แผนพิฆาต ‘พิรงรอง’ เปิดทางหมอไห่ ‘เบิ้ลโหวต’

13 ก.พ. 2568 - 01:30

  • วันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ไม่มีดอกกุหลาบที่ กสทช.

  • จับตาการประชุมบอร์ด กสทช. มี หรือ ไม่มี ‘พิรงรอง’

  • มติที่ประชุมแบบ ‘ดับเบิ้ล โหวต’ จะเกิดขึ้นกี่ครั้งหลังจากนี้

deep-space-nbtc-pirongrong-doctor-sarana-double-vote-SPACEBAR-Hero.jpg

จับตาประชุมบอร์ด กสทช.วันวาเลนไทน์ บีบ ‘พิรงรอง’ พ้น กสทช.หรือไม่ หลังศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ถ้า ‘พิรงรอง’ ต้องออกไป กสทช. เหลือ 6 คน เปิดทางให้ ‘หมอไห่ ดับเบิ้ลโหวต’ ในกรณีเสียงเท่ากัน เหมือนที่เคยใช้มาแล้วกับ เคสทรูควบรวมดีแทค เตรียมรับการประมูลคลื่นมือถือรอบใหม่ ที่แว่วว่ามีบางค่ายขอกดราคาขั้นต่ำลง 30% ยึดเวลาผ่อนชำระนานขึ้น

ถึงแม้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ‘ดร.พิรงรอง รามสูต’ กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ จะแพ้คดีที่ ‘บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด’  เป็นโจทก์ฟ้องถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

แต่การได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ทำให้พิรงรองยังทำหน้าที่ กสทช. ต่อไปได้ เพราะยังไม่ได้ถูกจำคุกซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติต้องห้ามของกรรมการ กสทช.

คู่กรณีของเธอ จึงได้แค่ชัยชนะในศาลชั้นต้น แต่ยังไม่สามารถ ‘กำจัด’ พิรงรองให้พ้นจาก กสทช.ได้

ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ต้องการให้พิรงรองออกไปตั้งแต่ตอน ‘ฟ้องร้อง’ พิรงรองต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อเดือนเมษายน 2566 แล้ว โดยยื่นคำร้องให้ศาลสั่งให้พิรงรอง ‘ยุติการปฏิบัติหน้าที่’ กรรมการ กสทช.และประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

ทรูฯ อ้างเกรงว่าพิรงรองจะเป็นปฏิปักษ์ กลั่นแกล้งทรู เพราะเป็นคู่ความกัน

ในคำร้องดังกล่าว ทรู ฯ ได้ยกกรณีพิรงรอง ‘คัดค้านการควบรวมทรูกับดีแทค’ ว่า เป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงความมีอคติและความไม่เป็นกลางต่อทรู รวมทั้งการที่พิรงรองเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกับกลุ่มบุคคลที่มี ‘ทัศนคติในเชิงลบ’ ต่อทรู ฯ

อย่างไรก็ตาม ศาลยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่า ไม่ปรากฏว่าพิรงรองมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับทรูฯ

ทรูฯ ไม่ยอมหยุดเดินหน้าไปฟ้อง กสทช.ต่อให้พิรงรองหยุดปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ของกสทช.มีมติเอกฉันท์ ‘ไม่รับคำคัดค้าน’ แต่ทรูฯแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของตัวใน กสทช. ด้วยการผลักดันให้บอร์ดกสทช. เอาเรื่องที่ถูกคณะอนุกรรมการตีตกไปแล้ว เข้าที่ประชุมบอร์ดในวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 โดยเป็นการประชุมลับ

บอร์ดกสทช.ลงมติด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 3 ให้ พิรงรองปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ต่อไป

ดังนั้นเมื่อพิรงรองยังอยู่เพราะได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ การให้พิรงรองต้องออกไป จึงยังเป็นเป้าหมายที่ต้องเดินหน้าต่อไป

การประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 14 กุมภาพันธ์แม้จะเป็น ‘วันแห่งความรัก’ แต่ก็อาจเป็นเวทีพิฆาตพิรงรอง ถ้าบอร์ด กสทช.ในฝั่งประธาน  ‘ศ.คลินิค นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ หรือหมอไห่ หรือแม้แต่สำนักงานเลขาธิการ กสทช.จะเสนอให้ บอร์ด กสทช.พิจารณาให้ พิรงรองหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะมีผู้ร้องขอมา

การกำจัดพิรงรองออกไปจาก กสทช.จะทำให้ ‘ดุลกำลัง’ ในบอร์ด กสทช. 7 คน เปลี่ยนไปทันที  จากปัจจุบันที่ กสทช.สายนักวิชาการและสายผู้ชำนาญการ 4 คนเป็นเสียงข้างมาก มากกว่าสายของ หมอไห่หรือ ‘สายบ้านป่ารอยต่อ’ 3 คน ลงคะแนนในวาระสำคัญๆ สายป่ารอยต่อแพ้ทุกที 

ถ้าทำให้ กสทช.เหลือ 6 คนเท่ากัน 3 ต่อ 3 เปิดทางให้หมอไห่ ใช้สิทธิในฐานะประธาน ลงคะแนนรอบ 2 ชี้ขาดได้

กสทช. สายวิชาการและสายผู้ชำนาญการประกอบด้วย

กสทช.ด้านโทรทัศน์ พิรงรอง  รามสูต

กสทช.ด้านโทรคมนาคม รศ. ดร. สมภพ ภูวิริกัยพงศ์

กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์  รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย

