก็จะมีคำตอบให้กับพรรคก้าวไกลแล้วว่า จะรอดหรือไม่รอดจากคดียุบพรรค ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำตัดสินในวันพุธที่ 7 สิงหาคมนี้ เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป
วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ จะยังสวมหมวกผู้นำฝ่ายค้านฯ ไปถามกระทู้สดในสภาตามที่ประกาศไว้ได้หรือไม่ รวมทั้ง จะมีงูเห่า หนอน หรือผึ้งแตกรัง เกิดขึ้นหรือเปล่า
ทุกอย่างจะมีคำตอบออกมาในช่วงบ่ายแก่ๆ วันพรุ่งนี้
ฟังจากสุ้มเสียงรอบทิศ ทั้งชอบ ไม่ชอบ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ไม่รอด’ ยิ่งย้อนไปฟังการแถลงปิดคดีนอกศาลในวันศุกร์ที่ผ่านมาของพรรคก้าวไกล ที่ยังเน้นเรื่อง 9 ข้อต่อสู้ แยกเป็น 2 ข้อกฎหมาย 3 ข้อเท็จจริง และ 4 สัดส่วนโทษ
ที่เอาเทปม้วนเก่าเมื่อหลายเดือนก่อนมาเปิดวนซ้ำอีกรอบ
โดยทั้ง 9 ข้อต่อสู้ที่ว่านั้น เป็นการสู้แบบ ‘สู้ไป-สารภาพไป’ เพราะด้านหนึ่งมั่นใจเรื่องข้อกฎหมาย 2 ข้อแรก ที่เห็นว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาคดีนี้ และกระบวนการยื่นคำร้องของกกต.ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับไปสารภาพในประเด็นข้อเท็จจริงและการลงโทษที่อยู่ในข้อที่เหลือว่า
การกระทำตามคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 (คดีมาตรา 112) ‘ไม่ได้เป็นมติพรรค’ ส่วนการลงโทษ จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ‘ต้องได้สัดส่วนกับความผิด’ (ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิการเมือง 10 ปี) และการพิจารณาโทษ ต้องสอดคล้องกับชุดกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา
เสมือนเป็นการสารภาพเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา
แต่ดูๆ ไปแล้ว ประเด็นสัดส่วนการลงโทษ ตั้งแต่ข้อที่ 6-8 นั้น น่าจะเอาไปใส่ไว้ในรายงานผลการศึกษาเรื่องการยุบพรรค ที่คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ชุดที่มี ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ เป็นประธาน นำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปในวันก่อนมากกว่า เพราะการนำมาไว้ตรงนี้ นอกจากจะผิดที่ผิดทางแล้ว ยังทำให้ข้อต่อสู้ขาดน้ำหนักไปด้วย
จึงเป็นเหตุให้ใครต่อใครมองชะตากรรมพรรคก้าวไกลไปในทางเดียวกันหมด ไม่มีเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปไหน ยังไงเสียงานนี้ ‘ไม่มีทางรอด’ แน่ๆ
แม้แต่คนในพรรคก้าวไกลเอง สส.บางคนยัง ‘ยอมรับ’ กลางสภาในสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยซ้ำว่า อาจเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้าย เพราะหากพรรคถูกยุบ ตัวเองที่เป็นกรรมการบริหารพรรค ก็ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปด้วย
หรือการเตรียมพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลเอาไว้รองรับ รวมทั้ง การเห็นพ้องร่วมกันของคนในพรรคที่ให้ ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ก็เป็นสัญญาณที่มากกว่าเตรียมเพื่อเผื่อๆ เอาไว้
ในวันพุธที่ 7 สิงหาคมนี้ หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ ทุกอย่างที่อยู่ในชื่อของพรรคก็สิ้นสภาพตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรค บัญชีรายชื่อผู้สมัครสส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือบัญชีนายกรัฐมนตรี ยกเว้นผู้ที่เป็นสส.อยู่ให้ไปหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน
เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนี้ ตลอดอายุของสภาชุดนี้ สส.พรรคก้าวไกล ที่ย้ายไปอยู่พรรคใหม่ ไม่ว่าจะไปกันครบหรือไม่ครบก็ตาม พรรคใหม่ที่ไปสังกัดอยู่จะไม่เหลือบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ให้เลื่อนมาแทนใครได้อีก กรณีที่สส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคว่างลง หรือการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต่อสภา หากมีเหตุต้องเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่ก็ไม่สามารถเสนอคนของตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีต่อสภาได้เช่นกัน
เหลือเฉพาะเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านฯ ตำแหน่งเดียว ที่ยังพอได้ ‘ลุ้น’ อยู่ หากสามารถรักษาความเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงมากที่สุดเอาไว้ได้ ซึ่งไม่น่ามีปัญหา เพราะพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านด้วยกัน ‘แต่งตัวรอ’ เข้าร่วมรัฐบาลอยู่นานแล้ว
นี่คือ ‘ชะตากรรม’ พรรคก้าวไกล ที่แม้ในคำแถลงปิดคดีจะมีอะไรใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอยู่บ้าง เช่น การยกงานวิจัยบางชิ้นเกี่ยวกับความผิดมาตรา 112 ที่มี ‘ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต’ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นที่ปรึกษา ซึ่งมีหลักการเดียวกันกับร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเสนอ
หรือในถ้อยแถลงของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ชี้ประเด็นเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ต้องสร้างสมดุลให้ได้สัดส่วนเหมาะสมตามยุคสมัย เพื่อให้ระบอบนี้มั่นคงยั่งยืน ด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน
และมีอีกหลายประเด็น ที่พิธาชี้ให้เห็นถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่าง ‘ล้นเกิน’ เพื่ออำพรางการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอย่างฉ้อฉลของคนบางกลุ่ม และแนะให้เลิกใช้อำนาจกดบังคับประชาชน หันมาโอบรัดความคิดเห็นที่ดำรงอยู่หลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพแทน
ประเด็นที่ว่าข้างต้นจากสองแกนนำพรรคก้าวไกล ย่อมมีเหตุผลที่น่ารับฟังอยู่บ้าง แต่ในเมื่อคดียุบพรรคก้าวไกล ไม่ได้มีเฉพาะมิติทางกฎหมายอย่างเดียว แต่มีมิติอื่นๆ รวมอยู่ด้วย ดังนั้น โอกาสรอดจากการยุบพรรคหนนี้ คงจะอิงหลักกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้
พรรคก้าวไกล จึงต้องพึ่งปาฏิหาริย์เท่านั้นถึงจะรอด!!