วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน เป็นวันเลือก สมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัด
จากผู้สมัครที่ผ่านรอบแรกระดับอำเภอทั่วประเทศเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน จำนวน 23,645 คน ในกลุ่มอาชีพ 20 สาขา รอบวันอาทิตย์นี้ จะถูกเลือกให้เหลือกลุ่มอาชีพละ 2 คน ต่อจังหวัด รวมทั้งสิ้น 3,080 คน จาก 77 จังหวัด เป็นผู้ชนะระดับจังหวัด ผ่านเข้าไปตัดเชือกรอบสุดท้าย ระดับประเทศ เลือก สว. กลุ่มอาชีพละ 10 คน รวมเป็น 200 คน อีก 100 คนเป็น ตัวสำรอง ในวันที่ 23 มิถุนายน
‘การจัดตั้ง’ หรือ ‘การฮั้ว’ ที่มีคนบอกว่า ทำได้ยาก เป็นไปไม่ได้ เพราะมีผู้สมัครถึง 48,117 กว่าคน ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ในรอบจังหวัดนี้ไม่ยากแล้ว เพราะเสียงที่ต้องจัดหาจัดตั้ง ให้ไปลงคะแนนเลือกคนที่กลุ่มการเมือง กลุ่มทุน เครือข่ายองค์กรธุรกิจระดับชาติวางตัวไว้ ‘ลดลงไปครึ่งหนึ่ง’ แต่ละจังหวัดเริ่มชัดเจนขึ้น รู้ว่าใครเป็นใคร เข้าถึงตัวได้ง่ายกว่าระดับอำเภอเยอะ
การจัดตั้งมีตั้งแต่ระดับอำเภอแล้ว เป็นการจัดตั้งในรูปแบบ เดินสาย รณรงค์ระดมคนของตัวเอง ไปสมัครให้มากที่สุดในแต่ละกลุ่มอาชีพ แบบที่ ‘คณะก้าวหน้า’ และ ‘ไอลอว์’ ทำ เมื่อถึงวันเลือกตั้งก็ ‘ฮั้ว’ กันไปลงคะแนนทั้งในกลุ่ม และไขว้สายให้กับผู้สมัคร ‘ตัวจริง’
จึงปรากกฎว่า มีผู้สมัครที่ ‘ไม่มีคะแนน’ เลยแม้แต่คะแนนเดียวเป็นจำนวนมาก คือไม่ลงคะแนนเลือกตัวเอง แต่ไปลงคะแนนให้ผู้สมัคร ‘ตัวจริง’ ที่ถูกวางตัวให้ทะลุผ่านรอบจังหวัด และรอบประเทศเข้าไปเป็น 1 ใน 200 สว.
เสียเงิน 2,500 บาท ลงสมัคร สว. ถึงเวลาเลือก ไม่เลือกตัวเอง ไปลงคะแนนให้คนอื่น ก็เพราะเป็นผู้สมัครที่ถูกจัดตั้งมาเพื่อไปฮั้วลงคะแนนให้ ตัวจริงที่กลุ่มการเมืองที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง วางตัวเอาไว้ ให้เข้าไปเป็น สว. เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
แต่การจัดตั้งในระดับจังหวัด ‘ล็อคเป้า’ ได้แล้วว่า จะไปหาคะแนนได้จากใครบ้าง เพราะผู้สมัครระดับจังหวัดมีจำนวนน้อยลง
ยกตัวอย่าง กทม. มีผู้ผ่านระดับเขตทั้ง 50 เขต จำนวน 1,634 คน วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ จะเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพเดียวกัน และเลือกไขว้ ให้เหลือ 40 คน เป็นตัวแทน กทม. ไปเลือก สว. ระดับประเทศ
‘ล็อคเป้า’ ได้สักครึ่งหนึ่งก็พอแล้วที่จะเข็นให้ ‘ตัวจริง’ ทะลุสู่ระดับประเทศ แล้วไปจัดตั้งในรอบสุดท้ายเพื่อเข้าสู่วุฒิสภา
จึงเป็นที่มาของเสียงร่ำลือ 2 กระแส
กระแสหนึ่งคือ โมเดลการจัดตั้ง สว.ของ ‘กลุ่มทุนท้องถิ่น’ ในจังหวัดภาคใต้จังหวัดหนึ่งว่า ใช้เงินแค่ 10 ล้านบาท ก็จะได้ สว.ของจังหวัดอย่างน้อย 1 คน
อีกกระแสหนึ่ง คือการทุ่มเงินราวๆ 2,000 ล้านบาท ล็อคเป้า กวาดเสียง ผู้สมัคร ตั้งแต่ระดับจังหวัด ไปถึงระดับประเทศ ของ ‘กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ระดับชาติ’ ที่ต้องการต่อสายกับวุฒิสภาชุดใหม่ หลังจากสาย ‘บ้านในป่า’ หมดอายุไปแล้ว
บทบาทหน้าที่ของ สว. นอกจาก ‘กลั่นกรอง’ ร่างกฎหมาย ที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้ว ยังมีอำนาจร่วมกับสภาผู้แทนฯ ในการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว.อย่างน้อย 1 ใน 3 การเจรจากับต่างชาติที่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดน เป็นต้น
อำนาจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การให้ความเห็นชอบ บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งใน ‘องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ’ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, กรรมการ ปปช., กรรมการ กสทช., ประธานศาลปกครองสูงสุด, อัยการสูงสุด, กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ
บางตำแหน่งอย่าง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ปปช. การให้ความ ‘เห็นชอบ’ หรือ ‘ไม่เห็นชอบ’ คนที่กรรมการสรรหาเสนอมา อาจมีผลต่อดุลอำนาจทางการเมือง ตำแหน่งอัยการสูงสุด ซึ่งมีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในคดีใหญ่ๆ บางตำแหน่ง เช่น ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประมุของค์กรที่ตัดสินข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ‘ปัญหาข้อข้ดแย้งในสัญญาสัมปทาน’ การควบรวบกิจการ ซึ่งการตัดสินของศาลปกครอง จะกระทบกับส่วนได้เสีย ผลประโยชน์เป็นหมื่นๆล้านของคู่พิพาท ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกรรมการ กสทช. ซึ่งกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม โทรทัศน์ ที่มีมูลค่าธุรกิจหลายหมื่นล้าน
การลงทุนกับการเลือกตั้ง สว.เป็นการดูแลปกป้องผลประโยชน์หลายหมื่นล้านบาท เทียบกับเงินลงทุน ที่เชือดหมู เชือดไก่ไม่กี่ตัวก็ได้คืนแล้ว ต้องถือว่า ‘คุ้มค่า’