กสทช.ด้านวิทยุกระจายเสียง พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

กสทช.สายป่ารอยต่อ 3 คนคือ

กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค นพ.สรณ  บุญใบชัยพฤกษ์

กสทช.ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน ต่อพงศ์ เสลานนท์

กสทช.ด้านกฎหมายพล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร

ก่อนเดือนตุลาคม 2565 มี กสทช.แค่ 5 คนจาก 7 คน  แต่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว

วันที่ 20 ตุลาคม 2565 มีการประชุมเรื่องทรูควบรวมดีแทค ในประเด็นว่า กสทช.มีอำนาจให้ความเห็นชอบหรือแค่รับทราบรายงานการควบรวมที่สำนักงาน กสทช.เสนอเท่านั้น 

กสทช.พิรงรองและศุภัช เห็นว่า  “การควบรวมเข้าเกณฑ์ผูกขาด กสทช.ต้องให้ความเห็นชอบด้วย”

ประธาน นพ.สรณ และ กสทช.ต่อพงษ์ เห็นว่า “ไม่ผูกขาด  กสทช.แค่รับทราบรายงาน ไม่มีอำนาจอนุมัติหรือไม่เห็นชอบ”

กสทช.พล.อ.ท ธนพันธุ์ ‘งดออกเสียง’ ทำให้คะแนนเสียงเท่ากัน 2 ต่อ 2

‘หมอไห่’จึงใช้สิทธิประธานดับเบิ้ลโหวต ลงคะแนนเสียงรอบที่ 2 คนเดียว ออกมาเป็นมติเสียงข้างมากว่าการควบรวมทรู ดีแทค ไม่ใช่การผูกขาด กสทช.แค่รับทราบ ไม่มีอำนาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

กสทช.มีครบ 7 คน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 การประชุมหลายๆครั้ง กสทช.สายนักวิชาการ และผู้ชำนาญการ 4 คน ลงมติเหมือนกัน เป็นเสียงข้างมาก ชนะเสียง กสทช.สายป่ารอยต่อที่มีแค่ 3 เสียง 

ตัวอย่างเช่น การลงมติเรื่อง ‘โครงการเทเลเฮลท์’ มูลค่า 3,600 ล้านบาท ที่หมอไห่ผลักดัน กสทช.สายวิชาการ 4 คนไม่เห็นชอบ เพราะซ้ำซ้อนกับโครงการของกระทรวงสาธารณสุขและเป็นการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ไอที มากกว่าการลงทุนด้านโทรคมนาคม ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส.

การเสนอชื่อ ‘ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล’ รองเลขาธิการสำนักงาน กสทช. เป็นเลขาธิการ กสทช. ซึ่ง กสทช.สายวิชาการทั้ง 4 คนไม่เห็นชอบ เพราะเห็นว่า หมอไห่ผู้เสนอชื่อ ‘ทำผิดระเบียบ’ คือรวบอำนาจการคัดเลือก เสนอชื่อไว้คนเดียว ไม่ยอมให้ กสทช.คนอื่นมีส่วนร่วมในการสรรหาเลขาธิการคนใหม่ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องการใช้เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือ กทปส.ที่มีเงินหลายหมื่นล้าน เป็นขุมทรัพย์ที่ใครๆก็อยากเข้ามาแสวงหาประโยชน์ที่ต้องผ่านด่าน กสทช.ก่อน ซึ่งที่ผ่านมามีหลายๆโครงการที่ถูกบอร์ด กสทช.เสียงข้างมาก 4 คนตีตกไป เพราะโครงการไม่ชัดเจนบ้าง หรือเป็นโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์

ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ กสทช.จะนำคลื่นความถี่อออกประมูล รวมทั้งคลื่น 2300 MHZ  ซึ่งมีข่าวว่าค่ายมือถือที่ต้องการคลื่นนี้ กำลังวิ่งเต้นกดราคาขั้นต่ำลงมาถึง 30% เพื่อลดต้นทุน รวมทั้งขอต่อรองยืดเวลาผ่อนชำระให้ยาวขึ้น ลดมูลค่าแบงก์การันตีลงเท่าตัว เป็นต้น

บอร์ด กสทช.คือผู้ตัดสินว่า จะให้ตามที่ค่ายมือถือนี้ต้องการหรือไม่ ถ้าบอร์ดยังมี 7 คน คงยาก เพราะเสียงมากกว่าอยู่แล้ว ถ้าทำให้บอร์ดเหลือ 6 คน คะแนนเสียงเท่า 3 ต่อ 3 ทำให้ ‘หมอไห่อ้างสิทธิประธานขอดับเบิ้ลโหวต’ เหมือนกรณีทรู ควบรวมดีแทค  เป็นทางออกที่ดีที่สุด

เพราะฉะนั้น จึงต้อง ‘กำจัดพิรงรอง’ ให้พ้นไปจาก กสทช.โดยอ้างคำพิพากษา

การประชุมบอร์ด กสทช.วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ จึงต้องจับตาดูว่า สำนักงาน กสทช.จะเสนอวาระให้ พิรงรองหยุดการปฏิบัติหน้าที่กสทช.หรือไม่ สื่อประจำ กสทช. หลายรายได้รับข้อมูลว่าจะมีวาระนี้  แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ สนง กสทช.แจ้งกับสื่อว่าไม่มีเรื่องนี้เข้าที่ประชุม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์